พายเรือในอ่างพลวัต 2016

ตามปกติ คนที่จะออกมาแถลงข่าวตัวเลขการส่งออก- นำเข้า และดุลการค้าประจำเดือนของกระทรวงพาณิชย์ จะเป็นนายสมเกียรติ ตรีรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า จนกระทั่งคุ้นเคยหน้าตากัน แต่ในเดือนนี้ นายสมเกียรติหายหน้าไป แต่ปรากฏร่างของนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ มาแถลงแทน


วิษณุ โชลิตกุล

 

ตามปกติ คนที่จะออกมาแถลงข่าวตัวเลขการส่งออก- นำเข้า และดุลการค้าประจำเดือนของกระทรวงพาณิชย์ จะเป็นนายสมเกียรติ ตรีรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า จนกระทั่งคุ้นเคยหน้าตากัน แต่ในเดือนนี้ นายสมเกียรติหายหน้าไป แต่ปรากฏร่างของนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ มาแถลงแทน

เรื่องอย่างนี้ เข้าใจกันได้ ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะหลังจากที่ตัวเลขส่งออกของไทยในเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคมเป็นบวก 2 เดือนต่อเนื่องกัน โอกาสที่รัฐมนตรี ซึ่งเป็นตำแหน่งทางการเมืองจะออกมา “แย่งซีน” ข้าราชการประจำ ย่อมเกิดขึ้นได้ ไม่มีเลือกว่าจะเป็นรัฐมนตรีจากการเลือกตั้ง หรือแต่งตั้ง

บังเอิญ ข้อมูลที่จะแถลงและการแย่งซีน มันไม่ไปด้วยกัน เพราะนายสุวิทย์ที่หวังจะโชว์ตัวเลขประเภท “โลกสวย” กลับต้องมานั่งแถลงว่า ตัวเลขส่งออกเดือนเมษายนติดลบอีกครั้ง ซึ่งทำให้ภาพลักษณ์ที่หวังว่าจะเป็นบวก ต้องกลับมาติดลบตามปกติอีกครั้ง

การส่งออกของไทยในเดือนเมษายนมีมูลค่า 15,545 ล้านเหรียญสหรัฐ ติดลบ 8% เทียบระยะเดียวกันปีก่อน แต่หากหักรายการส่งออกเกี่ยวกับน้ำมันและทองคำไม่ขึ้นรูปจะติดลบ 6.2% ทำให้ช่วง 4 เดือนแรก การส่งออกมีมูลค่า 69,374 ล้านเหรียญสหรัฐ ลบ 1.24%

ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 14,823 ล้านเหรียญสหรัฐ ติดลบ 14.92% และในช่วง 4 เดือนแรกการนำเข้ามีมูลค่า 60,464 ล้านเหรียญสหรัฐ ติดลบ 12.73%

ตัวเลขนำเข้าที่ทรุดฮวบ ทำให้การเล่นเกมตัวเลขเพื่ออำพรางจุดด้อยดูดีขึ้นเล็กน้อย เพราะส่งผลให้ดุลการค้า 721 ล้านเหรียญสหรัฐ ในเดือนเมษายน และในช่วง 4 เดือนแรก ไทยได้เปรียบดุลการค้ารวม 8,910 ล้านเหรียญสหรัฐ

ข้อสังเกตจากตัวเลขส่งออกที่ติดลบเดือนเมษายนนี้ อยู่ที่ไม่ปรากฏตัวเลขการส่งกลับยุทธปัจจัยที่นำเข้ามาก่อนหน้าเพื่อการซ้อมรบร่วมของต่างชาติ (ซึ่งปกติหากไม่จนแต้มจริงๆ ไม่มีใครในโลกเขาเอามานับรวมกันด้วย) ปะปนอยู่ด้วย แต่ยังรวมเอาตัวเลขการส่งออกทองคำไม่ขึ้นรูปจากตลาดซื้อขายเก็งกำไรข้ามประเทศเข้ามารวมอยู่ด้วย

ตัวเลขจากการส่งออกทองคำไม่ขึ้นรูป (จากการส่งมอบในการเล่นเก็งกำไรในตลาดทองคำระหว่างประเทศ) และตัวเลขส่งกลับยุทธปัจจัยที่นำเข้ามาก่อนหน้าเพื่อการซ้อมรบร่วมของต่างชาติ ซึ่งเป็นตัวเลขจอมปลอม จึงสะท้อนถึงปัญหาความน่าเชื่อถือของหน่วยงานรัฐไทยที่พยายามสร้างประเด็น “โลกสวย” ที่บิดเบือนข้อเท็จจริงกันอีกครั้งหนึ่ง

ตัวเลขส่งออกและนำเข้าที่ติดลบ สะท้อนความอ่อนเปราะของเศรษฐกิจไทยอย่างมีนัยสำคัญชนิดปิดไม่มิด ถูกสำทับจากผู้ว่าการธนาคารแหงประเทศไทย นายวิรไท สันติประภพ ที่ว่า ตัวเลขการส่งออกของไทยในเดือนเม.ย.ที่  ติดลบ 8% ไม่ได้เหนือความคาดหมาย เพราะได้มีการประเมินไว้ก่อนหน้านี้แล้วว่าสถานการณ์ส่งออกปีนี้จะต้องเผชิญอุปสรรคหลายด้าน ซึ่งทั้งปีคาดว่าการส่งออกไทยจะติดลบ 2% (สวนทางกับเป้าเติบโตของกระทรวงพาณิชย์ที่คาดว่าจะโต 5% ภายใต้สมมติฐานว่าจะส่งออกได้ไม่ต่ำกว่าเดือนละ 19,000 ล้านเหรียญสหรัฐ) เพราะมีปัจจัยกดดันหลายตัว แต่อยากให้ความสำคัญกับเรื่องโครงสร้างการผลิตและโครงสร้างการส่งออกของไทยในระยะยาวมากกว่า

 ตัวเลขส่งออกที่ติดลบ แต่ตัวเลขจีดีพีที่เป็นบวก เป็นประเด็นที่น่าสนใจเพราะในอดีตนั้น มีเสียงวิพากษ์กันอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอดว่า โครงสร้างเศรษฐกิจไทยพึ่งการส่งออกมากเกินไป โดยที่จากการเปิดเผยของ นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการสภาพัฒน์ ที่ระบุว่า จีดีพีไตรมาสแรกขยายตัวร้อยละ 3.2 เพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 3 ปี โดยปัจจัยหลักมาจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค การลงทุนภาครัฐ และการเฟื่องฟูของการท่องเที่ยวที่กลายเป็นตัวชูโรงเพราะเพิ่มขึ้นถึง 21.7%  

ตัวเลขจีดีพีที่เพิ่มขึ้นโดยไม่ต้องอาศัยการส่งออกอีกต่อไปนี้ มีคำถามว่า เกิดจากอะไรกันแน่เพราะว่า เลขาธิการสภาพัฒน์กลับบอกว่า ในช่วงต่อไป รัฐบาลคงไม่จำเป็นต้องออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม แต่ควรเร่งการใช้จ่ายวงเงินที่เหลืออยู่ให้เกิดประโยชน์เพิ่มมากขึ้น เช่นเดียวกับอัตราแลกเปลี่ยนและอัตราดอกเบี้ย ที่ความจำเป็นต้องใช้มาตรการดังกล่าวน้อยลง

ข้อเสนอดังกล่าว ตรงกันข้ามกับนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ที่ออกมาระบุว่า การเติบโตที่ดีขึ้น เกิดจากการใช้จ่ายภาครัฐเป็นสำคัญโดยเฉพาะโครงการประชารัฐ ที่เน้นการสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจฐานราก ที่เริ่มถึงมือประชาชน รวมทั้ง การลงทุนภาครัฐด้านอื่น แต่ที่รัฐบาลให้ความสำคัญกว่าคือการปฏิรูปที่จะต้องมีความต่อเนื่อง เพื่อให้การเติบโตนั้นมีความยั่งยืน และกลับคืนสู่รายชื่อประเทศที่ต่างชาติให้ความเชื่อมั่นที่จะลงทุนในระดับสูงอีกครั้ง

วิสัยทัศน์ของทั้งข้าราชการและรัฐมนตรีดังกล่าว ยังถือว่าไม่ตรงประเด็นในการสร้างหัวจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เพราะดังที่ทราบกันดีว่าในฐานะประเทศที่อยู่ใน “กับดักชองชาติรายได้ปานกลาง” นั้น ไทยจำเป็นต้องเร่งปรับโครงสร้างใหม่ทางเศรษฐกิจคือ 1)เร่งลงทุนอย่างหนักในสาธารณูปโภคพื้นฐานเพื่อให้รองรับการลงทุนสู่ยุคใหม่ 2) สร้างภาคบริการที่มีฐานรากสำคัญคือบุคลากรที่มีคุณภาพสูงเพื่อสู่สังคมอุดมปัญญา 3) เร่งยกระดับรายได้ของประชาชนระดับรากหญ้าเพื่อให้เกิดการบริโภคในประเทศที่ทดแทนการหายไปของตัวเลขส่งออกอย่างมีนัยสำคัญ

เพื่อให้เป้าหมายทั้ง 3 ส่วนที่จะเข้ามาเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจแห่งอนาคตให้พ้นจากกับดักรายได้ชาติเป็นกลาง ไทยจำเป็นต้องสร้าง กลไกของตลาดเงินและตลาดทุนที่ทำให้ปัญหาหนี้สินของภาครัฐ ภาคธุรกิจเอกชน และภาคครัวเรือนลดลง เพื่อให้การออม การลงทุน และการบริโภคเกิดดุลยภาพในการเติบโตอย่างยืดหยุ่น

ภายใต้กลไกดังกล่าว การลดบทบาทของรัฐรวมศูนย์ลง เพื่อให้เกิดการกระจายอำนาจทางการปกครองเพื่อกระตุ้นการมีส่วนร่วมให้มากขึ้น เป็นเงื่อนไขที่สำคัญที่ขาดไม่ได้

การเอ่ยถึงโครงการประชารัฐของนายวิรไท นายสมคิด และการเอ่ยถึงกลไกปกติของเลขาธิการสภาพัฒน์  รวมทั้งการใช้อำนาจเผด็จการทหารของรัฐบาลปัจจุบัน ล้วนไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้องและตรงเป้าของข้อเรียกร้องเพื่อให้ไทยก้าวสู่อนาคตอย่างยั่งยืนแต่อย่างใด

พูดกันไปก็แค่สองไพเบี้ย และเป็นแค่ปฏิบัติการ “พายเรือในอ่าง”เท่านั้น 

Back to top button