สิ้นคิดไม่รู้จบพลวัต 2016

และแล้ว ผู้บริหารธนาคารกลางของอังกฤษ ก็จำต้องลงมติตามแรงกดดันของนักลงทุนในตลาดหุ้นและตลาดเงิน ท่ามกลางความกังวลต่อความแปรปรวนที่ไม่แน่นอนในอนาคตของเศรษฐกิจอังกฤษ หลังการลงประชามติถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป


วิษณุ โชลิตกุล

 

และแล้ว ผู้บริหารธนาคารกลางของอังกฤษ ก็จำต้องลงมติตามแรงกดดันของนักลงทุนในตลาดหุ้นและตลาดเงิน ท่ามกลางความกังวลต่อความแปรปรวนที่ไม่แน่นอนในอนาคตของเศรษฐกิจอังกฤษ หลังการลงประชามติถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป

คณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางอังกฤษ มีมติวานนี้เป็นเอกฉันท์ 9-0 เสียง ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% สู่ระดับ 0.25% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ และเป็นการปรับลดครั้งแรกในรอบกว่า 7 ปี นับตั้งแต่การประชุมเดือนมีนาคม 2009

ความไม่เชื่อมั่นในการเติบโตของเศรษฐกิจอังกฤษอนาคต ยังส่งสัญญาณชัดขึ้นมาก เมื่อกรรมการส่วนใหญ่คาดการณ์ว่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงสู่ระดับ 0.1% หรือใกล้เคียงกับ 0% ในช่วงปลายปีนี้ หากตัวเลขเศรษฐกิจถดถอยลงสอดคล้องกับการประเมิน จากการประเมินเชิงลบว่า อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของอังกฤษในปีนี้จะลดต่ำใกล้ระดับเพียง 0.1% ในไตรมาส 3 แต่ยังคงคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจในปีนี้ที่ระดับ 2.0% ขณะที่ได้ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวในปี 2017 จากระดับ 2.3% สู่ระดับ 0.8% ซึ่งเป็นการปรับลดตัวเลขคาดการณ์รายไตรมาสมากเป็นประวัติการณ์ โดยระบุถึงความไม่แน่นอนหลังการทำประชามติออกจากสหภาพยุโรป

นอกจากนั้น รวมทั้งปรับลดคาดการณ์การขยายตัวในปี 2018 จากระดับ 2.3% สู่ระดับ 1.8% และในปีหน้า (2017) ก็จะลดลงจากที่เคยประเมินไว้เดิม  2.3% เหลือเพียงแค่ 0.8%

ธนาคารกลางอังกฤษยังได้ฟื้นโครงการซื้อพันธบัตรรัฐบาลตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ  หรือ QE เพิ่มมากขึ้นจากเดิม ในวงเงิน 6 หมื่นล้านปอนด์ นานเวลา 6 เดือน ขณะที่จะเข้าซื้อหุ้นกู้ของภาคเอกชนในวงเงิน 3.75 แสนล้านปอนด์ในปี 2009 ท่ามกลางวิกฤตการเงินทั่วโลกในขณะนั้น และได้ปิดโครงการลงในปี 2012  

ธนาคารกลางอังกฤษ ยังได้ปรับเพิ่มคาดการณ์อัตราว่างงานสู่ระดับ 5.4% ในไตรมาส 3 ของปี 2017 จากเดิมที่ระดับ 4.9% ขณะที่คาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะดีดตัวเหนือระดับ 2% ในไตรมาสแรกของปี 2018

 ความไม่เชื่อมั่นในเศรษฐกิจอีก 2 ปีครึ่งข้างหน้า ของธนาคารกลางอังกฤษ ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะข้อเท็จจริงทางเศรษฐกิจของอังกฤษนั้น หากไม่นับอุตสาหกรรมการเงินแล้ว ถือว่า มีอนาคตที่เปราะบางอย่างมาก เนื่องจากความสามารถในการแข่งขันถดถอยอย่างมีนัยสำคัญ

ก่อนหน้านี้ แรงกดดันให้ธนาคารกลางอังกฤษลดอัตราดอกเบี้ย เกิดขึ้นรุนแรง เมื่อบรรดานักเศรษฐศาสตร์ต่าง ๆ ได้ชี้ว่าจำเป็นต้องหั่นอัตราดอกเบี้ยลงเหลือที่ระดับใกล้ 0% แต่นายคาร์นีย์กลับกังวลว่า มาตรการที่ “ถ่วงรั้งการเติบโต”( counterproductive) เช่นนั้น จะยิ่งเป็นการทำร้ายธุรกิจการเงินอังกฤษ และยังส่งสัญญาณอย่างชัดเจนว่า มาตรการ “ยาแรง”จะมีตามมาในระยะต่อไป
                มาตรการที่ออกมาวานนี้ของธนาคารกลางอังกฤษ ถือว่าเป็นแค่มาตรการที่ออกมาชั่วคราว เพื่อช่วยเศรษฐกิจระยะสั้น นอกเหนือจากการกระตุ้นให้ทางธนาคารพาณิชย์เอกชนอังกฤษ เร่งปล่อยกู้เพิ่มมากขึ้นในระหว่างที่รอสัญญาณที่แน่ชัดในการรับรู้ถึงผลกระทบที่ชัดเจนในวิกฤต BREXIT ที่จะออกมา

                มุมมองของธนาคารกลางอังกฤษเมื่อวานนี้ ถือเป็นการหักมุมกะทันหันแบบยู-เทิร์น 180 องศา หลังจากที่ในช่วง 3 ปีล่าสุด อังกฤษมีการเติบโตทางเศรษฐกิจระดับหัวแถวในยูโรโซน แต่การถอนตัวที่ยังต้องผ่านกระบวนการอีกมากใน 2 ปีข้างหน้า ทำให้การเติบโตสะดุดลง และมีโอกาสที่จะเกิดเศรษฐกิจถดถอยอีกครั้งจากความไม่แน่นอนในช่วงเปลี่ยนผ่าน

หลังจากมาตรการทางการเงินของธนาคารกลางอังกฤษเมื่อวานนี้ ปฏิกิริยา ทันทีคือ ค่าเงินปอนด์สเตอร์ลิงของอังกฤษได้ดิ่งลงต่ำสุดในรอบ 3 สัปดาห์เมื่อเทียบเงินสกุลสำคัญของโลกในทันที ในขณะที่ราคาพันธบัตรรับฐาลวิ่งึข้นตามราคาหุ้น และสวนทางกบัอตัราผลตอบแทน ส่วนราคาทองคำในตลาดโลกพุ่งสูงขึ้นเป็นบวกจากความกังวลว่า สงครามลดดอกเบี้ย และสงครามค่าเงินจะตามมาข้างหน้า ไม่เป็นผลดีต่อการถือสินทรัพย์เสี่ยงอื่น

แม้ว่าราคาหุ้นในอังกฤษจะขานรับในเชิงบวกดีมาก แต่ราคาหุ้นในยูโรโซนและในตลาดสหรัฐฯยังคงประเมินท่าทีอย่างระมัดระวังต่อไปว่าการลดดอกเบี้ยและเพิ่มวงเงินรองรับมาตรการ QE ของธนาคารกลางอังกฤษครั้งล่าสุด จะมีผลกระทบทางตรงและข้างเคียงอย่างไรบ้าง

นักยุทธศาสตร์การลงทุนของวาณิชธนกิจหลายสำนัก ระบุว่า การเพิ่มวงเงิน QE และลดดอกเบี้ยนโยบายพร้อมกัน อาจะทำให้ต้นทุนการปล่อยเงินของธนาคาพาณิชย์ต่ำลง และทำให้เกิดการลงทุนมากขึ้น แต่นั่นเป็นแค่มุมมองแบบซัพพลาย-ไซด์ เพราะผลข้างเคียงสำคัญที่จะตามมาคือ การลงทุนในภาคการผลิตและบริการที่มีผลตอบแทนการลงทุนต่ำติดพื้นจะไม่กระเตื้อง ทำให้การปล่อยสินเชื่อทำได้ลำบาก และทำให้ต้องใช้ยาแรงเพิ่มอย่างสิ้นคิด แบบเดียวกับธนาคารกลางยุโรป และญี่ปุ่นกระทำมาก่อนหน้าคือ ลดอัตราดอกเบี้ยจนติดลบ

มาตรการ “สิ้นคิด” ของธนาคารกลางอังกฤษครั้งล่าสุดนี้ (เช่นเดียวกันกับธนาคารกลางชาติใหญ่หลายแห่ง) บ่งชี้ว่า ยุคสมัยของดอกเบี้ยต่ำติดพื้น และเงินท่วมโลกโดยไม่ลงไปสู่ภาคการการผลิตและบริการ ที่จะนำไปสู่การจ้างงาน จะยังดำรงต่อไปอีกนาน

เสมือน การพายเรือในอ่าง ที่ไม่รู้จบ

 

Back to top button