DTAC อาการน่าเป็นห่วง P/E สูงปรี๊ดงบ Q2 แย่ โบรกฯ ชี้ “Fully Valued”
DTAC อาการน่าเป็นห่วง P/E สูงปรี๊ด! งบQ2/59 ย่ำแย่ หลังรายได้ prepaid อ่อนแอ-ธุรกิจยังไม่ฟื้นตัว ด้านราคาเป้าหมายเริ่มเต็มมูลค่า โบรกฯ ปรับลดประมาณการกำไรปี 59-61 ลง 30%
DTAC อาการน่าเป็นห่วง P/E สูงปรี๊ด! งบQ2/59 ย่ำแย่ หลังรายได้ prepaid อ่อนแอ-ธุรกิจยังไม่ฟื้นตัว ด้านราคาเป้าหมายเริ่มเต็มมูลค่า โบรกฯ ปรับลดประมาณการกำไรปี 59-61 ลง 30%
“ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ได้ทำการสำรวจราคาหุ้นบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC หลังจากพบว่าราคาหุ้นปรับตัวลดลงค่อนข้างมากหลังจากประกาศผลการดำเนินงานไตรมาส 2/59 ออกมาได้ไม่ดี เหลือกำไรเพียง 141.28 ล้านบาท กำไรสุทธิต่อหุ้น 0.06 บาท ซึ่งปรับตัวลดลง 90% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ขณะเดียวกันราคาปิดต่อกำไรสุทธิ (P/E)ล่าสุดของ DTAC ณ ราคาปิดวันที่ 13 ก.ค. 59 อยู่ที่ 20.92 เท่า สูงกว่า P/E กลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่มี P/E อยู่ที่ 17.17 เท่า จากปัจจัยข้างต้นส่งผลให้หุ้น DTAC ยังไม่น่าลงทุนเนื่องจากมีราคาค่อนข้างแพง ผลประกอบการยังไม่ฟื้นตัว ขณะที่ราคาเป้าหมายที่นักวิเคราะห์ให้เริ่มเต็มมูลค่า
ด้านนักวิเคราะห์ บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส ระบุในบทวิเคราะห์ว่าหากไม่นับค่าใช้จ่ายการปรับโครงสร้างที่เกิดขึ้นครั้งเดียว กำไรสุทธิไตรมาส 2/59 เป็น 539 ล้านบาท ลดลง 61% จากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อนและลดลง 54% จากไตรมาสก่อนถือว่าออกมาสอดคล้องกับที่คาดไว้ก่อนหน้า รายได้ไตรมาส 1/59 เป็น 19.8 พันล้านบาท ลดลง 10% จากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อน และลดลง 9% จากไตรมาสก่อนเพราะรายได้ prepaid อ่อนลง คู่แข่งรุกด้านการให้โทรศัพท์ราคาถูก โดยบริษัทสูญเสียลูกค้าไป 1.5 ล้านราย ระหว่างไตรมาส 2/59 รวมทั้งยอดขายเครื่องโทรศัพท์ในไตรมาส 2/59 ก็ลดลงด้วย
ทั้งนี้ค่าใช้จ่ายการปรับโครงสร้างที่บันทึกในไตรมาส 2/59 เป็น 394 ล้านบาท มีส่วนทำให้กำไรสุทธิไตรมาส 2/59 ออกมาแย่ลง เช่นเดียวกับขาดทุนจากการจำหน่ายเครื่องราคาถูกและค่าใช้จ่ายการตลาดเกี่ยวกับการสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าก็สูงกว่าที่คาดไว้
โดยคาดว่าผลการดำเนินงานจะเริ่มกลับมาดีขึ้นได้ต้องใช้เวลา คาดว่าจะเป็นช่วงครึ่งปีหลังของปี 61 เพราะบริษัทลงทุนเครือข่ายไปมาก แต่สัมปทานกำลังหมดลงในปี 61 จึงทำให้มีค่าเสื่อมราคาและตัดจำหน่ายที่สูง ด้านปันผลบริษัทพยายามจะให้อัตราการจ่ายเป็น 50% แต่คาดว่าจะยาก เพราะปี 61 ที่สัมปทานคลื่นหมด บริษัทมีภาระต้องไปจ่ายประมูลคลื่นกลับมาคาดว่าต้องใช้เงินอีกมากประมาณ 80-90 พันล้านบาท คาดว่าหากยังจะจ่ายมากกว่า 50% ก็จะมีสัดส่วนหนี้สินสุทธิต่อ EBITDA ที่ 2.1 เท่าในปี 62 และเพิ่มเป็น 3 เท่าในปี 65 ทีเดียว
ทั้งนี้คงคำแนะนำ เต็มมูลค่า (Fully Valued) ราคาพื้นฐานคงไว้ที่ 33 บาท ซึ่งประเมินด้วยวิธี DCF terminal growth ที่ 2% ราคาปิดมีส่วนต่างไม่มากนักเทียบกับราคาพื้นฐาน
ขณะที่ นักวิเคราะห์ บล.อาร์เอชบี ระบุในบทวิเคราะห์ ยังคงแนะนำ “ขาย” DTAC ที่ราคาเป้าหมายใหม่เท่ากับ 26.80 บาท (เดิม 27.40 บาท, 15.6% downside) เนื่องจากสัดส่วนทางการตลาดในกลุ่ม prepaid ที่ลดลง อีกทั้งความไม่แน่นอนด้านคลื่นความถี่หลังสัมปทานหมดอายุลงในปี61 และค่าเสื่อมราคามหาศาลถึง 2-2.2 หมื่นล้านบาท โดยผู้ใช้บริการระบบ prepaid ลดลง 7 แสนรายในไตรมาสนี้ ในขณะที่กลยุทธ์ value-for-money กดดัน APRU ให้ลดลง ในขณะที่ DTAC ประกาศปันผลระหว่างกาลจำนวน 0.42 บาท หรือคิดเป็นผลตอบแทนปันผลสำหรับทั้งปีที่ 2.3%
นอกจากนี้คาดว่าจะยังไม่มีการฟื้นตัวอย่างมีนัยสำคัญในช่วงครึ่งปีหลังจากแข่งขันที่รุนแรง โดยผู้บริหารวางเป้า EBITDA margin เพิ่มขึ้นแม้จะมีการออกมาตรการอุดหนุนเชิงรุกก็ตาม แต่บันทึกรายได้บริการลดลง ทั้งนี้ แม้ผลประกอบการไตรมาส 2/59 คาดว่าจะผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วแต่กำไรสำหรับทั้งปีก็อาจลดลงถึง 52.3% จากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อนจากค่าเสื่อมราคาและตัดจำหน่ายที่เพิ่มขึ้นรวมทั้งรายได้บริการที่อ่อนแอ ในขณะที่แผนการหารายได้จากบริการ data และ APRU ที่เพิ่มขึ้นคาดว่าจะไม่ยั่งยืนเนื่องจากต้องรักษาสัดส่วนทางการตลาดผ่านกลยุทธ์ value-for-money ต่อไป ส่วนการร่วมมือทางพันธมิตรกับ CAT ยังคงไม่มีความคืบหน้า
ทั้งนี้หลังจากประกาศผลประกอบการได้ปรับลดประมาณการกำไรในรอบปี 59-61 ลงราว 30-32% จากรายได้ที่อ่อนแอและค่าใช้จ่ายมหาศาล โดย upside มาจากการหารายได้จาก data ที่รวดเร็วกว่าคาดหนุน data yield และ ARPU ที่ดีขึ้นรวมทั้งสัดส่วนทางการตลาดที่ดีขึ้น
นอกจากนี้ ฟิทช์ เรทติ้งส์ ระบุว่า DTAC กำลังเผชิญกับความท้าทายครั้งใหญ่ในการกู้ส่วนแบ่งตลาดกลับคืนมาและทำให้รายได้มีเสถียรภาพ ซึ่งจะส่งผลต่อสถานะทางการเงินของบริษัทในระยะกลาง โดยคาดว่ารายได้จากการให้บริการของ DTAC จะลดลง 1.5-2% ในปี 59 เนื่องจากบริษัทยังคงสูญเสียส่วนแบ่งตลาด ท่ามกลางการแข่งขันที่ดุเดือดในตลาดมือถือของไทย
ด้านราคาหุ้นปิดตลาดวานนี้ (13 ก.ค.) อยู่ที่ 31.75 บาท ปรับตัวลง 0.25 บาท หรือ 0.78% ด้วยมูลค่าซื้อขายที่ 327.81 ล้านบาท