ITD เสนอราคาโรงไฟฟ้ากระบี่ต่ำสุด 3.2 หมื่นลบ. รอผ่าน EHIA ก่อนทำโครงการ
ITD เสนอราคาโรงไฟฟ้ากระบี่ต่ำสุด 3.2 หมื่นลบ. รอผ่าน EHIA ก่อนทำโครงการ
นายรัตนชัย นามวงศ์ รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. เปิดเผยว่า ตามที่ กฟผ.ดำเนินการประกวดราคาโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ขนาดกำลังผลิต 800 เมกะวัตต์ และได้เปิดซองราคาโครงการโรงไฟฟ้ากระบี่ เมื่อวันที่ 4 ก.ค.ที่ผ่านมา พบว่ากลุ่มกิจการค้าร่วม พาวเวอร์ คอนสตรัคชั่น คอร์เปอเรชั่น ออฟ ไชน่า และบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD เสนอราคาต่ำสุดที่ประมาณ 32,000 ล้านบาท ขณะที่ผู้เสนอราคาอีกราย เสนอราคาที่ 34,900 ล้านบาท
อย่างไรก็ตามขั้นตอนการพิจารณาการประกวดราคาของโรงไฟฟ้ากระบี่ยังไม่แล้วเสร็จ และยังมีขั้นตอนการเจรจา ในรายละเอียดกับกลุ่มผู้เสนอราคาเปรียบเทียบต่ำสุด โดยจะใช้ระยะเวลาประมาณ 3 เดือน ซึ่งการเปิดซองประกวดราคานี้ ยังไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย โดย กฟผ.ได้ระบุในเงื่อนไขการออกเอกสารสนองรับราคา (Letter of Intent-LOI) ไว้อย่างชัดเจนว่า จะออกเอกสารสนองรับราคาเมื่อโครงการฯ ได้รับความเห็นชอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) จากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามที่กำหนด รวมถึงได้รับอนุมัติให้ดำเนินโครงการจากรัฐบาลครบถ้วนแล้วเท่านั้น
ดังนั้น หากรายงาน EHIA ไม่ผ่านการพิจารณา และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไม่อนุมัติการดำเนินโครงการฯ กฟผ. จะยกเลิกการประกวดราคาในครั้งนี้
ทั้งนี้ การดำเนินการประกวดราคาโครงการโรงไฟฟ้ากระบี่ คู่ขนานไปกับขั้นตอนการพิจารณา EHIA นั้น เพื่อให้ระยะเวลาการดำเนินโครงการฯ เป็นไปตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP2015) ตามที่กำหนดไว้ และมิได้ละเมิดข้อตกลงของคณะกรรมการไตรภาคี เนื่องจากขั้นตอนการอนุมัติโครงการ ยังต้องรอความเห็นจากคณะกรรมการศึกษาการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้ากระบี่ (ไตรภาคี) ตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 ธ.ค.58 ซึ่งตามแผน PDP2015 โครงการจะแล้วเสร็จในปี 62 ใช้เวลาก่อสร้าง 4 ปี ซึ่งจากขั้นตอนของคณะกรรมการไตรภาคีดังกล่าว ณ เวลาปัจจุบัน ทำให้คาดว่า โครงการจะต้องเลื่อนออกไปอย่างน้อยอีก 1 ปี
รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้า กฟผ. กล่าวอีกว่า ราคาประมูลต่ำสุดจากการเปิดซองประกวดราคา มาจากการประกวดราคาในระดับนานาชาติ (International Bidding) โดยเป็นเทคโนโลยีสะอาดที่รวมอุปกรณ์ควบคุมมลภาวะตามมาตรฐานสากลแล้ว คือ ระบบกำจัดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (FGD) ระบบควบคุมก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจน (SCR) อุปกรณ์ดักจับฝุ่น (ESP) และระบบกำจัดสารปรอท (ACI) ซึ่งเป็นราคาใกล้เคียงกับโรงไฟฟ้าถ่านหินเทคโนโลยีสะอาดทั้งของเอกชนในประเทศไทยและในภูมิภาคอาเซียน (ณ ระดับราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ประมาณ 46 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล)
ส่วนข้อมูลที่กรีนพีซไทยแลนด์ ระบุว่า องค์การพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency: IEA ) ประมาณการณ์ค่าก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทคโนโลยีสะอาด ประเภท Ultra-supercritical ที่ประมาณ 60,000 ล้านบาทนั้น เป็นข้อมูลที่คลาดเคลื่อน เนื่องจาก IEA (มี.ค. 56) ประมาณการณ์ต้นทุนค่าก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 600 เมกะวัตต์ ประเภท Ultra-supercritical อยู่ในช่วงระหว่างประมาณ 17,000-53,000 ล้านบาท (อัตราแลกเปลี่ยนประมาณ 35 บาท ต่อ 1 เหรียญสหรัฐ) ซึ่งเป็นราคาที่รวมอุปกรณ์ควบคุมมลภาวะตามมาตรฐานสากลแล้ว (โดยขณะนั้นราคาน้ำมันดิบมีราคาประมาณ 80 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล) แต่การคำนวณของกรีนพีซยังได้นำ 60,000 ล้านบาท ที่ถูกอ้างถึง ได้มีการบวกรวมเพิ่มค่าอุปกรณ์ควบคุมมลสารต่างๆ ซ้ำอีกครั้ง โดยอ้างอิงราคาการติดตั้งเพิ่มเติมโรงไฟฟ้าเก่าของสหรัฐอเมริกาในปี 51 ซึ่งอุปกรณ์เหล่านี้นับเป็นส่วนหนึ่งของโรงไฟฟ้าถ่านหินเทคโนโลยีสะอาดใหม่ในปัจจุบันอยู่แล้ว