พาราสาวะถี อรชุน
เหตุระเบิด 7 จังหวัดทางภาคใต้ ยังเป็นประเด็นวิวาทะระหว่างฝ่ายกุมอำนาจกับกลุ่มที่ถูกมองว่ามีความเชื่อมโยงกับเหตุการณ์นั่นก็คือ นปช.หรือคนเสื้อแดง ตรงนี้ไม่ว่าจะอย่างไรท้ายที่สุดต้องไปพิสูจน์กันในชั้นศาล เพราะหากเจ้าหน้าที่ทำงานแล้วมีพยานหลักฐาน กล่าวหาถึงใครก็ให้ดำเนินคดีถึงที่สุด แต่ไม่ใช่การใช้อำนาจมาตรา 44 จับตัวไปควบคุมไว้ในค่ายทหาร
เหตุระเบิด 7 จังหวัดทางภาคใต้ ยังเป็นประเด็นวิวาทะระหว่างฝ่ายกุมอำนาจกับกลุ่มที่ถูกมองว่ามีความเชื่อมโยงกับเหตุการณ์นั่นก็คือ นปช.หรือคนเสื้อแดง ตรงนี้ไม่ว่าจะอย่างไรท้ายที่สุดต้องไปพิสูจน์กันในชั้นศาล เพราะหากเจ้าหน้าที่ทำงานแล้วมีพยานหลักฐาน กล่าวหาถึงใครก็ให้ดำเนินคดีถึงที่สุด แต่ไม่ใช่การใช้อำนาจมาตรา 44 จับตัวไปควบคุมไว้ในค่ายทหาร
แม้จะยืนยันว่าไม่มีการทำร้ายให้รับสารภาพ แต่ถามว่าความน่าเชื่อถือมันจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ ในเมื่อทีมโฆษกคสช.ก็ออกมาแถลงข่าวประสานเสียง ทุกอย่างปล่อยให้เป็นการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ แล้วทำไมจึงไม่ให้อำนาจในการดำเนินการทุกอย่างตามขั้นตอน ทำไมถึงต้องใช้กำลังไปคุมตัวผู้ต้องสงสัยไว้ก่อน หรือมันถนัดใช้แต่กำลังจนเคยตัว
ปมของการขยายผลแล้วความพยายามในการจะชี้นิ้วไปที่กลุ่มหนึ่งกลุ่มใด มีความเห็นมาจาก ณรรธราวุธ เมืองสุข คนสื่อที่คลุกคลีอยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้มาทั้งชีวิตที่น่าสนใจคือ มันง่ายแค่ไหนที่เราจะชี้นิ้วว่า คนคนหนึ่งเลวกว่าเรา และง่ายกว่านั้นถ้าเราจะกระซิบให้คนอื่นฟังว่า คนอีกคนเป็นคนสร้างสถานการณ์ระเบิดคร่าชีวิตผู้บริสุทธิ์ ไม่ต้องพูดถึงข้อเท็จจริง เพราะสังคมเราไม่ค่อยลงทุนด้านนี้ เชื่อเอาง่ายกว่า และยิ่งเชื่อง่ายกว่านั้น ถ้าลึกๆ ในใจเรามีความเกลียดชังคนที่เขาเอ่ยถึงว่าเป็นผู้กระทำอยู่แล้ว
ในฐานะที่อยู่ตรงกลางของประวัติศาสตร์และบาดแผลแห่งความขัดแย้งชิงชัง ซึ่งพรากเอาชีวิตของบุคคลผู้เป็นที่รักของครอบครัว บุคคลผู้มีคุณประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ และบุคคลผู้ซึ่งมีคุณูปการต่อสังคมไปอย่างมากมาย ทั้งยังทำให้สังคมไทยติดหล่มไม่ได้พัฒนาไปไหนมานานเกือบครึ่งศตวรรษ เพียงเพราะบางวาทกรรม ซึ่งเป็นอาวุธที่มีชีวิตของคนบางกลุ่มที่เห็นมนุษย์เป็นเพียงเหยื่อและเครื่องมือ
คนที่ใช้มันหวังผลอะไรบางอย่างจากการใช้อาวุธชนิดนี้ และมันก็ถูกใช้อย่างมีประสิทธิภาพมาโดยตลอด ซึ่งเราจะเลือกเอาอย่างใด ระหว่างอยู่ในฐานะผู้เผยแพร่ต่อวิธีการเช่นนั้น หรือหยุดและคิดถึงผลของมัน ว่ากันว่า ก่อนสงครามจะเกิด สิ่งที่ถูกทำลายก่อนคือความจริง หยุดเฮดสปีชทำลายเพื่อนร่วมชาติ อย่าให้เราต้องกลายเป็นเหยื่อซ้ำซาก ตรงนี้แหละที่ผู้ซึ่งมีอคติในใจไม่เคยจะสำเหนียก
อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าฝ่ายผู้มีอำนาจบางรายเริ่มที่จะเข้าใจแล้วว่าเหตุระเบิดดังกล่าวนั้นเกิดขึ้นเพราะอะไร เพราะล่าสุด พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ได้ออกมายอมรับว่า สิ่งนี้เป็นการท้าทายตนไม่ใช่คนอื่น ซึ่งคนที่ลงมือทำคงมีประเด็นที่เป็นประเด็นใหญ่ ไม่เช่นนั้นคงไม่ทำแบบนี้ นี่เท่ากับยืนยันสิ่งที่ได้บอกไปวันวานว่า การก่อเหตุหนนี้น่าจะเป็นเรื่องของฝ่ายคนมีสีกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดที่เสียประโยชน์
การเอ่ยปากขอโทษว่าไม่ได้กล่าวหาใครเป็นคนทำ โดยเฉพาะแกนนำนปช.ของรองนายกฯ ด้านความมั่นคงหนนี้ ย่อมเป็นท่าทีที่ไม่ธรรมดา ซึ่งมีโจทย์ที่ทำให้บิ๊กป้อมตั้งเป็นข้อสงสัยคือ ทำไมต้องเกิดเหตุในวันที่ 12 สิงหาคมและเกิดหลังวันทำประชามติ ตรงนี้หากมองอย่างตรงไปตรงมาคือ เจตนาโยนให้เป็นความผิดของคนเสื้อแดง เพราะคนกลุ่มนี้ถูกกล่าวหามาโดยตลอดในปมความผิดมาตรา 112
นำกรณีดังกล่าวมาเทียบเคียงกับสถานการณ์ก่อนและหลังการทำประชามติ ย่อมที่จะเห็นความเป็นไปในลักษณะของวาทกรรมตอกย้ำและสร้างภาพซ้ำทำให้ความเชื่อของประชาชนบางกลุ่มดำเนินไปในลักษณะที่ตกเป็นเหยื่อ เพื่อบรรลุเป้าหมายของฝ่ายยึดกุมอำนาจ อันเป็นการสร้างความชอบธรรมแต่ฝ่ายเดียว โดยไม่แยแสว่าสิ่งที่ได้กระทำลงไปนั้นถูกต้องชอบธรรมอย่างแท้จริงหรือไม่
การผลิตซ้ำทางความคิดและตอกย้ำความเชื่ออย่างต่อเนื่องมากว่า 2 ปี ในแง่ของนักการเมืองชั่วนักการเมืองเลวนั้น จะเห็นได้ว่ามีผลอย่างยิ่งต่อการลงประชามติในบริบทที่คนมาร่วมลงคะแนนไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่กกต.วางไว้ แต่ตรงใจและเป็นไปตามความต้องการที่ผู้มีอำนาจอยากให้เป็น ด้วยเหตุเช่นนี้ผลที่ออกมาจึงเป็นอย่างที่เห็น
เช่นเดียวกันกับการอ้างของฝ่ายเผด็จการเกี่ยวกับความขัดแย้งที่จะนำไปสู่ความรุนแรง ซึ่ง ธรรมชาติ กรีอักษร อดีตเลขาธิการสภานักศึกษา ท่าพระจันทร์ นำเสนอบทความเรื่องสามัคคีเชิงกดขี่กับสามัคคีเชิงสันติวิธีอย่างน่าสนใจ โดยนักกิจกรรมและฝ่ายประชาธิปไตยหลายคนไม่หูเบาต่อคำโฆษณาชวนเชื่อของเผด็จการง่ายๆ เป็นแน่ พอฟังที่คนเหล่านี้พูด ก็จะพบทันทีว่าความขัดแย้งไม่ใช่บ่อเกิดของความรุนแรง แต่เป็นการสำแดงตนของความหลากหลาย ซึ่งเป็นบ่อเกิดของความสร้างสรรค์ต่างหาก
เหตุที่คณะรัฐประหารอ้างว่าความขัดแย้งอาจนำไปสู่ความรุนแรงได้ เป็นเพราะพวกเขาหาข้ออ้างเพื่อขึ้นสู่อำนาจ ซึ่งก็เหมือนกรณีการอ้างความสามัคคี ที่เป็นเพียงโฆษณาจอมปลอมที่คณะรัฐประหารเอาไว้หลอกล่อให้คนยอมอยู่ภายใต้เผด็จการ พวกเขาจะได้รักษาอำนาจเอาไว้ต่อไป แลกมากับการปิดกั้นเสรีภาพและความหลากหลาย
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผู้นิยมประชาธิปไตยและนักกิจกรรมเชื่อเกี่ยวกับธาตุแท้ของความสามัคคีก็ยังตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของวาทกรรมที่เผด็จการเป็นผู้หยิบยื่นให้อยู่ดี เพราะผู้คนเหล่านี้ยอมรับความหมายของความสามัคคี ที่เผด็จการเป็นผู้มอบให้ว่า เป็นสิ่งที่สร้างข้อจำกัดให้แก่เสรีภาพ ความหลากหลายและความขัดแย้งเชิงสร้างสรรค์ตั้งแต่แรก โดยไม่ได้ตั้งคำถามต่อสมมติฐานดังกล่าว
พอเป็นเช่นนี้ ขบวนการก็ได้รับผลกระทบเชิงลบในหลายด้าน มิพักต้องกล่าวว่าฐานความเข้าใจเกี่ยวกับเสรีภาพ ซึ่งเป็นเสรีภาพจำเพาะแบบหนึ่งที่เรียกว่าเสรีภาพเชิงลบนั้น ยังไม่เพียงพอที่จะนำไปสู่การสร้างขบวนการที่เข้มแข็งได้เราควรมาขบคิดกันว่าความหมายของความสามัคคี ที่เผด็จการมอบให้ด้วยตัวมันเองว่าเป็นความจริงหรือไม่ และความเข้าใจเกี่ยวกับเสรีภาพของเรายังมีข้อจำกัดอย่างไร
อย่างไรก็ตาม บทเรียนที่ได้จากประชามติในแง่ของการกาเยสมากกว่ากาโน ที่เห็นเด่นชัดอีกประการคือ กลไกในการประชาสัมพันธ์ของกกต. ที่ถือว่าขาดประสิทธิภาพอย่างมาก ประชาชนไม่มีโอกาสที่จะได้อ่านและทำความเข้าใจกับเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง ขณะที่ฝ่ายกุมอำนาจก็เผยแพร่ข่าวและโฆษณาชวนเชื่ออย่างต่อเนื่องในหลากหลายประเด็นของการสร้างความหวาดกลัว ซึ่งมีปุจฉาต่อไปว่า คนไทยจะอยู่ในบรรยากาศแบบนี้ต่อไปอีกยาวนานเท่าใด