ชากระฉอกที่โตเกียวพลวัต 2016
เมื่อวานนี้ หลังจากที่เพิ่งออกมาตรการทางการคลัง มูลค่ามหาศาลสำหรับ 2 ปีข้างหน้า 28 ล้านล้านเยนหรือ 2.75 แสนล้านดอลลาร์ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้พ้นจากภาวะเงินฝืดเรื้อรังได้เพียงแค่ 1 วัน นายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ ก็ประกาศปรับคณะรัฐมนตรีทันควัน เพื่อเตรียมรับมือกับการใช้งบประมาณดังกล่าว
วิษณุ โชลิตกุล
เมื่อวานนี้ หลังจากที่เพิ่งออกมาตรการทางการคลัง มูลค่ามหาศาลสำหรับ 2 ปีข้างหน้า 28 ล้านล้านเยนหรือ 2.75 แสนล้านดอลลาร์ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้พ้นจากภาวะเงินฝืดเรื้อรังได้เพียงแค่ 1 วัน นายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ ก็ประกาศปรับคณะรัฐมนตรีทันควัน เพื่อเตรียมรับมือกับการใช้งบประมาณดังกล่าว
การปรับคณะรัฐมนตรีดังกล่าว ถือเป็นครั้งที่ 3 นับแต่ที่นายอาเบะ กลับมาครองตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครั้งที่สองในเดือนธันวาคม 2555 โดยในรายชื่อครม.ชุดใหม่ มีคนเดิมเกินครึ่งที่ยังนั่งตำแหน่งเดิมโดยเฉพาะกระทรวงสำคัญ เช่น นายทาโร อาโสะ รัฐมนตรีกระทรวงการคลัง นายฟูมิโอะ คิชิดะ รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศ และนายโนบูเตรุ อิชิฮารา รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจ
รัฐมนตรีหน้าใหม่ของรัฐบาล กลับมีความน่าสนใจ แม้จะไม่ได้คุมกระทรวงหลักด้านเศรษฐกิจ หรือต่างประเทศ แต่ก็สะท้อนท่าทีของกลุ่มการเมืองภายในพรรครัฐบาลญี่ปุ่นได้ดีว่า กระแสชาตินิยมเข้มข้นยังมีบทบาทครอบงำสูงขึ้น
ตัวอย่างชัดเจนคือ นางโทโมมิ อินาดะ หัวหน้าฝ่ายนโยบายของพรรคแอลดีพี ที่เข้ารับตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมคนใหม่ เคยแสดงความเห็นเข้าข้างญี่ปุ่น ในประเด็นการทำสงครามกับเกาหลีใต้และจีนในอดีต และยังเคยออกมาพูดถึงประเด็นความขัดแย้งในประวัติศาสตร์กับประเทศเพื่อนบ้านอย่างตรงไปตรงมา
คำถามที่ตามมา คือ การกระชับอำนาจของพลังชาตินิยมในคณะรัฐมนตรีชุดล่าสุดนี้ จะช่วยหรือถ่วงรั้งเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่ยังมีคำถามถึงความล้มเหลว ในการผลักดันให้พ้นจากภาวะเงินฝืดเรื้อรัง มายาวนานกว่า 2 ทศวรรษว่าจะทำได้อย่างไร และวิธีการใด ในยามที่โครงสร้างทางประชากรก้าวสู่สังคมคนสูงวัยมากขึ้นทุกขณะ
การทุ่มงบประมาณเพื่อฟื้นเศรษฐกิจครั้งล่าสุด สะท้อนให้เห็นความอับจนในภาคการผลิตของญี่ปุ่น มากพอสมควร เพราะโครงการใช้เงินรัฐบาลจำนวนมหาศาลแรกสุดมากถึง 6.1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (หรือ 6.2 ล้านล้านเยน)ในปีแรก จะเป็นการลงทุนสร้างสาธารณูปโภคเพื่อรองรับธุรกิจท่องเที่ยวขาเข้า ดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาจับจ่ายใช้สอยในญี่ปุ่นเองทดแทนกำลังซื้อที่หดหายของบรรดาคนญี่ปุ่น
ข้อเท็จจริงที่ได้รับการพิสูจน์มาแล้วยืนยันว่าการใช้จ่ายของนักลงทุนต่างประเทศในญี่ปุ่น (โดยเฉพาะนักท่อง เที่ยวจีน ไทยและอาเซียน) ทำให้ยอดขายของร้านค้าปลีกในญี่ปุ่นทั่วไปเพิ่มขึ้นมากมาย ขณะที่คนญี่ปุ่นซื้อสินค้าลดลงมาก
เท่ากับว่ายุทธศาสตร์กระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อหารายได้จาก “เงินสดร้อน” ของนักท่องเที่ยว ได้กลายเป็นเป้าหมายสร้างความมั่งคั่งของญี่ปุ่นครั้งใหม่ หลังยุคเงินฝืดอย่างมีนัยสำคัญในอนาคตอันใกล้ข้างหน้า
การเมืองในญี่ปุ่นที่เคยได้รับชื่อเสียงอย่างมากว่าเป็น “พายุในถ้วยชา” ในความหมายที่ว่าเป็นการต่อสู้ภายในกลุ่มการเมืองเล็กน้อยในมุ้งเดียวกัน ที่ไม่ส่งผลกระทบต่อยุทธศาสตร์หลักของประเทศ จึงอาจมีแนวโน้มที่เปลี่ยนแปลงไป
ไม่มีใครกล้าคาดเดาว่า ความพยายามกระชับอำนาจของกลุ่มชาตินิยมในญี่ปุน ที่กำลังเกิดขึ้นยามนี้ เป็นการแสดงความอ่อนไหวต่อสถานการณ์ที่เกรงว่าจะเกิด “น้ำชากระฉอกถ้วย” ที่นอกเหนือการควบคุมตามจารีตการเมืองแบบเดิมๆ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริง ก็แสดงว่า โอกาสที่นโยบายเศรษฐกิจและการเมืองของญี่ปุ่น มีโอกาสที่จะสวนทางกันได้ ในลักษณะ “ตัวกับใจไม่ตรงกัน”
มุมมองและคำถามที่ยังไม่มีคำตอบเช่นนี้ ทำให้นักวิเคราะห์ญี่ปุ่นที่ศึกษาในธุรกิจวาณิชธนกิจข้ามชาติ ต่างตั้งคำถามว่า มาตรการทางการคลังที่ขุดตำราของเคนส์ มาใช้อย่างเถรตรงเช่น การสร้างงานภาครัฐเพื่อทำท่าเรือ สนามบิน หรือปรับปรุงวิธีการตรวจคนเข้าเมืองหรือสร้างธีมปาร์คแบบ “ญี่ปุ่นเทียม” เพื่อล้วงเงินจากกระเป๋าของนักท่องเที่ยวจะยั่งยืนแค่ไหน
คำถามที่ท้าทายดังกล่าว มีเหตุผลรองรับเพราะการทุ่มงบประมาณโดยไม่ยอมขึ้นภาษีของรัฐบาลญี่ปุ่นนั้น จะยิ่งทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นต้องสร้างหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้นรุนแรงจากเดิมที่ล้นพ้นตัว เข้าขั้นอันตรายมากถึง 250% อยู่แล้ว จะเลวร้ายแค่ไหน
กรณีหนี้สาธารณะนี้ ทางด้านกองทุนการเงินระหว่างประเทศ มีคำถามเช่นเดียวกัน โดยเมื่อวานนี้ ออกมาระบุว่า รัฐบาลญี่ปุ่น ควรใช้มาตรการกระตุ้นตลาดแรงงานภายในประเทศ รวมทั้งสนับสนุนภาคธุรกิจให้เพิ่มอัตราค่าแรง และฟื้นฟูบริษัทที่ประสบปัญหาหนี้สิน ผ่านการปรับขึ้นภาษีการบริโภค นอกจากนั้นยังเรียกร้องให้ญี่ปุ่นสนับสนุนการปฏิรูปตลาดแรงงาน ด้วยการลดช่องว่างด้านค่าแรงระหว่างพนักงานประจำและพนักงานไม่ประจำ รวมทั้งส่งเสริมให้ผู้หญิง ผู้สูงวัย และคนงานต่างชาติได้เข้ามามีส่วนรวมในตลาดแรงงาน
หากญี่ปุ่นไม่ยอมรับฟังข้อเสนอดังกล่าว กองทุนการเงินระหว่างประเทศ ระบุว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นจะขยายตัวที่ 0.3% ในปี 2559 นี้ ก่อนที่จะชะลอตัวลงสู่ระดับ 0.1% ในปี 2560
ความอับจนในการฉุดเศรษฐกิจ ให้พ้นจากภาวะเงินฝืด กำลังจะทำลายจารีตทางการเมืองแบบ “พายุในถ้วยชา” มากขึ้นทุกขณะ โดยที่คนญี่ปุ่นเอง ก็ยังไม่รู้ว่าจะหาอะไรมาทดแทนจารีตดังกล่าว