อนาคตของคิวบาพลวัต2015

วันที่ 20 กรกฎาคมนี้ สหรัฐและคิวบาจะกลับมาเปิดสถานทูตระหว่างกัน ถือเป็นการกลับมามีสัมพันธ์ทางการทูตเต็มรูปอีกครั้ง ซึ่งทำให้มีคำถามใหญ่สุดคือ อนาคตของพรรคปฏิวัติที่ปกครองคิวบาเบ็ดเสร็จมานาน 56 ปี จะไปเช่นไร ยังเป็นสิ่งที่ท้าทายคำตอบอย่างยิ่ง


วันที่ 20 กรกฎาคมนี้ สหรัฐและคิวบาจะกลับมาเปิดสถานทูตระหว่างกัน ถือเป็นการกลับมามีสัมพันธ์ทางการทูตเต็มรูปอีกครั้ง ซึ่งทำให้มีคำถามใหญ่สุดคือ อนาคตของพรรคปฏิวัติที่ปกครองคิวบาเบ็ดเสร็จมานาน 56 ปี จะไปเช่นไร ยังเป็นสิ่งที่ท้าทายคำตอบอย่างยิ่ง

การรื้อฟื้นสัมพันธ์นี้ จะกินความรวมถึงการยกเลิกฐานะของคิวบาในฐานะ ”ผู้ร้าย” ในสายตาของสหรัฐ เช่น เป็นชาติที่เป็นศัตรู เป็นชาติที่สนับสนุนการก่อการร้าย เป็นชาติที่ประเทศในเขตอิทธิลพของสหรัฐอย่างละตินอเมริกันทั้งมวล ไม่ควรเป็นมิตรด้วย และ ฯลฯ  โดยปริยาย

การฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูตที่ขาดสะบั้นมานาน 54 ปี ในยุคที่สงครามเย็นถึงจุดสุดยอด ถือเป็นการบรรลุและเติมเต็มคำสัญญาระหว่างอดีตสองศัตรูยุคสงครามเย็นที่ให้ไว้เมื่อ 6 เดือนก่อนอย่างเป็นทางการ

ประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับคิวบามีมายาวนานทั้งผูกพันและขัดแย้ง เพราะที่ตั้งของคิวบาในทะเลแคริบเบียน ถือเป็นจุดสำคัญอย่างยิ่งทางยุทธศาสตร์

นับแต่คริสต์ศตวรรษที่ 16 เป็นต้นมา คิวบาเป็นส่วนหนึ่งในอาณานิคมของสเปน และเป็นจุดสำคัญบนเส้นทางการค้าระหว่างโลกใหม่กับยุโรปในมหาสมุทรแอตแลนติก โดยเมื่อเริ่มต้นตั้งประเทศสหรัฐ และมีการเปิดพื้นที่ทำเกษตรกรรมในภาคใต้ของสหรัฐเพื่อผลิตฝ้ายและยาสูบป้อนยุโรป คิวบาถือเป็นจุดพักสำคัญบนเส้นทางการค้าทาสจากแอฟริกาป้อนทวีปอเมริกาทั้งเหนือและใต้ และได้เปลี่ยนมาเป็นแหล่งผลิตน้ำตาลจากอ้อยรายใหญ่ของโลกมาจนถึงปัจจุบัน

เมื่อสหรัฐเติบใหญ่ขึ้น ความจำเป็นต้องเร่งสร้างอิทธิพลเหนือทวีปอเมริกาเหนือและใต้ ทำให้เข้ามามีบทบาทสนับสนุนทางตรงและอ้อมในการเรียกร้องเอกราชของคิวบา จนเป็นชนวนสำคัญให้เกิดสงครามสเปน-อเมริกา ค.ศ. 1897 ที่ผลของสงคราม ทำให้สหรัฐเริ่มต้นมีอาณานิคมเป็นครั้งแรก เหนือหลายดินแดนของสเปนที่หมดอำนาจลงไปหลังสงครามดังกล่าว เช่น ฟิลิปปินส์ในเอเชีย รวมทั้งหลายเกาะในแคริบเบียน แต่คิวบาได้รับเอกราช

เอกราชของคิวบา เป็นแค่นิตินัยเท่านั้น ในทางพฤตินัยแล้วประเทศนี้ ตกอยู่ใต้อิทธิพลทางเศรษฐกิจและการเมืองของสหรัฐเต็มรูป มีทั้งการเข้ามามีอิทธิลพเหนือรัฐทั้งทางตรงและทางอ้อม เหตุผลหลักก็เพราะกลุ่มทุนอเมริกันมีผลประโยชน์ในอุตสาหกรรมน้ำตาลและกาสิโนของคิวบา

หลังสงครามโลกครั้งที่สอง อิทธิพลของสหรัฐเหนือคิวบาเกิดขึ้นทั่วด้าน โดยเฉพาะเมืองหลวงฮาบานา กลายเป็นแหล่งธุรกิจโลกีย์ที่ผิดกฎหมายสารพัดของกลุ่มทุนอเมริกันอย่างเบ็ดเสร็จ จนกระทั่ง ฟิเดล คาสโตร และพลพรรคนักปฏิวัติ (รวมทั้ง เออร์เนสโต้ เช เกบาร่า นักปฏิวัติชื่อดังชาวอาร์เจนไตน์ ที่กลายเป็นขวัญใจคนหนุ่มสาวทั่วโลก) เข้ามาทำการยึดอำนาจเปลี่ยนประเทศเป็นสังคมนิยม และผูกมิตรกับสหภาพโซเวียตเต็มรูป ใน ค.ศ. 1959  เป็นต้นมา

ผลของการปฏิวัติดังกล่าว ทำให้คิวบาเปลี่ยนการปกครองเป็นสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ที่เข้มงวด และยังเป็น 1 ใน 5 ประเทศคอมมิวนิสต์ในโลกในปัจจุบัน (อีก 4 ประเทศคือ จีนเวียดนามลาว และเกาหลีเหนือ)

การยึดอำนาจของนักปฏิวัติ นำโดย ฟิเดล คาสโตร ถือเป็นฝันร้ายของผู้นำสหรัฐมายาวนาน นอกเหนือจากการพยายามลอบสังหารคาสโตรนับครั้งไม่ถ้วนแล้ว การตัดความสัมพันธ์เพื่อโดดเดี่ยวและปิดล้อมคิวบาจากประชาคมโลก มีการดำเนินการลองผิดลองถูกไม่เคยขาดระยะ บ้างก็สำเร็จ บ้างก็ล้มเหลว

แม้ว่าคิวบาหลังค.ศ. 1959 ที่มีการขับไล่มาเฟียและนักธุรกิจสหรัฐที่หนุนหลังรัฐบาลเผด็จการหุ่นเชิดออกไป เต็มไปด้วยความยากลำบากอย่างมาก เพราะถูกสหรัฐตัดความสัมพันธ์ ปิดกั้นทางการค้า และสนับสนุนชาวคิวบาโพ้นทะเลให้ก่อกบฏล้มรัฐบาลของคาสโตร จนมีอัตราการเติบโตที่ต่ำ มีความยากจนแพร่กระจาย รายได้ต่อหัวประชากรต่ำระดับยากจน และล้าหลังอย่างมาก แต่คาสโตรและพลพรรคก็สามารถยืนหยัดได้อย่างแน่วแน่ ไม่สามารถปล่อยให้สหรัฐกลับไปมีอิทธิพลเหนือสังคมคิวบาได้อีก

การล่มสลายของสหภาพโซเวียตในคริสต์ทศวรรษที่ 1990 เป็นต้นมา ทำให้รัฐบาลคิวบาเริ่มผ่อนคลายความเข้มงวดในธุรกิจบางประเภท เพื่อดึงดูดเงินตราจากต่างประเทศ เปิดเสรีและส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ รวมทั้งในระยะหลังได้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ เช่น ขยายการถือครองที่ดินของเกษตรกร ลดหรือยกเลิกเงินอุดหนุนบางประเภท เพิ่มเงินบำนาญ ยกเลิกข้อจำกัดการเข้าถึงสินค้าอุปโภคบริโภคบางประเภท

หลายปีมานี้ คิวบาได้พัฒนาภาคอุตสาหกรรมไบโอเทคโนโลยีและเภสัชกรรม และบริการทางการแพทย์และสาธารณสุข อย่างมีประสิทธิผล สามารถส่งออกผลิตภัณฑ์ประเภทวัคซีนป้องกันไวรัสและแบคทีเรียต่างๆ รวมทั้งบุคลากร บริการ ไปยังหลายประเทศ เช่น รัสเซีย จีน อินเดีย ปากีสถาน และละตินอเมริกา

สหรัฐเองก็มีการเปลี่ยนแปลง หลังความล้มเหลวของนโยบายต่างประเทศในตะวันออกกลางหลายรุ่น ยุคของบารัค โอบามา ได้เริ่มปรับนโยบาย พยายามคืนความสัมพันธ์ปกติกับรัฐบาลและชาวคิวบา บนพื้นฐานของการอยู่ร่วมกันโดยสันติ และความร่วมมือระหว่างกัน ไม่ยึดติดอยู่กับอดีตยุคสงครามเย็นอีกต่อไป

การรื้อฟื้นสัมพันธ์ครั้งใหม่นี้ ถือเป็นการเปลี่ยนผ่านยุคสมัยอีกครั้ง เพราะนอกจากจะจบสิ้นสงครามเย็นแล้ว สหรัฐยังได้เริ่มต้นนโยบายการทูตใหม่ที่ใช้เศรษฐกิจนำหน้าการทหาร และคิวบาอาจจะเปลี่ยนจากชาติสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ที่ยากจนข้นแค้น เป็นชาติที่มีเศรษฐกิจทุนนิยมใหม่ ภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์

ตำนานของการปฏิวัติคิวบานำโดยฟิเดล คาสโตร ซึ่งเป็นการสืบทอดมาจากยุคของไซมอน โบลิวาร์ ในอดีต จะเหลือแต่ประวัติศาสตร์เท่านั้น อนาคตจากนี้ไปของคิวบา จะไม่ใช่การปฏิวัติแบบเดิมอีกแล้ว แต่จะเป็นอะไรยังไม่มีใครทราบล่วงหน้า

Back to top button