พาราสาวะถี อรชุน
กลายเป็นปัญหาชีวิตสำหรับรัฐบาลรัฐประหาร ในการที่จะต้องตอบแทนบรรดาน้องๆ ในกองทัพและข้าราชการที่จะเกษียณอายุราชการตลอดห้วงเวลาที่บริหารประเทศมา ปีที่แล้วหลังจากต้องพลิกโผยกเก้าอี้ผู้บัญชาการทหารบกให้ พลเอกธีระชัย นาควานิช ทั้ง พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ และ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องหาเก้าอี้ปลัดกระทรวงกลาโหมปลอบใจ พลเอกปรีชา จันทร์โอชา น้องชายของหัวหน้าคณะผู้ยึดอำนาจแทน
กลายเป็นปัญหาชีวิตสำหรับรัฐบาลรัฐประหาร ในการที่จะต้องตอบแทนบรรดาน้องๆ ในกองทัพและข้าราชการที่จะเกษียณอายุราชการตลอดห้วงเวลาที่บริหารประเทศมา ปีที่แล้วหลังจากต้องพลิกโผยกเก้าอี้ผู้บัญชาการทหารบกให้ พลเอกธีระชัย นาควานิช ทั้ง พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ และ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องหาเก้าอี้ปลัดกระทรวงกลาโหมปลอบใจ พลเอกปรีชา จันทร์โอชา น้องชายของหัวหน้าคณะผู้ยึดอำนาจแทน
มาปีนี้หลังจากที่ พลเอกพิสิทธิ์ สิทธิสาร ถูกคาดการณ์ประมาณว่านอนมาในตำแหน่งผบ.ทบ. แต่มาพลิกผันเอาในช่วงโค้งสุดท้าย ต้องรับประทานแห้ว ทั้งๆ ที่หมายมั่นปั้นมือเอาไว้แล้ว เพื่อไม่ให้เกิดความหมางใจกันระหว่างน้องเล็กกับพี่ใหญ่แห่งบูรพาพยัคฆ์ ในการประชุมครม.เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา จึงมีมติอนุมัติเปิดตำแหน่งอัตราประธานที่ปรึกษากระทรวงกลาโหมในอัตราจอมพลขึ้นมา
ยืนยันกันว่าเพื่อเป็นรางวัลปลอบใจบิ๊กแกละที่พลาดหวังจากเก้าอี้ผู้นำกองทัพบก ถือเป็นการเยียวยากันในแง่จิตใจของทั้งคนที่พลาดโอกาสและคนที่ออกแรงผลักดัน แต่งานนี้บิ๊กตู่เรียกร้อง ขออย่าคิดว่าเป็นการตอบแทนพวกพ้อง แต่ให้คิดถึงบุคคลที่ทำงานมาทั้งชีวิตเพื่อประเทศชาติ ซึ่งคนไม่มีฝีมือจะเข้ามารับตำแหน่งนี้ไม่ได้ ขณะที่บิ๊กป้อมยืนยันตำแหน่งนี้ไม่ใช่ของพลเอกพิสิทธิ์
คงไม่มีใครไปวิพากษ์วิจารณ์อะไรมากมาย ในเมื่อทุกอย่างอยู่ในข่ายที่สามารถทำได้ ดีที่ว่ายังไม่ถึงขั้นต้องใช้อำนาจตามมาตรา 44 แต่คนที่กำลังจะเกษียณแล้วเป็นที่อิจฉาของบรรดาข้าราชการทั้งหลายแหล่คงหนีไม่พ้นเจ้าของวลี “กบไม่เลือกนาย” อำพน กิตติอำพน เลขาธิการครม. เพราะได้รับฉันทานุมัติจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีให้นั่งที่ปรึกษานายกฯ ปฏิบัติหน้าที่ผู้ทรงคุณวุฒิประจำสำนักเลขาธิการครม.
ไม่ต้องถูกตะเพิดไปเลี้ยงหลาน เหมือน โอฬาร พิทักษ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ผู้ซึ่งปรากฏเป็นข่าวว่าจะได้เก้าอี้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์หลังเกษียณอายุราชการ ที่พอนักข่าวไปถามท่านผู้นำก็ได้รับคำตอบว่า “ไม่มี ผมไม่รู้จัก ไม่มี โอฬารเป็นใคร ใครคือโอฬาร” ก่อนจะตามมาด้วยวลีจะเอาอธิบดีมาเป็นรัฐมนตรีทำไม ส่วนที่จะเกษียณก็ให้เกษียณไป กลับบ้านไปเลี้ยงหลานโน่น
เป็นใครก็ต้องช้ำใจ แต่ก็อย่างว่าเรื่องของวาสนามันแข่งกันไม่ได้ ในรายของดอกเตอร์กบถือเป็นข้าราชการที่น่าศึกษากลยุทธ์ในการทำงานเป็นอย่างยิ่ง เพราะอยู่ทนอยู่นานนั่งในตำแหน่งซี 11 มาถึง 11 ปี ผ่านมาแล้วหลายรัฐบาล เขาอยู่รอดปลอดภัยมาได้อย่างไร แสดงว่าคอนเน็กชั่นไม่ธรรมดา ผิดกับข้าราชการบางคนที่เดิมทีคิดว่าน่าจะเป็นพวกหลิวลู่ลมแต่สุดท้ายก็ไปไม่รอด
คนที่น่าจะหยิบยกมาเป็นตัวอย่างศึกษาควบคู่ไปกับดอกเตอร์กบ นั่นก็คือ ธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีดีเอสไอ เพราะหลายคนจำภาพติดตากับการทำงานอย่างแข็งขันในการไล่บี้เอาผิดกลุ่มคนเสื้อแดงในยุคสมัยรัฐบาลเทพประทาน พออำนาจเปลี่ยนผ่านมาเป็นรัฐบาลยิ่งลักษณ์ หลายฝ่ายคาดการณ์กันว่าเจ้าตัวน่าจะถูกเชือดแน่ๆ
แต่ปรากฏว่า ไม่มีอะไรเกิดขึ้น เจ้าตัวยังเหนียวแน่นในตำแหน่งเดิมและทำงานสอดรับกับรัฐมนตรีจากพรรคนายใหญ่ชนิดเป็นปี่เป็นขลุ่ย จนหลายคนเริ่มสงสัยว่าเขาใช้วิชาการอะไรจึงทำให้เหนียวหนึบ แต่ปรากฏว่าหลังการยึดอำนาจของคสช. ธาริตก็ไม่อาจประคองตัวเองให้อยู่รอดปลอดภัยได้ มิหนำซ้ำ ยังมีคดีความถูกเล่นงานชนิดสะบักสะบอมทั้งครอบครัวเลยทีเดียว
นี่แหละคือชีวิตของข้าราชการ เมื่อการเมืองเปลี่ยนขั้วหรืออำนาจเปลี่ยนมือ มักจะหาความแน่นอนในชีวิตไม่ได้ เหมือนกันๆ บรรดาซี 10 และ ซี 11 จำนวนไม่น้อยที่ถูกแขวนกันเป็นกุรุสในกรุที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีนับตั้งแต่คสช.ยึดอำนาจ ด้วยข้อกล่าวหาใกล้ชิดกับกลุ่มอำนาจเก่า หากเป็นรัฐบาลปกติ ป่านนี้ผู้ออกคำสั่งถูกจัดการโดยองค์กรอิสระไปแล้ว
อย่างไรก็ตาม สำหรับตำแหน่งรัฐมนตรีที่คาดว่าจะมีการปูนบำเหน็จให้กับอดีตข้าราชการเกษียณนั้น สายตายังจับจ้องมองไปที่ พลเอกธีระชัยและ พลเอกกัมปนาท รุดดิษฐ์ สองผู้ยิ่งใหญ่จากกองทัพบกในฐานะน้องที่รู้ใจพี่ตู่ คงจะปล่อยให้กลับไปอยู่บ้านเลี้ยงหลานไม่ได้ แต่ในนาทีนี้ไม่แน่ใจว่า น้องเล็กจะสามารถตัดสินใจอย่างเด็ดขาดโดยได้รับเสียงเห็นดีเห็นงามจากพี่ใหญ่เหมือนที่ผ่านมาหรือเปล่า
ว่ากันว่า ผลแห่งการแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารรอบนี้ พี่ใหญ่เกิดอาการงอนน้องเล็กเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีการหักดิบกันในตำแหน่งที่สำคัญ พี่บอกไปแล้วว่าสรุปโผเรียบร้อยแต่น้องดันมารื้อและเปลี่ยนแปลงกันภายหลัง อย่างนี้มันหักหน้าทำให้เสียฟอร์มกันชัดๆ ด้วยเหตุนี้ในระยะหลังเมื่อนักข่าวไปสัมภาษณ์พี่ใหญ่จึงมักจะโยนทุกเรื่องให้ไปถามท่านผู้นำแต่เพียงผู้เดียว
ขณะที่โผแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารประจำปี ยืนยันมาจากบิ๊กตู่เป็นเรื่องของตนกับพลเอกประวิตรที่หารือร่วมกับผู้นำเหล่าทัพขอร้องอย่าลากเอา พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เข้ามาเกี่ยวข้อง คงต้องบอกว่าใครกันนะที่ใจร้ายไปใส่ไฟหาว่าป๋าเข้ามาจุ้นกับเรื่องพรรค์อย่างนี้ แต่กรณีที่ท่านผู้นำยอมรับว่าร่วมเคาะโผกันกับบิ๊กป้อมและคณะนั้น หากเป็นรัฐบาลปกติคงถูกยื่นให้ตรวจสอบไปแล้วเช่นกัน
ต้องไม่ลืมว่าในการพิจารณาแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารระดับนายพลนั้น ตามพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม 2551 จะต้องดำเนินการในรูปแบบของคณะกรรมการที่ประกอบไปด้วย รัฐมนตรีว่าการและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และปลัดกระทรวงกลาโหมเท่านั้น
คงไม่มีปัญหาอะไรในกรณีที่บิ๊กตู่บอกว่าได้ไปร่วมหารือกับคณะกรรมการดังว่า เพราะอำนาจตามมาตรา 44 นั้นสามารถสั่งการหรืออยู่เหนือระเบียบหรือข้อกฎหมายอื่นอยู่แล้ว และคงไม่ต้องไปถามหาความรับผิดชอบใดๆ แต่สิ่งหนึ่งที่หลายคนอดสงสัยไม่ได้ นี่ขนาดหารือกันแล้วโผยังพลิกจากที่ล็อกกันไว้แล้ว แสดงว่ายังมีอำนาจที่เหนือกว่าอำนาจขององค์รัฏฐาธิปัตย์เช่นนั้นหรือ
เหล่านี้คือ บริบทของการเมืองภายใต้คนมีสีที่อ้างว่าเกลียดกลัวการเมือง ทั้งที่แท้จริงแล้ว การเมืองภายในที่ว่าด้วยการแก่งแย่งอำนาจของบรรดาข้าราชการนั้น มันโหดร้ายหรือโหดเหี้ยมกว่าการแก่งแย่งช่วงชิงเก้าอี้ทางการเมืองเสียด้วยซ้ำ คงต้องรอดูกันอีกกระทอกสำหรับผู้พลาดหวังจากเก้าอี้สำคัญรวมทั้งคนที่จะเกษียณในสิ้นเดือนกันยายนนี้ ใครมีบารมีหรือพลังมากพอที่จะได้รับตำแหน่งสนช.เป็นรางวัลปลอบใจบ้าง