พาราสาวะถี อรชุน

เหตุระเบิด 7 จังหวัดใต้ จากที่ขึงขังตะบี้ตะบันให้ข่าวว่าเป็นพวกเสียประโยชน์ทางการเมือง โดยเฉพาะกลุ่มที่แพ้ประชามติ นอกจากนั้น ยังมีการจับกุมควบคุมตัวแกนนำคนเสื้อแดงในระดับพื้นที่ไปไว้ในค่ายทหาร จนเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมาอย่างกว้างขวาง ด่วนสรุป รีบทุบโต๊ะ จนกลายเป็นการกดดันการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือเปล่า


เหตุระเบิด 7 จังหวัดใต้ จากที่ขึงขังตะบี้ตะบันให้ข่าวว่าเป็นพวกเสียประโยชน์ทางการเมือง โดยเฉพาะกลุ่มที่แพ้ประชามติ นอกจากนั้น ยังมีการจับกุมควบคุมตัวแกนนำคนเสื้อแดงในระดับพื้นที่ไปไว้ในค่ายทหาร จนเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมาอย่างกว้างขวาง ด่วนสรุป รีบทุบโต๊ะ จนกลายเป็นการกดดันการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือเปล่า

อาการถอยเริ่มเห็นชัดขึ้นจากบทสัมภาษณ์ของ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่ยอมรับว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นการท้าทายตนเองในฐานะที่ดูแลงานด้านความมั่นคง พร้อมกล่าวขอโทษต่อสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมด ความชัดเจนในประเด็นปมทางการเมืองน่าจะเป็นถ้อยแถลงของ พลตำรวจตรีปิยะพันธ์ ปิงเมือง รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่แถลงถึงเรื่องดังกล่าว

พลตำรวจตรีปิยะพันธ์ กล่าวถึงข่าวเรื่องกลุ่มการเมืองเข้าไปหนุนหลังเหตุระเบิดครั้งนี้ว่า ในชั้นสอบสวนยังไม่พบ นี่แหละทำให้เกิดเครื่องหมายคำถาม ในเมื่อพนักงานสอบสวนยังไม่มีความคืบหน้า เหตุใดจึงมีบางคนบางพวกให้ข่าวใหญ่โต ราวกับรู้แล้วว่าใครทำ และเมื่อมองไปยังพฤติกรรมก็หนีไม่พ้นการชี้นิ้วกล่าวหากลุ่มการเมืองที่อยู่ฝั่งตรงข้ามรัฐบาล

อย่างที่บอกมาตั้งแต่ต้น เรื่องนี้จะไม่บานปลายหรือถูกขยายผลไปใหญ่โต หากท่านผู้นำรู้จักระงับอารมณ์โมโห โดยไม่ต้องกลัวเสียหน้าด้วยเหตุที่ตัวเองเป็นนายกรัฐมนตรีซึ่งมาจากทหาร การปล่อยให้มีเหตุเช่นนี้เกิดขึ้นเท่ากับเป็นการตบหน้าหรือเหยียบจมูกเสือ หากความจริงนิ่งให้เป็นแล้วให้สัมภาษณ์ในท่วงทำนองว่าปล่อยให้เจ้าหน้าที่ทำงานคลี่คลายคดีอย่างเต็มที่ จะเป็นภาพที่สวยงามมากกว่า

เมื่อเป็นเช่นนี้จึงทำให้เกิดการโยงภาพไปถึงขบวนการของม็อบกปปส.ที่ผู้นำทั้งเทพเทือกและพุทธะอิสระ ต่างโพนทะนาว่ารู้นะฝีมือใคร กลายเป็นการข่าวรัฐบาลและการทำงานของผู้มีอำนาจถูกชี้นำ แต่ก็อีกนั่นแหละ ลำพังแค่เสียงของคนสองคนคงไม่มีน้ำหนักมากพอ หากใจของคนที่มีอำนาจไม่อคติคิดแต่ระแวงคนที่เห็นต่าง

เหมือนอย่างกรณีการโหวตไม่รับร่างรัฐธรรมนูญในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ที่ถูกนำไปตีเป็นประเด็นเรื่องของการเมืองในท้องถิ่น มีการบิดเบือนเนื้อหาสาระของร่างรัฐธรรมนูญ ไม่เว้นแม้กระทั่ง อาทิตย์ อุไรรัตน์ อดีตวีรบุรุษประชาธิปไตย ที่วันนี้กำลังจะกลายร่างเป็นบุรุษผู้ชำรุดทางประวัติศาสตร์ เพราะใจที่เต็มไปด้วยอคตินั่นเอง

เชื่อตามที่ดอกเตอร์ไข่ผงบอกว่า การเขียนในเฟซบุ๊คที่กล่าวถึงกลุ่มทักษิณพัวพันเหตุระเบิดนั้นไม่ได้หมายถึง ทักษิณ ชินวัตร แต่เป็นการพูดถึงกลุ่มคนในภาคใต้ เพราะมีส่วนขยายต่อมาเรื่องการไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ที่พาดพิงถึงประเด็นด้านศาสนารวมไปถึงการแบ่งแยกดินแดน แต่ประเด็นตรงนี้ สงสัยอาทิตย์ไม่ได้ฟังสิ่งที่ผู้นำศาสนาในพื้นที่เขายื่นจดหมายชี้แจงผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี

การรวมตัวกันของสมาชิกของเครือข่ายครูสอนศาสนา โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามหรือโรงเรียนปอเนาะ รวมถึงเครือข่ายสตรีและภาคประชาสังคมในชายแดนใต้ราว 300 คนได้รวมตัวกันละหมาดฮายัตที่มัสยิดกลางปัตตานี พร้อมนัดอ่านแถลงการณ์ชี้แจงเหตุผลโต้ข่าวที่ออกมาก่อนหน้านี้ว่า มีการบิดเบือนเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญทำให้ผลการลงคะแนนเสียงประชามติในจังหวัดชายแดนภาคใต้ออกมาไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ

เป็นการนัดหมายเพื่อตบหน้าฝ่ายการข่าวและความมั่นคงของภาครัฐ ที่หลังทราบผลการลงประชามติ ก็รีบออกมาตามสไตล์ ผลที่เป็นเช่นนั้นเพราะมีการบิดเบือน ประมาณว่าไม่อยากถูกตำหนิ ด้วยเหตุนี้กลุ่มที่รวมตัวกันจึงชี้แจงแถลงไขให้กระจ่างว่า ที่ประชาชนในจังหวัดชายแดนใต้ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญเป็นการตัดสินใจหลังจากที่ได้อ่านร่างรัฐธรรมนูญแล้ว

พร้อมยืนยันว่า ผู้นำศาสนาไม่ได้บิดเบือนเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด เพียงแต่ส่งบทบัญญัติมาตราที่เชื่อว่าเกี่ยวข้องกับคนในพื้นที่ให้อ่านโดยเป็นการคัดลอกแบบคำต่อคำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมวดเกี่ยวกับสิทธิในการนับถือศาสนา สิทธิทางการศึกษา และสิทธิด้านสาธารณสุข เสียดายอย่างเดียวว่า ในวันนี้ เจ้าหน้าที่ไม่ยอมให้มีการอ่านแถลงการณ์เท่านั้น จึงทำกันได้เพียงยื่นหนังสือผ่านผู้ว่าฯ ปัตตานี

มาตราที่สำคัญซึ่งครูสอนศาสนาและผู้นำทางศาสนาเผยแพร่ให้ประชาชนได้รับทราบโดยคัดลอกแบบคำต่อคำ ได้แก่ มาตรา 31 และ 67 และมาตราที่เกี่ยวกับการศึกษาได้แก่มาตรา 54 และมาตราที่เกี่ยวข้องกับสิทธิด้านการสาธารณสุข และสิทธิในการรักษารักษาพยาบาล โดยทั้งหมดไม่ได้มีการตัดทอนเนื้อหาหรือแสดงความเห็นชี้นำแต่อย่างใด

นี่คือข้อเท็จจริง ที่บางทีผู้นำต้องไปสัมผัสด้วยตัวเอง ไม่ใช่การรับฟังจากรายงานของพวกสอพลอเพียงอย่างเดียว ต้องไม่ลืมว่า ประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นเขายึดถืออัตลักษณ์อันเป็นลักษณะจำเพาะของท้องถิ่นเป็นสิ่งสำคัญ อันจะเห็นได้จากการรวมกลุ่มเคลื่อนไหว เรียกร้องมาต่อเนื่องในหลายๆ ประเด็น ซึ่งนั่นก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้พวกเขาตัดสินใจไม่รับร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วง

เหล่านี้ต้องแยกแยะให้ออกไม่ใช่เรื่องของการเมือง ไม่ใช่เรื่องของปมปัญหาสถานการณ์รุนแรงในพื้นที่ หากแต่เป็นเรื่องของความสนใจในเนื้อหาสาระที่กรธ.ได้ยกร่างขึ้นมา แน่นอนว่า มันก็เหมือนกับกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองอื่นๆ ที่แสดงความเห็นก่อนการลงประชามตินั่นเอง เพียงแต่ว่ากลุ่มในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้เลือกที่จะไปแสดงออกในวันหย่อนบัตรเท่านั้นเอง

ประเด็นความชอบธรรมจากฝ่ายรับ หากจะอ้างก็คงไม่มีใครเถียงได้ แต่หาก พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา อยากเป็นองค์รัฏฐาธิปัตย์ที่ได้ชื่อว่ามีคุณธรรมและเอาชนะใจคน ก็ต้องเงี่ยหูฟังเสียงสะท้อนของฝ่ายที่ไม่รับด้วย สิ่งไหนที่เป็นประโยชน์ก็น่าจะรับไว้แม้จะแก้ไขอะไรไม่ได้ ไม่ใช่ใช้แต่พระเดช ขู่ตะคอกใส่นักข่าวไปวันๆ

ตัวอย่างที่อยากให้ท่านผู้นำลองนำไปศึกษาคือ การออกมาเรียกร้องให้กรธ.และสนช.เคารพต่อเสียงประชาชนของ วันชัย สอนศิริ ที่ไปหยิบเอาเสียงฝ่ายรับมาสร้างความชอบธรรม ก็ไม่ได้ผิดอะไร เพียงแต่ว่า ในฐานะคนที่ไม่เคยผ่านการเลือกของประชาชนมาแม้แต่ครั้งเดียว จะฉวยโอกาสใช้เสียงรับร่างรัฐธรรมนูญซึ่งมีปัจจัยในการตัดสินใจที่หลากหลายมาสร้างภาพคนของประชาชนให้ตัวเองอย่างนั้นหรือ มันไม่หน้าด้านและน่าสะอิดสะเอียนไปหน่อยหรือ ว่ากันว่า เห็นท่าทีเช่นนี้แล้วฝ่ายประชาธิปไตยพากันอาเจียนกันเป็นแถว

Back to top button