หมดทางยับยั้งฟันด์โฟลว์พลวัต 2016
คืนวันศุกร์ เงินบาทมีแรงซื้ออย่างหนักจากการขายดอลลาร์ ทำให้แข็งค่าต่อเนื่องมาที่ 34.75 บาทต่อดอลลาร์ แข็งสุดในรอบ 3 เดือน
วิษณุ โชลิตกุล
คืนวันศุกร์ เงินบาทมีแรงซื้ออย่างหนักจากการขายดอลลาร์ ทำให้แข็งค่าต่อเนื่องมาที่ 34.75 บาทต่อดอลลาร์ แข็งสุดในรอบ 3 เดือน
การแข็งค่าของบาทเกิดจากทุนเก็งกำไร หรือ ฟันด์โฟลว์ ไหลเข้าชัดเจน ที่น่าสนใจคือการแข็งค่าบาท ไม่ได้สะท้อนปัจจัยบวกทางเศรษฐกิจแม้แต่น้อย
บ่ายวันศุกร์เดียวกัน ข่าวร้ายจากธนาคารแห่งประเทศไทยยังคงถาโถมไม่หยุด เมื่อนางสาวพรเพ็ญ สดศรีชัย ผู้อำนวยการสำนักเศรษฐกิจมหภาค ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาเปิดเผยว่า แม้อัตราการขยายตัวเศรษฐกิจ (จีดีพี) ไตรมาสที่ 2 ปี 2559 ขยายตัวดีขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงไตรมาสแรก 2559 และช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2558 เป็นผลมาจากแรงส่งในประเทศ ทั้งการใช้จ่ายและลงทุนภาครัฐ ภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ดี การบริโภคเอกชนปรับดีขึ้นจากกำลังซื้อครัวเรือนภาคเกษตร แต่ตัวเลขส่งออกอันเป็นหัวรถจักรสำคัญยังย่ำแย่ต่อไปจนถึงสิ้นปี
ตัวเลขการส่งออกไตรมาส 2 ของปี 2559 ยังคงติดลบต่อเนื่องที่ 3.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน และจากไตรมาสแรกที่ติดลบ 1.4% ทั้งนี้ เป็นการติดลบเป็นการหดตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 6 นับตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ปี 2557 ที่ขยายตัว 1.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปี 2556 ทำให้การส่งออกครึ่งปีแรก 2559 ติดลบ 2.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน มีมูลค่าการส่งออกรวม 1.03 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ
ทั้งนี้ หากการส่งออกช่วงครึ่งปีแรกไม่รวมทองคำ (ซึ่งเป็นการส่งออกของนักเก็งกำไร ไม่ได้เกิดจากกระบวนการผลิตอะไรเลย) จะติดลบมากถึง 5.5% ของมูลค่าการส่งออก 9.87 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ
นางสาวพรเพ็ญยังคาดเดาว่า แม้ตลอดปี 2559 ประมาณการจีดีพีที่ 3.1% และการส่งออกที่ติดลบ 2.5% จะสวนทางกัน แต่ก็ยังถือว่าเป็นสิ่งที่บวก แนวโน้มเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังมองว่าจะขยายตัวได้ต่อเนื่อง มีแรงขับเคลื่อนมาจากการใช้จ่ายและลงทุนภาครัฐ โดยเฉพาะโครงการเมกะโปรเจ็กต์ที่จะทยอยออกมา ภาคการท่องเที่ยวที่เข้าสู่ช่วงไฮซีซั่น และการบริโภคเอกชนที่ดีขึ้น
ค่าบาทที่แข็งค่ารุนแรงสวนทางกับตัวเลขส่งออกที่ย่ำแย่ ด้านหนึ่งทำให้นักลงทุนในตลาดหุ้นไทยได้รับอานิสงส์ต่อเนื่อง เพราะดัชนีมีโอกาสที่จะถูกดันขึ้นไปเหนือ 1,550 จุดได้ไม่ยาก หากว่าธนาคารแห่งประเทศไทยวางเฉย มองว่าการแข็งค่าบาท ไม่กระทบการส่งออก และไม่ผิดธรรมชาติ
ข้อสรุปเชิงทฤษฎีของนักวิเคราะห์ที่มีอิทธิพลยามนี้ มีมุมมองว่า กระแสฟันด์โฟลว์ที่ไหลบ่าเข้าตลาดหุ้นไทยอย่างผิดปกติยามนี้ มาจากการเคลื่อนย้ายทุนหาที่หลบภัยเพราะภาวะดอกเบี้ยที่แท้จริงกำลังติดลบ และมีแนวโน้มต่ำกว่าตลาดหุ้น จนกระทั่งนักลงทุนรายใหญ่พร้อมเสี่ยงเข้าลงทุนหาผลตอบแทนที่สูงกว่าในตลาดหุ้นที่มีความเสี่ยงสูงกว่า โดยการยอมรับให้ราคาหุ้นสูงกว่ามูลค่าปัจจัยพื้นฐานจนค่าพี/อีของตลาดหุ้นไทยยามนี้สูงกว่า 23.3 เท่า สูงที่สุดอีกครั้งหนึ่งในรอบหลายปีอย่างน่าสุ่มเสี่ยง
โจทย์สำคัญของปัญหาฟันด์โฟลว์ไหลเข้าที่ทำให้ราคาหุ้นไทยเป็นฟองสบู่ยามนี้ ท้าทายว่าแบงก์ชาติควรจะเข้าแทรกหรือไม่ ยังเป็นปริศนาที่ท้าทาย ถือเป็นความยากลำบากไม่น้อยกว่าโจทย์ของเฟดและธนาคารกลางญี่ปุ่น
นักวิเคราะห์และเซียนหุ้นที่มีประสบการณ์ช่ำชองกับความผันผวนของตลาดมายาวนานเกิน 15 ปี ต่างยอมรับว่า ค่อนข้างน่าแปลกใจกับการไหลเข้าของฟันด์โฟลว์ยามนี้มากเป็นพิเศษ เพราะโอกาสของขาขึ้นเช่นนี้อาจจะมีจุดจบที่เข้าข่าย “ศพไม่สวย” ได้ง่ายเหลือเกิน
ลางสังหรณ์เชิงลบดังกล่าว ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ว่าถูกหรือผิด เพราะสถานการณ์ของโลกยามดอกเบี้ยต่ำติดพื้นนี้ มาจากทุนส่วนเกินที่ไม่ถูกดูดซับเข้าไปอยู่ในกลไกการผลิตปกติของระบบ ทำให้ภาวะสภาพคล่องที่มาก กลายสภาพเป็นทุนสัมภเวสีไปเก็งกำไรระยะสั้นทั่วโลก และนักลงทุน นักล่าผลตอบแทนจากส่วนต่างราคา หรือ “Searching For Yield” เพื่อหาผลตอบแทนที่สูงกว่าการลงทุนในพันธบัตร หรือตราสารหนี้ โดยยอมเสี่ยงกับความไม่แน่นอนของตลาด ที่อัตราความผันผวนรุนแรงมากขึ้นกว่าอดีต
ความเฟื่องฟูของตลาดหุ้นไทยจากกระแสฟันด์โฟลว์ยามนี้ ไม่ได้บอกว่านักลงทุนในตลาดหุ้นไทยส่วนใหญ่มีจิตสำนึกหรือกระบวนทัศน์ที่ผิดพลาด เพราะเราได้เห็นต่อเนื่องว่ารายย่อยและกองทุนนั้น มีความระวังต่อการซื้อขายอย่างมาก แตกต่างจากต่างชาติที่ดันเข้ามาต่อเนื่องโดยไม่ใส่ใจกับเรื่องราวในประเทศและภาพรวมของเศรษฐกิจไทยแต่อย่างใด
ราคาหุ้นที่ยามนี้ ส่วนใหญ่ราคาจะเกินปัจจัยพื้นฐานไปมาก มีคำถามว่าจะสิ้นสุดขาขึ้นแบบฟองสบู่อีกนานเท่าใด
บางคนพยายามบอกว่าหลังการลงประชามติ บางคนว่าเมื่อธนาคารกลางญี่ปุ่นตัดสินใจทุ่มมาตรการ QE ที่รุนแรงกะทันหัน แต่สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นวิธีคิดแบบ “ยืมจมูกคนอื่นหายใจ” ทั้งสิ้น เพราะอาจจะเกิดหรือไม่เกิดก็ได้
ในระยะสั้นรู้กันแค่ว่า ความสามารถในการหยุดยั้งการไหลเข้าของฟันด์โฟลว์ในตลาดไทยนั้นต่ำเหลือเกินกว่าจะมีประสิทธิผล ก็พอแล้ว