BEM เดี้ยงเพราะท่ายากแฉทุกวัน ทันเกมหุ้น
ก่อนหน้าที่โครงการเดินรถไฟฟ้าสายสีม่วง บางใหญ่-เตาปูนจะเริ่มเดินหน้าเก็บค่าโดยสารเป็นทางการ นักวิเคราะห์ทุกสำนักพากันฟันธงในเชิงบวกต่อราคาหุ้นของ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM อย่างพร้อมเพรียงกันว่า ต้องไปที่ราคาเป้าหมายเท่านั้นเท่านี้
ก่อนหน้าที่โครงการเดินรถไฟฟ้าสายสีม่วง บางใหญ่-เตาปูนจะเริ่มเดินหน้าเก็บค่าโดยสารเป็นทางการ นักวิเคราะห์ทุกสำนักพากันฟันธงในเชิงบวกต่อราคาหุ้นของ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM อย่างพร้อมเพรียงกันว่า ต้องไปที่ราคาเป้าหมายเท่านั้นเท่านี้
สรุปรวมคือ ทุกสำนักมองว่า หุ้น BEM มีอัพไซด์สูงกันถ้วนหน้า ราคาเป้าหมายเมื่อสิ้นปี 2559 เป็น 8-9 บาท/หุ้น โดยประเมินแนวโน้มผลการดำเนินงานงวดปี 2559 จะมีโอกาสทำกำไรสุทธิจำนวน 3,087 ล้านบาท เติบโตขึ้นจากงวดปี 2558 ที่มีกำไรสุทธิ จำนวน 2,642 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น ประมาณ 15%
จุดขายหลักของการวิเคราะห์คือ รายได้ที่เพิ่มขึ้นจากการเปิดเดินรถไฟฟ้าสายสีม่วง ที่เร็วขึ้นกว่าเดิม จากไตรมาส 4 มาเป็นเดือนสิงหาคม 2559 นอกเหนือจากทางด่วนศรีรัช-วงแหวนรอบนอก
ไม่เพียงเท่านั้น ราคาประเมินในอนาคตอีกหลายปีข้างหน้าของ BEM ยังมาจากการ “รับจ้างเดินรถ” สายใหม่เช่น สายสีน้ำเงิน-สีส้ม-ชมพู-เหลือง” ที่คาดเอาไว้ว่าจะหนุนอัพไซด์หุ้นเพิ่มขึ้นในอนาคต…ภายใต้เงื่อนไขว่า BEM จะคว้างานนี้มาได้ทั้งหมด
รายงานนักวิเคราะห์ที่มุ่งไปทางเดียวกัน ถึงอนาคตของ BEM ทำให้มีเสียงขานรับอึงคะนึง ดันราคา BEM แรงจนเกือบทะลุแนวต้าน 9.00 บาทไปได้
รายได้จากการ “รับจ้างเดินรถ” จากรถไฟฟ้าสายสีม่วงและสายใหม่อื่นๆ ทำให้ความเสี่ยงของ BEM ที่เดิมเคยมีจากการได้สัมปทานเดินรถไฟฟ้าใต้ดินในรูป “แบ่งรายได้” กับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) นั้น ต่างกันอย่างมาก
ต่างกันแค่ไหน?…
บอกได้คำเดียวว่า ต่างกันเยอะ แต่รายละเอียด ต้องไปถามไถ่กันเอาเอง เพราะต้องพูดรายละเอียดกันยาวยืดเป็นวันๆ
ข้อเท็จจริงที่ว่ามา (แม้จะไม่หมด) ทำให้ รายได้ของ BEM ที่ใครคาดว่าจะได้มากมายจากรถไฟฟ้าสายสีม่วงนั้น เอาเข้าจริงแล้ว ก็ไม่ได้มากมายอะไรมากนัก แต่มีข้อดีคือ มีความเสี่ยงต่ำไปด้วย…เข้าสูตร “เสี่ยงต่ำ กำไรต่ำ” ไปด้วย
ด้วยเหตุนี้ เมื่อมีคำถามว่า การที่คนโดยสารของรถไฟฟ้าสายสีม่วงที่เพิ่งดำเนินการในระยะแรกไปแล้วตั้งแต่ต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ต่ำกว่าเป้าที่คาดไว้มากมาย จะส่งผลให้ BEM มีอาการซวนเซทางการเงินรุนแรงหรือไม่ จึงมีคำเฉลยที่รวดเร็ว
คนที่ตอบชัดเจนคือ นายสมบัติ กิจจาลักษณ์ กรรมการผู้จัดการร่วมของ BEM นั่นเอง
นายสมบัติระบุว่า กรณีที่ผู้โดยสารรถไฟฟ้าสายสีม่วง บางใหญ่-เตาปูน ไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ว่าในปีแรกจะมีผู้โดยสารเฉลี่ย 1.2 แสนคนต่อวัน และในจำนวนนี้อีกครึ่งหนึ่ง หรือ 6 แสนคนต่อวัน จะเดินทางต่อเข้าระบบรถไฟฟ้าใต้ดินสายเฉลิมรัชมงคล…ถึงเวลาจริงกลับมีต่ำกว่าคาดค่อนข้างมาก
จะด้วยเหตุผลกลใด เช่นว่า 1) ค่าโดยสารแพงไป 2) รอยต่อที่ไม่เชื่อมกับรถไฟฟ้าใต้ดินที่ย่านเตาปูน หรือ 3) ย่านบางใหญ่-รัตนาธิเบศร์ นั้นมีคนเดินทางเบาบางเข้าออกเมือง ….หรือ ฯลฯ ก็สุดแท้แต่จะว่ากันไป
ข้อเท็จจริงที่ไม่สามารถกลบเกลื่อนได้คือ รถไฟฟ้าสายสีม่วงที่เปิดให้บริการมา มีผู้โดยสารเฉลี่ยที่ 20,000 คนต่อวัน และส่วนที่เดินทางเข้าใช้รถไฟฟ้าใต้ดิน เหลือแค่ 10,000 คนต่อวัน…ต่ำกว่าเป้า 83.3% ทั้งรถสายสีม่วง และรถไฟฟ้าใต้ดิน
รายได้จากการรับจ้างเดินรถสายสีม่วง กระทบไม่มาก แต่รายได้ที่คาดหวังว่าจะได้จากรถไฟฟ้าใต้ดินที่เพิ่มมากขึ้น ทำเอารายได้ BEM หดหายไปอื้อซ่า มีโอกาสขาดทุนต่อไปอีก
เรื่องนี้ นายสมบัติยอมรับว่ากระทบแน่นอน แต่…น้อยมาก
น้อยแค่ไหน? คำตอบคือ ผลกระทบเชิงลบต่อรายได้ที่พลาดเป้าของ BEM โดยเฉพาะจากยอดรายได้ที่ต่ำกว่าเป้าของรถไฟฟ้าใต้ดิน อยู่ที่ประมาณเล็กน้อย 800,000 บาทต่อเดือน
ไม่รู้ว่าคนพูด หรือคนฟัง สอบตกคณิตศาสตร์กันแน่ จากตัวเลขดังว่า…เอิ๊กกกก
สำหรับนักลงทุนนั้น คำพูดของนายสมบัติที่ว่า จะไม่มีผลกระทบต่อผลประกอบการโดยรวม และปีนี้ของ BEM เพราะไม่ว่าอย่างไรก็…ยังมีกำไรแน่นอน จะเป็นข้อเท็จจริง หรือแค่คำพูดปลอบโยน…ก็คิดและจินตนาการเอาเอง
แม้ว่าการแก้ปัญหาแบบ “วัวหายล้อมคอก” หรือ “ผักชีโรยหน้า”จะกระทำไปโดย บอร์ด รฟม.ลงมติไฟเขียวปรับลดค่าโดยสารสายสีม่วง ลงเฉลี่ย 30% เหลือ 14-29 บาท คาดเพิ่มผู้โดยสารอีก 30% จากช่วงเริ่มต้น ไปได้เปลาะหนึ่ง แต่นั่นก็ไม่ได้แก้รากฐานของปัญหา
เบื้องหลังของการคำนวณที่พลาดเป้ารุนแรง ชนิดไม่น่าให้อภัย ก็ไม่ได้มากจากไหน …แต่เกิดจากความมั่วของ รฟม.นั่นเอง …แทนที่จะดำเนินการให้รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินเส้น ท่าพระ-บางซื่อ และ หัวลำโพง-บางแค ที่เชื่อมเข้ากับรถไฟฟ้าใต้ดินโดยตรง สร้างเสร็จเสียก่อน แล้วทำสายสีม่วง กลับไม่ทำ แต่ปล่อยให้สร้างสายสีม่วงที่จะมาเชื่อมต่อกับสายสีน้ำเงินที่บางโพ
ความไม่ต่อเนื่องของการสร้างจุดเชื่อมต่อที่ควรจะเป็นขั้นตอน ทำให้เรื่องง่ายเป็นยากขึ้นมาชนิด “ลิงแก้แห” อย่างที่เห็น ต้องพึ่งพามาตรา 44 มาเร่งให้มีการเจรจารับงานเดินรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินบางซื่อ-ท่าพระ กับ หัวลำโพง-บางแค ของ BEM เพื่อให้สามารถเชื่อมสายสีม่วงเข้ากับส่วนต่อขยาย ของสายสีน้ำเงินโดยเร็วกว่าปกติ ผ่านคณะกรรมการตามมาตรา 35 และคณะกรรมการตามมาตรา 43…อะไรไปโน่น
คิดจะเล่นท่ายาก…โดยไม่จำเป็น..ก็อาจมีโอกาส “เดี้ยง”ด้วยประการฉะนี้
ราคาหุ้น BEM คงต่องแต่งไปแถวนี้ เพราะ อนาคตมีแน่ ….แต่ต้องรอนาน
“อิ อิ อิ”