“ฟิทช์” ปรับแนวโน้มเครดิต KCE เป็น “มีเสถียรภาพ” สะท้อนผลงานแกร่ง-อุตฯ อิเล็กทรอนิกส์โต

“ฟิทช์” ปรับแนวโน้มเครดิต KCE เป็น “มีเสถียรภาพ” จากเดิม "ลบ" คงอันดับเตรดิต "A-(tha)" สะท้อนผลงานแกร่ง-อุตฯ อิเล็กทรอนิกส์โตในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า 


บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศปรับแนวโน้มอันดับเครดิตของ บริษัท เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ จำกัด (มหาชน) หรือ KCE เป็น “มีเสถียรภาพ” จากเป็น “ลบ” ในขณะเดียวกัน ฟิทช์ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว (National Long-Term Rating) ของบริษัทฯ ที่ A-(tha)

สำหรับการปรับแนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบสะท้อนถึงผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งของ KCE และอุตสาหกรรมแผ่นพิมพ์วงจรอิเล็กทรอนิกส์ที่มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า ฟิทช์เชื่อว่า KCE จะสามารถรักษาสถานะทางการตลาดในฐานะหนึ่งในผู้ผลิตแผ่นพิมพ์วงจรอิเล็กทรอนิกส์สำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์รายใหญ่ ซึ่งมีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง โดยอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (FFO Net Leverage) ของ KCE น่าจะยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่า 1.5 เท่าในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า แม้ว่าบริษัทฯ จะมีแผนขยายการลงทุนเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตในอนาคต

โดยปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต ดังนี้ 1. กำไรเพิ่มขึ้นจากความต้องการซื้อที่แข็งแกร่ง ฟิทช์คาดว่ารายได้และกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อม และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) จะเติบโตประมาณร้อยละ 15-20 ต่อปี ในปี 2564-2565 จากความต้องการซื้อแผ่นพิมพ์วงจรอิเล็กทรอนิกส์ที่แข็งแกร่ง การเติบโตของกำไรยังเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของการใช้กำลังการผลิตส่วนเพิ่มในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2564 เป็นต้นไป  ยอดขายแผ่นพิมพ์วงจรอิเล็กทรอนิกส์สำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์ซึ่งเป็นตลาดสำคัญของ KCE ได้เพิ่มกลับมาอยู่ในระดับสูงกว่าช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโคโรน่าไวรัสในไตรมาส 4 ปี 2563 และยังมีคำสั่งซื้อจำนวนมากสำหรับปี 2564 ฟิทช์คาดว่าความต้องการซื้อจะเติบโตดีต่อเนื่องในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า จากสัดส่วนการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในรถยนต์ที่น่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น รวมถึงส่วนแบ่งตลาดของรถยนต์ไฟฟ้าที่น่าจะเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต

  1. อัตราส่วนกำไรที่เพิ่มขึ้น ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วน EBITDA ต่อรายได้ (EBITDA Margin) ของ KCE จะเพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับร้อยละ 19-20 ในปี 2563-2564 จากการใช้กำลังการผลิตที่ดีขึ้นและการเพิ่มสัดส่วนการผลิตแผ่นพิมพ์วงจรสำหรับชิ้นส่วนยานยนต์ที่มีความซับซ้อน (HDI) ซึ่งมีอัตรากำไรที่ค่อนข้างสูง แม้ว่าราคาวัตถุดิบสำคัญมีแนวโน้มสูงขึ้นปี 2564 ความต้องการซื้อที่แข็งแกร่งและสินค้า แผ่นพิมพ์วงจรอิเล็กทรอนิกส์ที่ขาดตลาดน่าจะทำให้ผู้ผลิตมีความสามารถปรับเพิ่มราคาขายตามการเพิ่มขึ้นของราคาวัตถุดิบได้ ในปี 2563 KCE มี EBITDA Margin ที่ร้อยละ 18.3 (ปี 2562 อยู่ที่ร้อยละ 15.9) ซึ่งสูงกว่าที่ฟิทช์เคยคาดแม้ว่าจะเป็นปีที่มีการแพร่ระบาดของโคโรน่าไวรัส ซึ่งเป็นผลมาจากสัดส่วนการผลิตแผ่นพิมพ์วงจรที่มีความซับซ้อนเพิ่มขึ้นและความพยายามในการลดต้นทุนของบริษัทฯ ที่มีประสิทธิภาพ
  2. ความยืดหยุ่นทางการเงินสำหรับการขยายการลงทุน ฟิทช์มองว่าแผนการลงทุนที่สูงของ KCE มีความยืดหยุ่นและเปลี่ยนแปลงได้ในกรณีที่ความต้องการซื้อสินค้าอ่อนแอกว่าที่คาด KCE สามารถรักษาอัตราส่วนหนี้สินในระดับต่ำด้วย FFO Net Leverage เท่ากับศูนย์ ในปี 2563 ซึ่งจะทำให้บริษัทฯ สามารถรองรับแผนการลงทุนที่สูงในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า โดยไม่กระทบต่ออันดับเครดิต KCE มีแผนการลงทุนประมาณ 3 พันล้านบาท ในปี 2564-2565 สำหรับการเพิ่มกำลังการผลิตและการปรับปรุงเครื่องจักรเพื่อรองรับความต้องการซื้อในตลาดที่เติบโตสูง
  3. ผู้ผลิตแผ่นพิมพ์วงจรฯ รถยนต์รายใหญ่ อันดับเครดิตของ KCE สะท้อนถึงการเป็นผู้นำในธุรกิจผลิตแผ่นพิมพ์วงจรอิเล็กทรอนิกส์สำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์ ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีวงจรสินค้าที่ค่อนข้างยาว และต้องอาศัยความผูกพันกับลูกค้าในการได้มาซึ่งยอดขาย ทำให้เป็นธุรกิจที่มีความยากลำบากสำหรับคู่แข่งรายใหม่ในการเข้าสู่อุตสาหกรรม (High Barrier to Entry) เมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์สำหรับสินค้าบริโภคทั่วไป (Consumer Electronics) KCE เป็นหนึ่งในสิบผู้ผลิตแผ่นพิมพ์วงจรสำหรับยานยนต์รายใหญ่ของโลก โดยมีส่วนแบ่งด้านรายได้อยู่ที่ประมาณร้อยละ 5
  4. การกระจุกตัวของรายได้ที่ลดลง ความพยายามของ KCE ที่จะเพิ่มสัดส่วนสินค้า HDI ซึ่งรวมถึงสินค้ากลุ่มที่ไม่ใช่รถยนต์ จะช่วยลดการกระจุกตัวของรายได้อย่างค่อยเป็นค่อยไปในอนาคต โดยปัจจุบัน บริษัทฯ มีสัดส่วนรายได้จากการขายแผ่นพิมพ์วงจรจากลูกค้ารายใหญ่ 5 รายแรกที่ประมาณร้อยละ 50 ในปี 2563 ซึ่งลดลงจากประมาณร้อยละ 65 ในปี 2553
  5. อัตรากำไรที่มีความอ่อนไหวต่อค่าเงินบาท ธุรกิจของ KCE มีความเสี่ยงสูงจากอัตราแลกเปลี่ยนซึ่งส่งผลให้อัตรากำไรมีความผันผวนในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา โดยในฐานะที่เป็นบริษัทผู้ส่งออก รายได้และกำไรจะลดเมื่อเงินบาทแข็งค่าขึ้น เนื่องจากประมาณร้อยละ 80-90 ของรายได้ อยู่ในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ในขณะที่ร้อยละ 50-60 ของต้นทุนอยู่ในรูปเงินบาท ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้ป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน

 

Back to top button