ระบอบที่ยังไม่มีทางลงทายท้าวิชามาร
ร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติ ทำให้อำนาจ คสช.และอำนาจเฉพาะตัวของ “ลุงตู่” มั่นคง ใช้อำนาจตัดสินใจได้โต้งๆ ไม่ต้องกริ่งเกรงใคร ทั้งการดำเนินนโยบายรัฐบาลการจัดการความเห็นต่าง หรือการแก้ปัญหาภายใน เช่นแต่งตั้งโยกย้ายทหาร
ใบตองแห้ง
ร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติ ทำให้อำนาจ คสช.และอำนาจเฉพาะตัวของ “ลุงตู่” มั่นคง ใช้อำนาจตัดสินใจได้โต้งๆ ไม่ต้องกริ่งเกรงใคร ทั้งการดำเนินนโยบายรัฐบาลการจัดการความเห็นต่าง หรือการแก้ปัญหาภายใน เช่นแต่งตั้งโยกย้ายทหาร
แต่เมื่อมองไปข้างหน้า อนาคตที่จะเข้าสู่การปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญ กลับยังไม่เห็น “ทางลง” หรือจุดลงตัวที่เหมาะสม ทั้งที่อุตส่าห์ร่างรัฐธรรมนูญ “สืบทอดโครงสร้างอำนาจ” และเข็นจนผ่านประชามติ
แค่เริ่มต้น สนช.ก็ถกเถียงกับกรธ.ว่า ส.ว.แต่งตั้งมีอำนาจเสนอชื่อนายกฯ หรือไม่ แม้ กรธ.ยืนยันให้ ส.ส.เสนอเท่านั้น ก็ยังตั้งแง่กันไม่จบง่าย ทั้งที่โดยหลักกฎหมาย คำถามพ่วงเป็น “ข้อยกเว้น” การตีความข้อยกเว้น ต้องจำกัดชัดเจน จะต่อขยายอ้างผลพวงอะไรไม่ได้
ข้อสำคัญ ใครเสนอชื่อนายกฯ ไม่ใช่เรื่องใหญ่ เรื่องใหญ่คือรัฐธรรมนูญ+คำถามพ่วงเพียงให้อำนาจส.ว.ร่วมเลือกนายกฯ ได้ แต่ไม่ให้ร่วมลงมติไว้วางใจ โหวต พ.ร.บ.งบประมาณ หรือกฎหมายสำคัญ เหมือนรัฐธรรมนูญ 2521 ซึ่งแปลว่าส.ว.เลือกใครเป็นนายกฯ ไม่ว่าเป็นคนนอกคนใน ก็ต้องได้ ส.ส.สนับสนุนเกิน 250 คนอยู่ดี
ดูดีๆ นี่เหมือนวางสนุ้กกันไปมา เพราะด้านหนึ่ง ภายใต้กลไก ส.ว.สรรหา 250 คน นำโดย 6 ผบ.เหล่าทัพ ประกอบกับอำนาจศาล องค์กรอิสระ ที่ถอดถอนตัดสิทธินักการเมืองโดยง่าย แถมกลไกรัฐราชการ ส่วนใหญ่ก็แต่งตั้งจากยุคนี้ แม้แต่เด็กอมมือก็รู้ดี ว่าต่อให้ชนะ 375 เสียง พรรคการเมืองไม่มีทางได้เป็นรัฐบาล หรือเป็นได้ก็บริหารไม่ได้
แต่ในอีกด้านหนึ่ง ขณะที่เห็นกันว่ามีแต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เท่านั้นที่เป็นนายกฯได้ จนพูดกันไปถึง “เปรมโมเดล” กระทั่ง พล.อ.ประยุทธ์เองก็เห็นว่ามันไม่ง่าย เพราะวุฒิสภาไม่สามารถอุ้มรัฐบาลได้เหมือนรัฐธรรมนูญ 2521 ท่านจะต้องหาพรรคใหญ่ 1 พรรค พรรคกลาง 2-3 พรรค ต้องนับญาติกับนักการเมืองที่จะเป็นรัฐมนตรี ต้องขึ้นเวทีซดกับฝ่ายค้าน ต้องถูกสื่อวิพากษ์วิจารณ์ ต้องรับมือการเมืองมวลชน โดยไม่มี ม.44
ที่สำคัญ การเป็น “นักการเมือง” ในระบบอย่างนั้น มันฝืนทั้งนิสัยและภาพลักษณ์ของท่านเอง
ร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติ จึงมีผลแค่ทำให้ คสช.และ “ลุงตู่” อ้างความนิยม อ้างความชอบธรรม และใช้อำนาจได้เต็มที่ เช่นกระทั่งรัฐธรรมนูญถาวรจะประกาศใช้อยู่แล้ว ยังแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราวเพิ่ม สนช.จาก 220 เป็น 250 คน ซึ่งไม่เคยมี รัฐประหารครั้งไหนก็ไม่เคยทำ มีแต่ครั้งนี้ที่รัฐธรรมนูญผ่านแล้ว คสช.ครม.สนช. รวมทั้ง กรธ.ยังอยู่ยาวอีกปีกว่า เผลอๆ 2 ปี
แต่ในขั้นตอนที่จะ “ไปต่อ” คือไปสู่เลือกตั้ง มีรัฐบาลหลังเลือกตั้ง แม้พยายามออกแบบให้มี “นายกฯ คนนอก” พยายามออกแบบให้อำนาจที่ไม่มาจากเลือกตั้งอยู่เหนืออำนาจจากเลือกตั้ง ก็ยังมองไม่เห็นเลยว่า ระบอบนี้จะเป็นจริงได้อย่างไร
“เปรมโมเดล” เกิดไม่ได้ใน พ.ศ.นี้ เงื่อนไขที่มาไม่เหมือนกัน ระบอบป๋า 8 ปี เกิดจากการประนีประนอมระหว่างชนชั้นนำกับสังคม หลังเผด็จการยาวนาน 16 ปี เกิด 14 ตุลา เกิดประชาธิปไตย 3 ปี เกิด 6 ตุลา กลับสู่เผด็จการสุดโต่ง แล้วโค่นล้มกันเอง ถอยกลับมา “ครึ่งใบ” ซึ่งสังคมขณะนั้นพอยอมรับได้ ประกอบกับอุดมการณ์สังคมนิยมล่มสลาย พคท.แพ้ภัยตัวเอง พล.อ.เกรียงศักดิ์ พล.อ.เปรม จึงสามารถใช้ “การเมืองนำการทหาร” นำประเทศกลับสู่ภาวะปกติ
แต่สังคมวันนี้ กระแสหลักเพียงอยาก “สงบชั่วคราว” ไม่ใช่อยากกลับไป “ครึ่งใบ” ขณะที่อุดมการณ์ประชาธิปไตยก็ไม่ได้ล่มสลาย ไม่ได้พ่ายแพ้ แค่ถูกกดไว้รอขยาย