หมอเลี้ยบกับอมเรศขี่พายุ ทะลุฟ้า
“หมอเลี้ยบ” นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี โดนคำสั่งศาลฎีกาฯจำคุก 1 ปี ไม่รอลงอาญา ฐานตอนเป็นรมว.ไอซีทีช่วงปี 47 ได้เป็นผู้เสนอแก้ไขสัญญาสัมปทานดาวเทียมไทยคม อันมีบริษัท ชิน คอร์ปเป็นคู่สัญญา
ชาญชัย สงวนวงศ์
“หมอเลี้ยบ” นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี โดนคำสั่งศาลฎีกาฯจำคุก 1 ปี ไม่รอลงอาญา ฐานตอนเป็นรมว.ไอซีทีช่วงปี 47 ได้เป็นผู้เสนอแก้ไขสัญญาสัมปทานดาวเทียมไทยคม อันมีบริษัท ชิน คอร์ปเป็นคู่สัญญา
ออกจะเป็นเรื่องเชิงเทคนิคอยู่สักหน่อย ที่มีการขอแก้ไขสัญญาโดยลดการถือครองสัดส่วนถือหุ้นของชิน คอร์ปในไทยคมจาก 51% เป็น 40%
แต่ก็คงจะเป็นเหตุผลทางธุรกิจล่ะ เพราะขณะนั้นดาวเทียมไทยคม ขาดทุนบักโกรกเป็นหมื่นล้าน ความไม่สง่างามก็คงจะอยู่ที่เป็นการแก้ไขสัญญาขณะที่ทักษิณเป็นนายกรัฐมนตรีอยู่เท่านั้นแหละ
แต่ก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงอีกเหมือนกันว่า ฝ่ายใดเป็นผู้เสียหาย รัฐ บริษัท หรือประชาชน
ไล่เลี่ยกับคดี “หมอเลี้ยบ” ก็ยังมีคำพิพากษาศาลฎีกาคดีปรส. ที่มีนายอมเรศ ศิลาอ่อน และนายวิชรัตน์ วิจิตรวาทการเป็นจำเลยร่วม
คดีเกิดจากกรณีคำสั่งปิดสถาบันการเงิน 56 แห่ง ปรส.ที่มีนายอมเรศเป็นประธาน และนายวิชรัตน์เป็นเลขาธิการได้นำทรัพย์สินมูลค่า 8 แสนล้านบาทออกขายทอดตลาด
ขายได้เงินเข้ารัฐมาเพียง 2 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นเพียง 25%
มีข้อพิรุธมากมายในการขายทรัพย์สินในราคาต่ำ อาทิ ทำไมไม่ยอมขายคืนให้ลูกหนี้เดิม ซึ่งน่าจะได้ราคาสูงกว่า 50% คุณอมเรศก็อ้างว่า เรื่องนี้เป็นหลัก “มอร์รัล ฮาเซิร์ด” ที่ลูกหนี้ไม่ดีจะต้องโดนลงโทษ
วาณิชธนกิจฝรั่ง เข้ามารับจ้างเป็นที่ปรึกษาตีราคาและฉวยโอกาสเข้าร่วมประมูลด้วย คือบริษัทเลห์แมน บราเธอร์ส คุณอมเรศก็ออกมาแก้ต่างให้
อ้างกฎ “ไชนีส วอลล์” ยกย่องฝรั่งเสียเลิศลอยว่า เขามีธรรมาภิบาล แยกนิติบุคคล ทำธุรกรรมที่ต่างกัน ไม่มีเรื่องผลประโยชน์ขัดแย้ง
ไม่ใช่แค่ฝรั่งผมทองเจ้าเดียวหรอก ที่มารุมทึ้งประเทศไทย นอกจากเลห์แมน บราเธอร์สแล้ว ก็ยังมีโกลด์แมน แซคส์ และจีอี แคปปิตอล เป็นเจ้าใหญ่มารุมกินโต๊ะกันอย่างเมามัน
เรื่องฉาวโฉ่ที่ต้องเอาผ้าคลุมผืนใหญ่มาปิดกันให้วุ่นวาย ก็คือ กองทุนทั้งหลายที่มาซื้อทรัพย์สินเลหลังออกไป ล้วนแต่เป็น “กองทุนเถื่อน” ทั้งสิ้น
ปกติของเกณฑ์จัดตั้ง “กองทุน” ที่ก.ล.ต.เป็นผู้ถือกฎอยู่นั้น ไม่อนุญาตให้ใครเป็นเจ้าของ 100% ได้ ลักษณะจะต้องจัดตั้งเป็นกองทุนมหาชน คือมีผู้ถือหุ้นใหญ่ 33% ที่เหลือนอกจากนั้นก็ต้องระดมทุนให้ครบ 100
แต่นี่ใช้เกณฑ์ “ฟาสต์ แทร็กต์” รับประทานด่วนตามอำเภอใจ น่าจะผิดกฎหมายโดยแน่ชัด แต่ก็ได้รับการอะลุ้มอล่วยกันไป
ใครเป็นเลขาธิการก.ล.ต.ตอนนั้น ลองไปสืบค้นกันเอาเอง
ฎีกาคุณอมเรศว่ามีความผิด ทำให้รัฐเสียประโยชน์ แต่โทษจำให้รอลงอาญาเพราะอายุมากและเคยเป็นผู้ประกอบคุณงามความดี
ส่วน “หมอเลี้ยบ” นั้น โทษจำสถานเดียว ไม่มีรอลงอาญา
การเป็นผู้ผลักดันหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่ทุกรัฐบาลใช้บริการหมด น่าจะยังไม่ถึงขั้นเป็นผู้ประกอบคุณงามความดี