หุ้นขาขึ้น ส่งออกขาลงพลวัต 2016
มีคำถามผุดขึ้นมายามนี้ว่า สำหรับผู้บริหารธนาคารแห่งประเทศไทย และ/หรือ กนง.แล้ว มูลค่าการส่งออกสินค้าของประเทศกับภาวะกระทิงของตลาดหุ้นไทย อย่างไหนสำคัญกว่ากัน
วิษณุ โชลิตกุล
มีคำถามผุดขึ้นมายามนี้ว่า สำหรับผู้บริหารธนาคารแห่งประเทศไทย และ/หรือ กนง.แล้ว มูลค่าการส่งออกสินค้าของประเทศกับภาวะกระทิงของตลาดหุ้นไทย อย่างไหนสำคัญกว่ากัน
ถ้าพวกเขาบอกว่าอย่างแรกสำคัญกว่าอย่างหลัง แสดงว่ายังคงยึดมั่นในหลักการบริหารนโยบายเศรษฐกิจไว้ถูกต้อง ไม่เสียศูนย์เลอะเทอะ ไว้วางใจต่อไปได้
ถ้าพวกเขาบอกว่าอย่างหลังสำคัญกว่าอย่างแรก ก็สมควรควรจะถูกไล่ออกจากตำแหน่งที่กินเงินเดือนแพงๆ ให้หมด ด้วยข้อหาไร้สติปัญญา
นั่นหมายความว่าถ้าพวกเขาเลือกหนทางแรก การแทรกแซงค่าเงินบาทที่กำลังแข็งค่าเพราะกระแสฟันด์โฟลว์ของกองทุนเก็งกำไรข้ามชาติไหลเข้ามาอย่างหนักในตลาดตราสารหนี้ และตลาดหุ้นไทยยามนี้ จนค่าเงินบาทแข็งค่าระดับ 34.88 บาทต่อดอลลาร์ ก่อนที่การส่งออกจะพังทลาย ต้องเป็นความจำเป็นเร่งด่วนที่พึงกระทำ
การปล่อยให้ดัชนีตลาดหุ้นวิ่งขึ้นไป โดยที่ไม่มีพื้นฐานรองรับชัดเจน จนกระทั่งล่าสุด ดัชนีตลาดหุ้นไทยมีค่าพี/อีสูงกว่า 23.3 เท่าไปแล้ว (อาจจะสูงที่สุดแห่งหนึ่งของโลก) หลังจากที่เมื่อวานนี้ ดัชนีตลาดไทยมีผลตอบแทนการลงทุนพุ่งขึ้นสูงที่สุดในเอเชียเท่ากับตลาดหุ้นมุมไบในอินเดีย
ในด้านบวก การวิ่งขึ้นของดัชนีที่ผิดธรรมชาติ สะท้อนความเชื่อมั่นของกองทุนต่างชาติต่อตลาดหุ้นไทยในระยะสั้น แต่ด้านลบ ก็ทำให้ค่าบาทแพงเกินจำเป็น และมีส่วนลดทอนความสามารถการแข่งขันส่งอก ในยามที่การส่งออกไทยยังคงติดลบต่อเนื่อง และคาดว่าสิ้นปีจะติดลบประมาณ 3-5% ไม่ใช่เรื่องน่ายินดี
การไหลเข้าของกระแสฟันด์โฟลว์หรือทุนเก็งกำไร ในตลาดตราสารหนี้และตลาดหุ้นไทย มีความแตกต่างจากเงินลงทุนโดยตรงในภาคการผลิตจากต่างประเทศ เพราะอย่างแรกนั้น ไม่ได้ทำให้เกิดการจ้างงาน และการเพิ่มผลผลิตในประเทศ แต่เป็นการถ่ายโอนความมั่งคั่งให้คนในตลาดหุ้นหรือนักค้าตราสารหนี้จำนวนไม่มากนักเท่านั้น
ทุนเก็งกำไรที่ไหลเข้ารุนแรง ในขณะที่ตัวเลขการส่งออกของประเทศขยายตัวในอัตราที่ลดลงจนกลายเป็นหดตัวมาตั้งแต่กลางปีที่แล้ว จนถึงไตรมาสสองของปีนี้ และการลงทุนในภาคการผลิตของต่างประเทศหดตัวรุนแรง ไม่ใช่เรื่องที่ดีเพราะแม้ว่าไทยจะมีทุนสำรองระหว่างประเทศจำนวนมากสูงกว่าสหรัฐฯ อังกฤษ หรือฝรั่งเศส ก็ไม่ได้หมายความว่าธุรกิจอุตสาหกรรมและธุรกิจการเงินจะล่มสลายไม่ได้
ความคึกคักของบรรดานักวิเคราะห์ในตลาดหุ้นไทยต่อการวิ่งขึ้นของดัชนีตลาดหุ้นยามนี้ อาจจะกลบเสียงอื่นๆ ลงไปได้มากพอสมควร นักวิเคราะห์หลายสำนักยังคงพากันดาหน้าออกมา ระบุในท่วงทำนองเดียวกันว่า ฟันด์โฟลว์ที่ไหลเข้ารุนแรงยามนี้ ทำให้พวกเขา พร้อมกันปรับเพิ่มเป้าหมาย ดัชนี SET สิ้นปีนี้ ขึ้นไปที่ระหว่าง 1,600-1,700 จุด จากเดิมมองไว้ที่ 1,500 จุด เพราะกระแสเงินทุนรอบนี้มีสภาพคล่องมาก และผลตอบแทนในประเทศพัฒนาแล้ว อาทิ ญี่ปุ่น ยุโรป มีผลตอบแทนติดลบ จะไม่ทำให้ทุนเก็งกำไรกลับออกไปง่ายๆ ตราบใดที่ตลาดหุ้นไทยยังให้ผลตอบแทนได้เป็นบวก
มุมมองที่ว่าฟันด์โฟลว์จะเวียนเทียนเล่นรอบในตลาดหุ้นไทย ทำกำไรรอบแล้วรอบเล่า เพราะปัจจัยลบในตลาดหุ้นไทยยามนี้มีน้อยมาก และไม่มีนัยสำคัญเพราะรับรู้ข่าวไปเยอะแล้ว จะดำเนินต่อไปจนถึงสิ้นปี เป็นมุมมองแบบ “พาคนไปตาย” ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกของนักวิเคราะห์ไทยในหลายทศวรรษที่ผ่านมา
นักวิเคราะห์ที่ทำงานด้วยวิธีคิดแบบ “เชียร์แขก” หรือ “โหนกระแส” ดังกล่าว ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับตลาดหุ้นในยามขาขึ้น เพราะเป็นไปตามหลักการที่ผู้รู้ในวงการตลาดเก็งกำไรได้เคยกล่าวเตือนสติไว้แล้วนับครั้งไม่ถ้วน แต่ก็ไม่เคยเข็ดหลาบกันเอาเสียเลย
ในภาวะที่ตลาดหุ้นตกอยู่ในสภาพ “กระทิง” บรรยากาศการลงทุนมักจะถูกสร้างขึ้นจนเสมือนเป็น “โลกส่วนตัว” ที่ไม่ต่างอะไรจากโลกเสมือนจริงที่ถูกสร้างขึ้นภายใต้โลกแห่งความจริง โดยนักลงทุนรายย่อยก็เหมือนกับแมงเม่าที่ถูกดึงเข้าไปอยู่ในโลกเสมือนจริงเป็นผู้เล่นที่พร้อมจะถูกทำให้ปั่นป่วน โดยมีคนชักใยเบื้องหลังคือ กลุ่มนักลงทุนรายใหญ่ที่กำลังต่อสู้กันเพื่อชิงความเป็นเจ้าแห่งโลกเสมือนจริงนั้นๆ
ภาวะ “โลกส่วนตัว” ของการเก็งกำไรเช่นนี้ มีโอกาสสูงมากที่จะโน้มนำไปสู่สถานการณ์ที่เรียกกันว่า “The 5-Stage’s Minsky Moment” ที่ผมเคยเขียนถึงหลายครั้งจนซ้ำซากมาแล้ว
ความเฟื่องฟูของตลาดหุ้นจากปัจจัยหลักเดียว คือ ฟันด์โฟลว์ ไม่เคยยั่งยืนมาแต่ไหนแต่ไร แต่เมื่อมันเกิดขึ้น มีความน่าประหลาดที่เกิดความพยายามหาทางป้องกันจากผู้ที่เกี่ยวข้องน้อยมากหรือไม่มีเลย ทั้งที่ในทางปฏิบัติทำได้ไม่ยาก โดยเฉพาะหน่วยงานกำกับดูแลตลาดเงินและนโยบายการเงินอย่างธนาคารแห่งประเทศไทย ที่มักจะใช้การสร้างวาทะกรรมตั้งข้อรังเกียจเวลากล่าวถึงภาวะ “ฟองสบู่” ในตลาดเก็งกำไรอย่างเปิดเยเสมอมา
การแข็งค่าของเงินบาทในรอบล่าสุดจากกระแสฟันด์โฟลว์นั้น ไม่ได้เพิ่งเกิดมาภายในสัปดาห์นี้ แต่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายนแล้ว เมื่อค่าเงินดอลลาร์เริ่มอ่อนตัวลงมา เพราะเฟดเลื่อนการตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยออกไปไม่มีกำหนด จากระดับ 35.75 บาทต่อดอลลาร์ มาจนถึงล่าสุดวานนี้ ที่ระดับ 34.85 บาท ซึ่งเท่ากับ บาทแข็งค่าขึ้น 2.52% แล้ว
บาทที่แข็งค่า หมายถึงความสามารถในการแข่งขันของสินค้าส่งออกที่ลดลงในสัดส่วนผกผันกันเสมอ เป็นสถานการณ์ที่ผู้ส่งออกไทยรับรู้ แต่ไม่กล้าบ่นออกมาในสถานการณ์ปัจจุบัน
โดยทั่วไป ธนาคารแห่งประเทศไทยสามารถจัดการทำให้ค่าบาทยืดหยุ่น ทั้งอ่อน-แข็ง ได้ด้วย 2 กระบวนการคือ 1) การลด-ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 2) การทุ่มเงินเข้าแทรกแซงตลาดเงินโดยตรง
ทั้งสองวิธีล้วนมีต้นทุนที่ต่างกันและให้ผลลัพธ์ที่ต่างกัน ขึ้นกับดุลยพินิจของผู้ที่เกี่ยวข้อง แต่ไม่ว่าจะด้วยวิธีการไหน ขอให้ลงมือทำก่อนที่ค่าบาทแข็งจะทำให้ตลาดหุ้นกลายสภาพเป็นฟองสบู่ และการส่งออกของประเทศล่มสลาย ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่ประหลาดอย่างยิ่ง