รัฐวิสาหกิจปลอดการเมือง?ขี่พายุ ทะลุฟ้า

ขยับๆ กันมาตั้งแต่ต้นปี 2559 บัดนี้ก็ได้ฤกษ์งามยามดีแล้ว ร่างพ.ร.บ.การพัฒนา การกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ ผ่านความเห็นชอบจากครม. ก่อนส่งเข้ากฤษฎีกา และนำเข้าสู่การพิจารณาของสนช. ก่อนบังคับใช้เป็นกฎหมายต่อไป


ชาญชัย สงวนวงศ์

 

ขยับๆ กันมาตั้งแต่ต้นปี 2559 บัดนี้ก็ได้ฤกษ์งามยามดีแล้ว ร่างพ.ร.บ.การพัฒนา การกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ ผ่านความเห็นชอบจากครม. ก่อนส่งเข้ากฤษฎีกา และนำเข้าสู่การพิจารณาของสนช. ก่อนบังคับใช้เป็นกฎหมายต่อไป

สาระสำคัญก็คือ การนำรัฐวิสาหกิจชั้นนำ 12 แห่ง ซึ่งอยู่ใต้กำกับดูแลของกระทรวงต่างๆ ให้มาขึ้นสังกัดกับองค์กรใหม่ ซึ่งมีชื่อว่า บรรษัทรัฐวิสาหกิจแห่งชาติ” หรือ “ซุปเปอร์ โฮลดิ้ง”

องค์กรเหนือบรรษัทรัฐวิสาหกิจฯก็คือ คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจหรือคนร. อันมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน กรรมการประกอบด้วย…

รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง 4 คน, เลขาฯกฤษฎีกา, เลขาฯสภาพัฒน์, ประธานกรรมการบรรษัทรัฐวิสาหกิจ, ผู้ทรงคุณวุฒิรวม 5 คน และปลัดกระทรวงการคลังทำหน้าที่กรรมการและเลขานุการ

รัฐวิสาหกิจ 12 แห่ง ประกอบด้วย บมจ.ปตท. อดีตหน่วยงานสังกัดกระทรวงพลังงาน

บมจ.การบินไทย, บมจ.ท่าอากาศยานไทย, บขส.และอู่กรุงเทพ อดีตหน่วยงานสังกัดกระทรวงคมนาคม

อสมท  อดีตหน่วยงานสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี

ธนาคารกรุงไทย และบริษัทธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ อดีตหน่วยงานสังกัดกระทรวงการคลัง

TOT, CAT และบริษัทไปรษณีย์ไทย อดีตหน่วยงานสังกัดกระทรวงไอซีที และบริษัทสหโรงแรมและการท่องเที่ยว อดีตหน่วยงานสังกัดกระทรวงการท่องเที่ยวฯ

จุดประสงค์หลักของกฎหมายฉบับนี้ ตามถ้อยแถลงของผู้อำนวยการสคร.นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศอาจจะแยกได้เป็น 3 ประการ

นั่นคือ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพรัฐวิสาหกิจ เพื่อแก้ปัญหารัฐวิสาหกิจขาดทุน และเพื่อให้ปลอดรอดพ้นจากอำนาจทางการเมือง (ที่ไม่รับผิดชอบ)

จุดประสงค์ในประการหลัง คือ การหอบรัฐวิสาหกิจหนีการเมืองนั่นแหละ คงจะเป็นจุดประสงค์หลัก

เบื้องลึกแนวคิดปฏิรูปรัฐวิสาหกิจเช่นนี้ ก็น่าแปลกอยู่เหมือนกันนะครับ เพราะล้วนแล้วแต่เป็นพวกนายธนาคารวาณิชธนกิจ ที่ทำมาหากินและมีผลประโยชน์เกี่ยวพันกับรัฐวิสาหกิจมาโดยตลอดทั้งสิ้น

ไม่ว่าจะเป็นการรับหน้าที่เป็นที่ปรึกษาการแปรรูป การนำหุ้นเข้าตลาด การรับประกันจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ ตลอดจนการเป็น “ดีล เมกเกอร์” ประสานงานธุรกิจ ที่มีค่าตอบแทนเป็นเงินร้อยล้าน-พันล้าน

ในระบบรัฐวิสาหกิจแบบเก่าที่แยกสังกัดตามรายกระทรวง ก็ยังเห็นการทำมาหากินได้ดีเป็นปกติอยู่นี่นา

หรืออาจจะคิดอยากให้มีการรวมศูนย์ไว้ที่เดียวเพื่อให้การทำงานมีความสะดวกดายมากขึ้น

ในแง่เพื่อให้ปลอดจากการเมือง โครงสร้างที่ปรากฏออกมา มันก็ไม่ถึงกับจะปลอดจากการเมืองอะไรนะ

ยังคงมีนายกรัฐมนตรีเป็นหัวเรือใหญ่แต่งตั้งและมอบนโยบาย และยังมีรัฐมนตรีอีก 4 คน ผู้ทรงคุณวุฒิอีก 5 ตำแหน่ง มันจะมาได้อย่างไรเล่า หากการเมืองไม่แต่งตั้งเข้ามา

นายกรัฐมนตรีก็ดี รัฐมนตรีก็ดี ไม่ใช่นักการเมืองหรือ อย่ามีจินตภาพแค่เป็นนายกฯบิ๊กตู่หรือรัฐมนตรีของบิ๊กตู่ซี่

ในแง่ของการเพิ่มประสิทธิภาพรัฐวิสาหกิจ ผมก็ว่ามันบ่แน่เหมือนกันนะ

กรณีศึกษาจากปตท. เขาก็เติบโตมาจากระบบเก่า ที่ตอนแรกเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯปลายปี 2544 มีมูลค่าตลาดรวมอยู่แค่ 9 หมื่นล้านบาทเอง แต่ขณะนี้ 15 ปีผ่านมา มีมูลค่าตลาดรวมเป็น 9 แสนกว่าล้านบาทแล้ว

จาก 9 หมื่นล้านเป็น 9 แสนล้านบาทซุปเปอร์ โฮลดิ้งจะเข้าไปช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้เขาตรงไหนกันหรือ

ส่วนในแง่ของการแก้ปัญหาการขาดทุน ผมอยากให้จับตาดูบมจ.ทีโอที และแคท โทรคมนาคม กระทั่งการบินไทยด้วยว่า จะหยุดยั้งการขาดทุนกันได้อย่างไร และถ้าแน่จริงก็เอาขสมก.และร.ฟ.ท.ไปแก้ขาดทุนด้วยสิ

พิสูจน์ของจริงกันไปเลย ซุปเปอร์ โฮลดิ้งคนดี

                

Back to top button