พาราสาวะถี อรชุน
ประเด็นที่ว่าหลังจากร่างรัฐธรรมนูญมีชัยพร้อมคำถามพ่วงผ่านการทำประชามติแล้ว รัฐบาลและคสช.โดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา พร้อมคณะจะทำอย่างไรต่อไปนั้น วันนี้น่าจะมีความชัดเจนหลังการประชุมร่วมแม่น้ำ 5 สาย แต่สำหรับฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยหรือมองเห็นความไม่ชอบมาพากลของการทำประชามติครั้งนี้ ต่างก็แสดงท่าทีและความคิดเห็นที่ชัดเจนกันอย่างต่อเนื่อง
ประเด็นที่ว่าหลังจากร่างรัฐธรรมนูญมีชัยพร้อมคำถามพ่วงผ่านการทำประชามติแล้ว รัฐบาลและคสช.โดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา พร้อมคณะจะทำอย่างไรต่อไปนั้น วันนี้น่าจะมีความชัดเจนหลังการประชุมร่วมแม่น้ำ 5 สาย แต่สำหรับฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยหรือมองเห็นความไม่ชอบมาพากลของการทำประชามติครั้งนี้ ต่างก็แสดงท่าทีและความคิดเห็นที่ชัดเจนกันอย่างต่อเนื่อง
โดยกลุ่มโนโหวตต้านเผด็จการ ได้ออกแถลงการณ์“รับไม่ใช่เสียงส่วนใหญ่ ในประชามติที่ไม่ฟรี-ไม่แฟร์” ระบุว่า การทำประชามติที่มีการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะฝ่ายไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการรัฐประหาร มีความฉ้อฉลและไม่เป็นอิสระ ประกอบกับคณะรัฐบาลทหาร คสช.ได้สร้างบรรยากาศแห่งความกลัว ย่อมมีผลต่อการรณรงค์และการออกเสียงประชามติ
รวมทั้งประชามติครั้งนี้มีผู้เห็นชอบกับรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วงไม่ถึงกึ่งหนึ่งของสังคม จึงไม่อาจถือว่าเป็นเสียงส่วนใหญ่ของคนทั้งประเทศ ประชามติครั้งนี้ไม่คำนึงถึงจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียงขั้นต่ำที่จะทำให้ผลประชามติเป็นที่ยอมรับได้ ดังนั้น จึงถือว่าผลการลงประชามตินี้เป็นโมฆะหรือเป็นโมฆียะ และรัฐบาลในอนาคตต้องทำประชามติใหม่ในบรรยากาศที่เป็นธรรมและมีเสรีภาพ จึงจะเป็นการทำประชามติที่แท้จริง
ทั้งนี้ กลุ่มโนโหวตต้านเผด็จการ เรียกร้องต่อพรรคการเมือง กลุ่มการเมือง องค์กรทางการเมือง องค์กรสิทธิมนุษยชนร่วมให้สัตยาบันว่า จะร่วมผลักดันให้เกิดการเลือกตั้งโดยเร็ว เพื่อขจัดบรรยากาศแห่งความกลัว หลังจากนั้นจึงดำเนินการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยเปิดให้มีการเลือกตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร. และเปิดให้มีการทำประชามติภายใต้กระบวนการที่ให้สิทธิเสรีภาพการแสดงออกและเป็นธรรม ปราศจากความกลัว
ในกรณีที่ไม่สามารถจัดการเลือกตั้งภายใน 1 ปี ขอให้องค์กรต่างๆ ให้สัตยาบันว่าจะผลักดันให้มีการทำประชามติใหม่ โดยนำรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ฉบับปี 2550 และฉบับปี 2559 มาทำประชามติใหม่ ภายใต้กระบวนการที่ให้สิทธิเสรีภาพการแสดงออกและเป็นธรรม ปราศจากความกลัว และเรียกร้องให้ คสช.ยุติการดำเนินคดีผู้ทำกิจกรรมหรือรณรงค์เกี่ยวกับการทำประชามติครั้งนี้ทั้งหมด
นั่นเป็นท่าทีของกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับการทำประชามติในบรรยากาศแห่งการรัฐประหาร จนไม่ได้ออกไปใช้สิทธิ์ ขณะที่ความเห็นของนักวิชาการก็มีหลากหลายมุม โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์ แสดงทัศนะอย่างน่าสนใจ ผลดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าการจัดทำประชามติที่ไม่ได้เปิดให้มีการพูดคุย ถกเถียงกันอย่างเสรี ก็จะให้ผลเช่นนี้
คนจำนวนมากเลือกสิ่งที่ง่ายไว้ก่อน เช่น ง่ายแก่ตัวเขา ง่ายแก่ประเทศชาติบ้านเมือง หรือสิ่งใดก็แล้วแต่ เช่น ป้องกันไม่ให้ขัดแย้งรุนแรงกว่านี้ โดยที่ไม่ได้คิดหรือไม่ได้รู้ว่าร่างรัฐธรรมนูญหมายความว่าอย่างไรกันแน่ ขณะเดียวกันสิ่งที่ คสช.ต้องการความชอบธรรมที่จะเอาไปอ้างในโลกนี้และในเมืองไทย มันก็ได้ผลครึ่งเดียว คืออ้างในเมืองไทยอาจพอฟังได้ แต่อ้างในโลกนี้ยาก เพราะคนเห็นว่าเป็นการทำประชามติที่ไม่ยุติธรรมมาตั้งแต่ต้น
ในมุมของท่าทีจากต่างชาตินั้น สอดรับกับการรายงานของดิอินดิเพนเดนต์ ที่ระบุว่า สาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนโหวตรับน่าจะเป็นเพราะมีการล่อลวงด้วยเรื่องเสถียรภาพ และถึงแม้ว่าจะไม่มีรายงานเรื่องการโกงการเลือกตั้งในระดับกระบวนการ แต่ฝ่ายโหวตไม่รับถูกปฏิเสธโอกาสไม่ให้สามารถนำเสนอความคิดเห็นฝ่ายตัวเองได้
นอกจากนั้น ยังมีการวางข้อห้ามต่างๆ ช่วงก่อนการลงประชามติ เช่น การห้ามชุมนุมทางการเมือง การรณรงค์อย่างเสรี รวมถึงการถกเถียงเรื่องร่างรัฐธรรมนูญ ทำให้นักวิจารณ์มองว่าข้อห้ามเหล่านี้อาจจะทำให้ประชาชนส่วนใหญ่วิตกกังวลและมองไม่เห็นหลุมพรางของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ สิ่งที่น่าสนใจประการต่อมาคือมุมมองที่มีต่อผลของการทำประชามติ
โดยดิอินดิเพนเดนต์ รายงานเกี่ยวกับการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ว่า ชาวไทยโหวตรับร่างรัฐธรรมนูญที่รัฐบาลเผด็จการทหารหนุนหลัง ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่กองทัพคอยควบคุมและแต่งตั้งแทนการเลือกตั้งเข้ามา และยังบอกอีกว่า กลุ่มคนที่โค่นล้มทักษิณ ชินวัตร ในตอนนี้พยายามทำให้พรรคการเมืองใหญ่ๆ อ่อนแรงลง เพื่อทำให้แน่ใจว่าพวกตัวเองจะคงอำนาจไว้ได้ภายใต้ระบอบราชการถาวรแบบที่มีกองทัพ ศาล และกลุ่มผู้ปกครองสายอนุรักษนิยมที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง
อย่างไรก็ตาม ในมุมของต่างประเทศนั้น คงต้องหาทางที่จะอธิบายหรือหากไร้การตอบรับ คงหนีไม่พ้นใช้วิธีถูลู่ถูกังเหมือนช่วงสองปีกว่าที่ผ่านมา โดยไม่ต้องแยแสว่าจะเกิดปฏิกิริยาหรือเกิดอุปสรรคอย่างหนึ่งอย่างใด ขอแค่ให้คนในชาติส่วนใหญ่ยอมรับก่อนก็เป็นใช้ได้ แต่สิ่งที่ผู้มีอำนาจจะต้องตีโจทย์ให้แตกคือ คะแนนเสียงตามจังหวัดและภูมิภาคต่างๆ ที่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ
เหมือนอย่างที่นิธิบอกว่า เรื่องพื้นที่ภูมิศาสตร์ของการไม่รับร่างรัฐธรรมนูญยังคงหนาแน่นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือตอนบนและดินแดนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตรงนี้แหละที่ต้องขีดเส้นใต้ เพราะโจทย์ใหญ่ของ คสช.คือการเข้ามาเพื่อสร้างความปรองดองและสร้างการยอมรับของคนทั้งประเทศ แต่พื้นที่ซึ่งพยายามใช้ทุกองคาพยพเข้าไปจัดการสถานการณ์ยังคงเดิม
เหนือตอนบนและอีสานนั้นหากยึดตัวเลขตามผลประชามติ ย่อมเป็นบทพิสูจน์ฐานสนับสนุนอันแข็งแกร่งของทักษิณและพวกพ้อง ส่วนที่เพิ่มเติมมาคือ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ในที่นี้ไม่รู้ว่าเหตุเพราะสถานการณ์รุนแรงในพื้นที่หรือเป็นมิติทางการเมือง ซึ่งหากเป็นเรื่องแรกฝ่ายความมั่นคงต้องคิดกันหนักหน่อย
ส่วนหากเป็นเรื่องทางการเมือง ก็ถือเป็นโจทย์สำหรับพรรคการเมืองอย่างประชาธิปัตย์ที่จะส่งผลต่อการเลือกตั้งครั้งนี้ ดังนั้น แม้ว่าประชามติจะหมดไป บิ๊กตู่และผู้ร่วมคณะแม่น้ำ 5 สายคงจะถือเป็นความสบายใจไม่ได้ ยิ่งเรื่องความชอบธรรมการหลีกเลี่ยงที่จะพูดถึงน่าจะเป็นการดีที่สุด เหตุผลนั้นไม่ต้องอธิบาย ปลายทางสำหรับผู้มีอำนาจคือ จะทำให้ประเทศสงบราบคาบด้วยอำนาจพิเศษหรือจะทำให้ทุกคนสามัคคีกันด้วยความยินยอมพร้อมใจ ตามครรลองของประชาธิปไตยที่ถูกต้องและแท้จริง