TPCH ทุ่มงบ 305.96 ลบ.เข้าถือหุ้น 45% ใน “สยาม พาวเวอร์” ลุยธุรกิจผลิตไฟฟ้าขยะ
TPCH ทุ่มงบ 305.96 ลบ. เข้าถือหุ้น 45% ใน “สยาม พาวเวอร์” ลุยธุรกิจผลิตไฟฟ้าขยะ
บริษัท ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ TPCH ระบุว่า บริษัทจะใช้เงิน 305.96 ล้านบาท เพื่อเข้าถือหุ้นสัดส่วน 45% ในบริษัท สยาม พาวเวอร์ จำกัด ซึ่งประกอบธุรกิจพลังงานทดแทนจากขยะ โดยมีโครงการที่จะผลิตไฟฟ้าจากพลังงานขยะ เสนอขาย 8 เมกะวัตต์ (MW) ในจังหวัดนนทบุรี โดยเตรียมยื่นเสนอขออนุญาตขายไฟฟ้าต่อคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) โดยคาดว่าการเข้าลงทุนในบริษัทดังกล่าวจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในเดือนก.ย.59
โดย TPCH แจ้งว่าที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทวันนี้ อนุมัติให้เข้าลงทุนในบริษัท สยาม พาวเวอร์ จำกัด โดยการซื้อหุ้นสามัญเดิมจากผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัท สยาม พาวเวอร์ และหุ้นสามัญเพิ่มทุนของบริษัท สยาม พาวเวอร์ รวมทั้งสิ้น 45% แบ่งเป็น ส่วนแรก เป็นการซื้อหุ้นเดิมคิดเป็นมูลค่า 206.96 ล้านบาท โดยแบ่งการชำระค่าหุ้นให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมของสยาม พาวเวอร์ ที่เรียกชำระแล้ว 105.71 ล้านบาท และชำระค่าหุ้นสามัญเดิม ในส่วนที่ยังไม่ได้เรียกชำระอีก 101.25 ล้านบาทให้แก่สยาม พาวเวอร์ ซึ่งจะทยอยชำระภายในปี 60 และส่วนที่สอง เป็นการจองซื้อหุ้นเพิ่มทุนของสยาม พาวเวอร์ มูลค่า 99 ล้านบาท ซึ่งจะทยอยชำระภายในปี 60
ภายหลังการเข้าถือหุ้นในสยาม พาวเวอร์ครั้งนี้จะทำให้บริษัทมีสัดส่วนการถือหุ้น 45% ขณะที่ผู้ถือหุ้นเดิมของสยาม พาวเวอร์จะถือหุ้นในสัดส่วน 50% ขณะที่นายไชยณรงค์ จันทร์พลังศรี ,นางกนกทิพย์ จันทร์พลังศรี และนายเชิดศักดิ์ วัฒนวิจิตรกุล จะถือหุ้นรวมกันคิดเป็นสัดส่วน 5%
อนึ่ง บริษัท สยาม พาวเวอร์ เป็นผู้ประกอบธุรกิจพลังงานทดแทนจากขยะ ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการเพื่อรับบริหารจัดการขยะขององค์การบริหารส่วนจังหวัด มาใช้ประโยชน์เป็นเชื้อเพลิงสำหรับใช้ในการผลิตพลังงานไฟฟ้า และมีแผนที่จะพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนจากขยะ ขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้าเสนอขาย 8 เมกะวัตต์ ที่จังหวัดนนทบุรี โดยบริษัท สยาม พาวเวอร์ อยู่ระหว่างการเตรียมยื่นขออนุญาตจากกกพ.ต่อไป โดยบริษัทคาดว่าโครงการดังกล่าวจะมีอัตราผลตอบแทนจากการลงทุน (IRR) ประมาณ 14.46-19.02%
สำหรับแหล่งเงินลงทุนจะมาจากกระแสเงินสดภายในของบริษัท ขณะที่คาดว่าการลงทุนดังกล่าวจะช่วยสร้างรายได้ให้เพิ่มมากขึ้น และจะได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนที่ดีในอนาคต ซึ่งจะช่วยสร้างผลตอบแทนที่ดีให้แก่ผู้ถือหุ้นในระยะยาว
ทั้งนี้ ในกรณีที่สยาม พาวเวอร์ ไม่ได้เข้าทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าสำหรับการซื้อขายไฟฟ้าจำนวน 8 เมกะวัตต์ ภายในวันที่ 1 ก.ย.61 และไม่ได้สิทธิในการบริหารจัดการขยะขององค์การบริหารส่วนจังหวัดมาใช้ประโยชน์เป็นเชื้อเพลิง สำหรับใช้ในการผลิตพลังงานไฟฟ้าตามระยะเวลาที่กำหนด บริษัทมีสิทธิเรียกให้ผู้ขายแต่ละรายซื้อหุ้นสามัญเดิม และหุ้นสามัญเพิ่มทุนคืนจากบริษัท และผู้ขายมีหน้าที่ต้องซื้อหุ้นสามัญเดิมและหุ้นสามัญเพิ่มทุนคืนจากบริษัท ในราคาตามที่ผู้ซื้อได้ชำระไปเพื่อซื้อหุ้นสามัญเดิมและหุ้นสามัญเพิ่มทุน พร้อมอัตราดอกเบี้ย MLR ที่ธ.กรุงเทพ (BBL) ประกาศกำหนดในเวลานั้นๆ ลบร้อยละ 2