หุ้นปั่น ครั้งใหม่ ของ วีระพลแฉทุกวัน ทันเกมหุ้น
ต้นปี 2558 นาย วีระพล ไชยธีรัตต์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ชัยวัฒนา แทนเนอรี่ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CWT ที่หมกเก็บตัวเงียบไป 2 ปีก่อนหน้า ไม่ค่อยออกมาเจอหน้าสื่อ เพราะธุรกิจทำเบาะหนังป้อนค่ายรถยนต์มีปัญหาซบเซาทั้งรายได้และกำไรก็กลับมาอีกครั้งพร้อมกับความฝันอันเลิศหรู และเที่ยวกล่าวติดตลกบอกใครต่อใครว่า “จากนี้ไป หุ้น CWT คือหุ้นปั่น...เพราะทำธุรกิจปั่นไฟ”
หุ้นปั่น ครั้งใหม่ ของ วีระพล
ต้นปี 2558 นาย วีระพล ไชยธีรัตต์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ชัยวัฒนา แทนเนอรี่ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CWT ที่หมกเก็บตัวเงียบไป 2 ปีก่อนหน้า ไม่ค่อยออกมาเจอหน้าสื่อ เพราะธุรกิจทำเบาะหนังป้อนค่ายรถยนต์มีปัญหาซบเซาทั้งรายได้และกำไรก็กลับมาอีกครั้งพร้อมกับความฝันอันเลิศหรู และเที่ยวกล่าวติดตลกบอกใครต่อใครว่า “จากนี้ไป หุ้น CWT คือหุ้นปั่น…เพราะทำธุรกิจปั่นไฟ”
นักลงทุนที่เชื่อว่าตัวเองฉับไวและทันสมัยกับเหตุการณ์ พากันคล้อยตามวีระพล ผลลัพธ์คือ หุ้น CWT กลายเป็นหุ้นแสนร้อนแรงระยะสั้นๆ ของปลายปี 2557-ต้นปี 2558 จากราคาต่ำเตี้ยระดับ 2.00 บาท ในปลายปี 2557 ราคาหุ้นของ CWT ใช้เวลาเพียงเดือนเศษ ทะยานขึ้นไปเหนือ 7 บาทในกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2558 เปิดช่องให้ CWT ได้โอกาสเพิ่มทุนจากเดิม 361.29 ล้านบาท เป็น 427.04 ล้านบาท ก่อนที่จะถูกมาตรการ TA ของตลาดลดความร้อนแรง พร้อมกับราคาหุ้นสิ้นปี 2558 ที่ร่วงลงต่ำกว่า 2.00 บาท…เมื่อวันส่งท้ายปีเก่า
เงินเพิ่มทุนที่อ้างว่าจะเอาไปลงทุนทำโรงงานไฟฟ้าขยะ (ที่หายไปกับสายลม) ก็เลยไม่ต้องได้ใช้กัน
แถมยังปล่อยให้นักลงทุนจำนวนนับพันๆ ที่ไม่รู้วิธี “ตัดขาดทุน” พากันเท้งเต้ง …ไม่รู้จะกล่าวโทษใคร นอกจากความโง่ของตัวเอง เพราะโดน “จุ๊หมาน้อย ขึ้นดอย”
แม้สุดท้ายตัวเลขงบการเงินสิ้นงวดปี 2558 จะไม่ได้เลวร้ายมากนัก มีรายได้เติบโตจากปี 2557 มากกว่า 45% แต่ราคาหุ้นของบริษัทก็ยังแน่นิ่งเพราะโครงการที่รอคอย คือโรงไฟฟ้าขยะที่หายเงียบไป แถมยังมีเรื่องชวนฉงนเมื่อต้นปีนี้ เมื่อ CWT ได้ออกและเสนอขายหุ้นกู้วงเงิน 150 ล้านบาท อายุ 3 เดือน อัตราดอกเบี้ยคงที่ 5% ต่อปี เสนอขายนักลงทุนโดยเฉพาะเจาะจงจำนวนไม่เกิน 10 ราย…เสมือนขาดสภาพคล่องรุนแรง ทั้งที่ฐานะการเงินไม่ได้เลวร้ายอะไร…ทำให้ข้ออ้างสารพัด….ฟังไม่ขึ้นเอาเสียเลย
ราคาหุ้นของ CWT เพิ่งจะมาพุ่งแรงอีกครั้ง นับแต่ต้นเดือนกรกฎาคมนี้เอง จากระดับ 2.00 บาท ไต่เพดานลิ่วมาพักตัวที่ระดับ 3.70 บาท เมื่อต้นเดือนสิงหาคม แล้วก็ทะยานวิ่งต่อมา 2 สัปดาห์ที่ระดับเหนือ 4 บาทล่าสุด …ก่อนจะถึงบางอ้อ…มีข่าวการขายหุ้นแบบ พีพีครั้งแรก (แสดงว่า ต้องมีขายครั้งต่อไปอีกอย่างแน่นอน) เมื่อวานนี้
การขายหุ้นครั้งนี้ กำหนดราคาที่ระดับ 4 บาท หรือ 2.17 เท่า ของบุ๊คแวลู ผิดสูตรปกติตามมาตรฐาน ที่ไม่ควรเกิน 1.5 เท่าของบุ๊ค แวลู และเป็นแค่สัญญา “จะซื้อจะขาย” เท่านั้น
รายละเอียดของดีล ระบุว่า CWT ได้ขายหุ้นเพิ่มทุนจำนวน 202.4 ล้านหุ้น ที่ราคา 4.00 บาท/หุ้น มูลค่ารวม 801.60 ล้านบาท ให้กับขาใหญ่จำนวน 7 ราย ประกอบด้วย 1) กองทุน Aliran Master Fund จำนวน 160 ล้านหุ้น 2) นายทรรศิน จงอัศญากุล ประธานกรรมการบริหาร บมจ.ไทยบริการอุตสาหกรรมและวิศวกรรม 20 ล้านหุ้น 3) นางจารุณี ชินวงศ์วรกุล 10 ล้านหุ้น 4) นายวิทยา นราธัศจรรย์ จำนวน 10 ล้านหุ้น 5) นพ.รัชต์ชยุตม์ จีระพรประภา 2 ล้านหุ้น 6) นายชาลี วงศ์เสริมสิน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ห้างทองศิริอร จำกัด 2 แสนหุ้น 7) รศ.นพ.ดำรง ตรีสุโกศล 2 แสนหุ้น
เงื่อนไขในการเพิ่มทุนให้ PP ระบุชัดว่า จะไม่มีการชำระในทันที แต่จะชำระค่าหุ้น ภายในเดือนธันวาคม 2559
จะเรียกว่า เป็นการจะซื้อจะขายภายใต้เงื่อนไข หากไม่เป็นไปตามเงื่อนไข ก็ยกเลิกไป…เขี้ยวลากดินทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย…..มองในแง่ร้าย นี้คือการสร้างราคาหุ้นให้ “โด่เด่ไม่รู้ล้ม” เพื่อล่อแมงเม่า
ที่สำคัญ เงินไปลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าขยะตามความฝันของนายวีระพลใหม่นี้ ไม่ใช่โครงการเดิมเมื่อปีก่อน แต่เป็นโครงการขนาดเล็กมาก แต่ไม่เกิน 200 ล้านบาทเท่านั้น โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ
1) จัดตั้งบริษัทย่อย 1 แห่ง ทำให้หน้าที่เป็นโฮลดิ้งด้านพลังงาน คือ บริษัท ชัยวัฒนา กรีน เพาเวอร์ จำกัด (CWTG) ซึ่งจะเป็นโฮลดิ้งด้านพลังงานทั้งหมด โดยมีทุนจดทะเบียนไม่เกิน 400 ล้านบาท
2) ส่วนถือหุ้นโดย CWTG ประกอบด้วย 3 บริษัท ได้แก่
-CWTG ถือหุ้น 75.01% ใน บริษัท ดับบลิวทูอีพาวเวอร์ จำกัด ซึ่งมีทุนจดทะเบียน 50 ล้านบาทประกอบกิจการ บริหารจัดการขยะหลากรูปแบบ นำมาผลิตเป็นเชื้อเพลิง รวมทั้งจัดหาและติดตั้งเครื่องจักรพร้อมอุปกรณ์ รวมทั้งการนำขยะมาคัดแยกด้วยวิธีต่างๆ พร้อมทั้งเพื่อยื่นขอสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) โรงไฟฟ้าอุตสาหกรรม
-CWTG ถือหุ้นลงทุน 40% ใน บริษัท เขาดิน กรีน เพาเวอร์ จำกัด รวมเป็นเงิน 40 ล้านบาทเพื่อหีบน้ำมันปาล์มขนาด 45/60 ตัน/ชั่วโมง โดยมีผลพลอยได้นำไปพัฒนาเป็นพลังงานทดแทนแบบชีวมวล ขนาด 8 MW และนำน้ำเสียที่เกิดขึ้นไปหมักเพื่อผลิตเป็นพลังงานทดแทนขนาด 3.2 MW โดยมีเงื่อนไขว่า หากโครงการไม่สำเร็จ เช่น ไม่ได้รับใบอนุญาตขายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) จากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือการทำประชาคมไม่แล้วเสร็จ บริษัทจะไม่ลงทุน
-CWTG ถือหุ้นลงทุน 100% ในบริษัท โคกเจริญ กรีนเอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (KE) ผู้ผลิตไฟฟ้าจากเศษไม้ และไม้สับ ขนาด 9.5 MW เพื่อจำหน่ายไฟฟ้าให้กับกฟภ. รวมเป็นเงิน 70 ล้านบาท แบ่งเป็นชำระเงินสด 50 ล้านบาท และเช็คสั่งจ่ายล่วงหน้า 20 ล้านบาท แต่เนื่องจาก KE อยู่ระหว่างการดำเนินการเปลี่ยนแปลงสัญญาจากระบบ Adder เป็น Feed-in Tariff และยื่นขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (รง.4) ฯลฯ หากการดำเนินการ และการยื่นใบอนุญาตต่างๆ ไม่สำเร็จ บริษัทจะไม่ลงทุนใดๆ
สุ่มเสี่ยงถึงขนาดนี้ ก็ มีคำถามว่า ทำไมนักลงทุนขาใหญ่ทั้ง 7 ถึงกล้าเสี่ยงเข้าซื้อหุ้นของ CWT ในราคาที่รู้ทั้งรู้ ….คำตอบที่เป็นมากกว่า…ฝนตกขี้หมูไหล…คือ ไม่ได้เสียหาย เพราะจะจ่ายชำระค่าหุ้นก็ต่อเมื่อ ภายในเดือนธันวาคม ทาง CWT จะต้องบรรลุดีลโรงไฟฟ้าขยะให้เสร็จสมบูรณ์เสียก่อน
แล้ว CWT ได้อะไร ….ตอบง่ายๆ ตามประสาเกมหุ้น …ราคาหุ้น 4.00 บาท จะกลายเป็น “หลักหมุด” หรือ benchmark ต่ำสุดของCWT จนกว่าจะถึง เดือนธันวาคม …ใครจะปั่นไฟ ใครจะปั่นราคาหุ้น…คงไม่ต้องสาธยายกันอีก
กดไลค์ให้ 50 ครั้งกันเลย…สุดยอดๆๆๆๆๆๆๆ