วัดใจแฟน ปชป. ทายท้าวิชามาร
อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประกาศไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ โดยมีชวน หลีกภัย สนับสนุน แต่สุเทพ เทือกสุบรรณ สวนทันควัน นักการเมืองเห็นแก่ตัว ใจแคบ อดีต ส.ส.ก็แบ่งขั้วรับ-ไม่รับ ท่ามกลางความงุนงงของแฟนคลับ
อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประกาศไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ โดยมีชวน หลีกภัย สนับสนุน แต่สุเทพ เทือกสุบรรณ สวนทันควัน นักการเมืองเห็นแก่ตัว ใจแคบ อดีต ส.ส.ก็แบ่งขั้วรับ-ไม่รับ ท่ามกลางความงุนงงของแฟนคลับ
คนในพรรคคุยว่านี่ไง สีสันประชาธิปไตย ไม่มีใครสั่งใครได้ โถ ไม่ใช่หรอกครับ มันสะท้อนจุดยืนสับสนจนไม่รู้จะเอาไงต่างหาก
พรรคประชาธิปัตย์ผงาดหลังพฤษภา 35 “เราเชื่อมั่นระบบรัฐสภา” ลูกแม่ค้าพุงปลาเป็นนายกฯ 2 สมัย แต่หลังจากมีไทยรักไทยก็ไม่เคยชนะเลือกตั้ง ได้เป็นรัฐบาลเพราะตุลาการยุบพรรคสร้างเกียรติประวัติบอยคอตต์เลือกตั้ง 2 ครั้ง กำนันนำมวลชนเป่านกหวีดปิดเมืองขัดขวางเลือกตั้ง จนเกิดรัฐประหาร
เอ๊ะ ก็เป่านกหวีดมาด้วยกัน ไหงอภิสิทธิ์ชิ่ง “ไม่รับ” ไม่ใช่อะไรหรอกครับ เป้าหมายของรัฐประหาร เป้าหมายของร่างรัฐธรรมนูญ ไปไกลเกินกว่าที่ประชาธิปัตย์คาดหวังไว้
รัฐประหาร 2549 รัฐธรรมนูญ 2550 วางกลไกตุลาการภิวัตน์ตัดสินการเมือง ตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร แต่ก็เอาไม่อยู่ กระทั่งเกิดพฤษภา 53 เพื่อไทยชนะเลือกตั้งถล่มทลาย รัฐประหาร 2557 สรุปบทเรียนว่า ฝากผีฝากไข้กับ ปชป.ไม่ได้ ร่างรัฐธรรมนูญ 2559 บทเฉพาะกาลบวกคำถามพ่วงจึงวางกลไก ส.ว. 250 คนที่ คสช.สรรหา มีอำนาจร่วมเลือกนายกฯ ซ้ำเปิดช่องให้มีนายกฯ คนนอกได้
พูดง่ายๆ นี่คือกลไกสยบทุกพรรค ไม่ใช่แค่เพื่อไทย นักการเมืองที่ประชาชนเลือกตั้งมา ถูกลิดรอนอำนาจ ไม่เว้นแม้ประชาธิปัตย์ ถ้าร่างรัฐธรรมนูญนี้ผ่าน ปชป.ก็เป็นได้แค่ลูกไก่ในกำมือ อย่างเก่งก็ได้เป็นพรรคร่วมรัฐบาลที่ไม่มีอำนาจต่อรองมากนัก
ปชป.จึงต้องหวนกลับสู่ “จุดยืนประชาธิปไตย” “อำนาจต้องมาจากเลือกตั้ง” ทั้งที่ตัวเองก็เคยไม่ยอมรับ จึงพูดได้ไม่เต็มปาก ขณะที่คนอีกส่วนในพรรค เตลิดเปิดเปิงขัดขวางเลือกตั้งจนกู่ไม่กลับ หันไปสวามิภักดิ์อำนาจแต่งตั้ง
นี่คือความขัดแย้งในพรรค ซึ่งเป็นผลผลิตจากความคิดสับสนมาสิบกว่าปี ไม่ใช่อภิสิทธิ์-สุเทพ เสแสร้งแบ่งฝ่ายเล่นเกม 2 ขา อย่างที่บางคนจินตนาการ (อย่าลืมว่าที่ผ่านมาก็เห็นภาพขัดแย้งชัดเจน ในกรณีสุขุมพันธุ์)
แม้คงไม่ถึงขั้นพรรคแตก แต่ก็จะมีผลต่ออนาคต ว่า ปชป.สามารถกลับมาชูป้าย “เชื่อมั่นระบบรัฐสภา” หรือถอยหลังไปเป็นแค่พรรคไม้ประดับ ประชามติยังจะมีผลสะท้อนกลับสู่การช่วงชิงอำนาจในพรรค เพราะถ้าฝ่ายรับชนะ ก๊กกำนันก็ได้ใจ แต่ถ้าฝ่ายไม่รับชนะ ก๊กกำนันก็หดหัวไป แถมอภิสิทธิ์จะก้าวขึ้นมามีบทบาทมีอำนาจต่อรองสูง ในช่วงที่คสช.ร่างรัฐธรรมนูญใหม่
ที่น่าสนใจคือแฟนคลับ ปชป.จะลงมติอย่างไร ไม่ใช่รักชวน รักอภิสิทธิ์ แล้วไม่รับตามกันหมดนะครับ แฟนคลับ ปชป.จำนวนมากถูกผลักดันด้วยความคิดสุดโต่ง จนไม่เอาเลือกตั้ง อาจยอมพลีพรรคตัวเองเพื่อทำลายทักษิณเพื่อไทย ก็เป็นได้ รักชวน รักอภิสิทธิ์ แต่รักลุงตู่มากกว่า ก็มีถมไป
ถามจริง แฟนคลับ ปชป.จริงๆ มีซักเท่าไหร่ อย่าบอกนะว่าส่วนใหญ่ไม่ได้ชื่นชอบหรอก แค่เกลียดทักษิณแล้วเทคะแนนให้ เหมือนตอนเลือกสุขุมพันธุ์เท่านั้นเอง
ยกนี้วัดใจกันจริงๆ นะ ว่าแฟนคลับ ปชป.ที่ยังพอมีสติ พอมีปัญญา มองเห็นว่าอนาคตของพรรคยังไงก็ต้องอยู่ใน “ระบบรัฐสภา” จริงๆ แล้วจะเหลือซักเท่าไหร่ (ไม่ใช่นกหวีดขึ้นสมองไปหมดแล้วเรอะ)
ใบตองแห้ง