ทุจริตเชิงนโยบาย ??พลวัต 2016

ทุจริตเชิงนโยบาย ??


วิษณุ โชลิตกุล

 

ในยามที่ตลาดหุ้นเริ่มปรับตัวเป็นขาลง การออกคำเตือนว่าหุ้นจะลง หรือ แนะให้ช้อนซื้อหุ้น ล้วนเป็นการชี้นำที่ล้วนไม่ถูกเรื่องและถูกเวลาทั้งสิ้น การพูดถึงเรื่องอื่นๆ ก่อนจะมีการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับล่าสุดที่เรียกว่า “ฉบับมีชัย” ในวันอาทิตย์ที่ 7 สิงหาคมนี้ จึงเป็นเรื่องขัดตาทัพชั่วคราว

เมื่อวานนี้ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม. ได้มีมติเห็นชอบให้ รฟม.จัดจ้างโดยวิธีพิเศษกับบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ให้ดำเนินการติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณบริเวณรอยต่อ 1 สถานีจากสถานีเตาปูน-บางซื่อ ระยะทาง 1 กิโลเมตร (กม.) โดยมีวงเงิน 693 ล้านบาท ซึ่งเป็นวงเงินตามที่คณะกรรมการตามมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติเข้าร่วมงานหรือดำเนินงานในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 (พ.ร.บ.ร่วมทุนฉบับเก่า) ได้ทำการเจรจากับ BEM ไว้แล้วก่อนหน้านี้

ข้อสรุปของการประชุมดังกล่าว เป็นไปตามคำสั่งของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 42/2559 เรื่องการดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ที่เรียกว่า “ฟาสต์แทร็ก”นั่นเอง เนื่องจากการจัดระบบการขนส่งสาธารณะโดยรถไฟฟ้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ซึ่งประกอบด้วย สายสีน้ำเงิน(สายเฉลิมรัชมงคล) ช่วงหัวลำโพง – บางซื่อ สายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง – บางแค และช่วงบางซื่อ – ท่าพระ ในปัจจุบันยังมีปัญหาการเชื่อมต่อและร่วมใช้ระบบรถไฟฟ้า จึงต้องพิจารณาคัดเลือกเอกชน และการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุน เพื่อให้มีการเดินรถแบบต่อเนื่องเป็นโครงข่ายเดียวกัน (Through Operation)

อีกเรื่องหนึ่งเกิดขึ้นในวันเดียวกัน  เมื่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)เห็นชอบให้ส่งเสริมใน 3 กลุ่มผลิตภัณฑ์ คือ รถยนต์นั่งไฟฟ้า รถยนต์นั่งไฟฟ้าขนาดเล็ก และรถโดยสารไฟฟ้า โดยมีมาตรการเร่งด่วนระยะสั้นเพื่อจะให้มีการนำรถโดยสารไฟฟ้ามาใช้ในประเทศไทยภายในเดือนพฤศจิกายนปีนี้ โดยเร่งรัดองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) จัดซื้อรถโดยสารไฟฟ้าประมาณ 200 คัน และจัดทำมาตรฐานของรถโดยสารไฟฟ้าที่เกี่ยวข้องและมาตรฐานความปลอดภัยของสถานีชาร์จไฟฟ้าด้วย

ทั้งนี้ ครม.มีข้อสั่งการให้วางกรอบ เพื่อให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) กระทรวงการคลัง และกระทรวงอุตสาหกรรม กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของการส่งเสริมการผลิตรถยนต์นั่งไฟฟ้าในประเทศ รวมทั้งการยกเว้นอากรนำเข้ารถยนต์นั่งไฟฟ้าสำเร็จรูป ซึ่งบริษัทที่สนใจจะต้องยื่นแผนดำเนินการโดยรวม ประกอบด้วย แผนการลงทุนประกอบรถยนต์ไฟฟ้า การผลิตแบตเตอรี่ มอเตอร์ ระบบควบคุมการจ่ายไฟฟ้า จะมีสิทธิประโยชน์ทางภาษีเงินได้ สิทธิประโยชน์อื่นๆ โดยที่บริษัทดังกล่าวได้รับการส่งเสริมการลงทุนแล้วก็สามารถนำเข้ารถยนต์สำเร็จรูป โดยได้รับลดหย่อนหรือยกเว้นภาษีขาเข้ารถยนต์ที่จะนำมาผลิตเพื่อทดลองตลาดในปริมาณที่กำหนดไว้ ขณะเดียวกันก็อาจจะได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าชิ้นส่วนสำคัญที่จะนำมาผลิตในช่วงของการเริ่มต้น

มติทั้งสองเรื่อง ที่ดูเร่งรัดและร้อนรนผิดปกตินี้ เป็นที่ชัดเจนว่า มีกลุ่มทุนใหญ่ 2 รายได้ประโยชน์ชนิด “บุญหล่นทับ” เต็มๆ

โครงการแรก บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ในเครือ ช.การช่าง ได้รับประโยชน์เต็มที่จากการทำสัญญาสัมปทาน “โดยวิธีพิเศษ”

ส่วนโครงการหลัง บริษัทในกลุ่มล็อกซเล่ย์ ได้รับประโยชน์เต็มๆ เช่นกัน เพราะก่อนหน้านี้ กลุ่มนี้ เคยเป็นคนนำร่องเอารถต้นแบบประจำทางไฟฟ้าจากจีน (ที่เอามาประกอบในไทย) มาโชว์โฉมให้เป็นตัวอย่างอยู่แล้ว

การเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนบางรายนี้ หากเป็นอดีตในสมัยรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง นำโดย “นักการเมืองที่น่ารังเกียจ” จะต้องถูกกล่าวหาว่า มีการทุจริตเชิงนโยบาย หรือ Policy Corruption หรือ ทุนนิยมเล่นพวก (crony capitalism) ดังขรมจากคนกลุ่มต่างๆผ่านสื่อ เพื่อชี้ให้เห็นถึงความเลวร้ายของรัฐบาลที่มาจากนักการเมืองอาชีพ

การทุจริตเชิงนโยบายถูกโหมกระหน่ำและทำการศึกษาในรายละเอียดมากมาย จนกลายเป็นคำคุ้นหูในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา จนเสมือนเป็น “วาระแห่งชาติ”

คำว่า การทุจริตเชิงนโยบาย มีนิยามทั่วไปว่า หมายถึง การทุจริตที่ถูกสร้างขึ้นมาให้เสมือนว่ามีความชอบธรรม ผ่านกระบวนการกำหนดนโยบายที่มีความสมเหตุผล โดยการนำเอาข้อมูลหลักฐานหรือเหตุผลทางวิชาการต่างๆ มาใช้ในการสร้างความน่าเชื่อถือ หรือความชอบธรรมของนโยบาย โดยการสร้างกฎหมายขึ้นมารองรับเพื่อให้นโยบายนั้นๆ มีความถูกต้องหรือความชอบด้วยกฎหมาย ภายใต้แนวคิดว่าด้วยการสร้างอำนาจหรือบทบาทหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยการสร้างนโยบายหรือกฎหมายต่างๆ โดยอ้างถึงผลประโยชน์ของสาธารณะขึ้นมากำหนดบทบาทหน้าที่และแนวทางการปฏิบัติ เพื่อให้กลุ่มบุคคลสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการดำเนินการทุจริตหรือแสวงหาผลประโยชน์ของตนซึ่งมีอยู่ 5 รูปแบบคือ

– การกำหนดนโยบาย เพื่อจัดทำโครงการขนาดใหญ่ (เช่น โครงการสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ)

– การออกกฎหมาย หรือการแก้ไขกฎหมาย โดยการใช้อำนาจของฝ่ายบริหารในการตรา พระราชกำหนด หรือการใช้อำนาจในการตรากฎหมายโดยผ่านสมาชิกรัฐสภา

– การดำเนินนโยบายหรือโครงการ โดยอาศัยความสัมพันธ์กับต่างประเทศ ( เช่น กรณีปล่อยกู้ของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM Bank) แก่รัฐบาลเมียนมา)

– การกำหนดมาตรการเกี่ยวกับการบริหารจัดการที่มีลักษณะเป็นการเอื้อประโยชน์โดยกำหนดกฎเกณฑ์ที่เป็นการเอื้อประโยชน์ต่อตนเองและพวกพ้อง

– การใช้อำนาจตามตำแหน่งในคณะกรรมการที่มีหน้าที่กำหนดมาตรการส่งเสริมการประกอบธุรกิจ

บุคคลที่ตกเป็นเป้าหมายของคำนิยามดังกล่าว ล้วนพุ่งเป้าไปที่นักการเมืองที่มีอำนาจจากการเลือกตั้งทุกระดับ และข้าราชการที่ทำงานให้นักการเมืองเหล่านั้น แต่เพิกเฉยต่อคนที่มาจากกองทัพ หรือ ข้าราชการภายใต้อำนาจรัฐเผด็จการทหารที่ “ทำอะไรก็ล้วนไม่เคยผิด” เสมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น และไม่มีใครเอ่ยคำว่า ทุจริตเชิงนโยบายออกมาเลย ภายใต้คำสั่งมาตรา 44

การตัดสินใจที่เอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่ม ช.การช่าง และ ล็อกซเล่ย์ เมื่อวานนี้ จึงไม่เคยถูกตั้งคำถามว่าเป็นการทุจริตเชิงนโยบายแต่อย่างใดเลย

นี่คือ ประเทศไทย ของใครบางคน ที่ไม่ใช่ประชาชนหาเช้ากินค่ำจำนวนมาก ที่ไม่มีสิทธิออกปากเสียง

Back to top button