พาราสาวะถี อรชุน
ความจริงแล้วเรื่องการตายของอดีตเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดพังงา สาขาท้ายเมือง ผู้ต้องหาที่ใช้ถุงเท้าผูกคอกับบานพับประตูภายในห้องขังของอาคารกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ หลังถูกควบคุมตัวในคดีออกเอกสารสิทธิที่ดินโดยมิชอบหลายแปลงในจังหวัดภูเก็ตและพังงา ในแง่ของคดีการตายต้องว่ากันไปตามกระบวนการแม้จะเกิดวิวาทะระหว่างนายทหารที่เป็นหมอกับรัฐมนตรียุติธรรมก็ตาม
ความจริงแล้วเรื่องการตายของอดีตเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดพังงา สาขาท้ายเมือง ผู้ต้องหาที่ใช้ถุงเท้าผูกคอกับบานพับประตูภายในห้องขังของอาคารกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ หลังถูกควบคุมตัวในคดีออกเอกสารสิทธิที่ดินโดยมิชอบหลายแปลงในจังหวัดภูเก็ตและพังงา ในแง่ของคดีการตายต้องว่ากันไปตามกระบวนการแม้จะเกิดวิวาทะระหว่างนายทหารที่เป็นหมอกับรัฐมนตรียุติธรรมก็ตาม
สิ่งที่น่าสนใจในบริบทที่คสช.กำลังเข้มงวดกวดขันเรื่องของการถือครองและรุกล้ำที่ดินสาธารณะ จังหวะนี้น่าจะมีการตรวจสอบกระบวนการออกโฉนดที่ดินกันอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะพื้นที่เป้าหมายที่น่าจะมีปัญหามากที่สุดอันได้แก่ จังหวัดกระบี่ พังงา ภูเก็ตและสุราษฎร์ธานี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา น่าจะใช้มาตรา 44 เข้าไปจัดการให้ทุกอย่างโปร่งใสไร้ข้อครหา
มีการตั้งข้อสมมติฐานว่า หากรัฐบาลคสช.เอาจริงเอาจังสั่งเอ็กซเรย์ที่ดินในจังหวัดดังที่ว่ามาทุกตารางนิ้ว อาจจะพบว่าใครบ้างที่เป็นผู้ครอบครองและครอบครองหรือบุกรุกที่ดินที่สามารถออกโฉนดได้หรือไม่ หากทำกันแบบเอาจริงเอาจังแล้ว เชื่อได้ว่าจะสามารถจับกุมผู้ต้องหาทั้งที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งสมรู้ร่วมคิดช่วยบรรดาเศรษฐีทั้งหลายได้จำนวนมาก รวมไปถึงพวกที่ใช้เงินฟาดหัวให้เจ้าหน้าที่รัฐกระทำผิดด้วย
ส่วนเรื่องความเห็นที่ไม่ลงรอยกันระหว่างทหารหมอเจ้าของโรงพยาบาลและรัฐมนตรียุติธรรมนั้น ไม่ใช่สาระสำคัญ ถึงอย่างไรทั้งคู่ก็คอเดียวกัน เป็นพวกที่ไม่เอาระบอบทักษิณเหมือนกัน ดังนั้น เมื่อเป็นการมองต่างมุมแต่มีจุดประสงค์ในทางที่ดีไม่ต่างกัน จึงเป็นเพียงแค่เรื่องลิ้นกับฟัน ได้ยกหูคุยกันแป๊บเดียวเรื่องก็เงียบ ไม่เป็นไฟลามทุ่งทะเลาะไม่เลิกอย่างแน่นอน
คู่ที่น่าจับตามองว่าน่าจะเกิดการกินแหนงแคลงใจกันต่อไป น่าจะเป็นในส่วนของกรธ.กับศาลรัฐธรรมนูญมากกว่า อย่างที่ได้บอกไปคนอย่าง มีชัย ฤชุพันธุ์ ที่ได้ชื่อว่าเนติบริกรชั้นครู ในฐานะผู้ร่างกฎหมายสูงสุดของประเทศ ถูกหักหน้าด้วยเหตุผลเรื่องของงานธุรการด้านเอกสารแบบเด็กๆ ย่อมไม่ปล่อยให้เรื่องนี้ผ่านไปแบบง่ายๆ เหมือนไม่มีอะไรในกอไผ่อย่างแน่นอน
แม้บิ๊กตู่จะประกาศิตว่า ทั้งคู่เป็นผู้ใหญ่กันแล้วและมีจุดประสงค์เดียวกันคือเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ จึงไม่น่าจะมีความบาดหมางจนเป็นความขัดแย้งถึงขนาดที่หัวหน้าคสช.จะต้องเรียกมาเคลียร์ แต่หากฟังจากสิ่งที่มีชัยให้สัมภาษณ์ เรื่องขั้นตอนการยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญในชั้นต้นคงจะต้องสังคายนากันในชั้นของการร่างกฎหมายลูกประกอบรัฐธรรมนูญอย่างแน่นอน
นอกจากคำพูดดังกล่าวนี้ ถ้าจับท่าทีหรืออาการจากการให้สัมภาษณ์ของมีชัยนับตั้งแต่ถูกตีกลับเอกสารครั้งที่ 1 จนมาถึงครั้งที่ 2 บอกได้เลยว่าเป็นอาการหงุดหงิดในความเรื่องมากหรือจะเรียกว่างี่เง่าขององค์กรอิสระแห่งนี้เป็นอย่างมาก ถึงขนาดที่ยกเอารัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 มาขู่ นั่นแสดงให้เห็นว่า งานนี้มันไม่ใช่เรื่องของหลักการหรือกฎ ระเบียบอะไร แต่มันเป็นการให้เกียรติระหว่างองค์กรมากกว่า
สัปดาห์นี้ท่านผู้นำไม่อยู่เนื่องจากติดภารกิจบินไปร่วมประชุมผู้นำจี 20 ที่จีนระหว่างวันที่ 4-5 กันยายน จากนั้นก็จะบินต่อไปร่วมประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 28 และ 29 ต่อทันทีที่ประเทศลาว ซึ่งมีกำหนดการประชุมกันวันที่ 6-8 กันยายน ในระหว่างนี้บรรดาลิ่วล้อสอพลอทั้งหลาย คงจะได้ช่วงชิงพื้นที่ข่าวเสนอหน้ากันเป็นแถว ที่ยังไม่จางหายคงหนีไม่พ้นข้อเสนอที่ค้างมาของ ไพบูลย์ นิติตะวัน วันชัย สอนศิริ และ เสรี สุวรรณภานนท์
โดยรายหลังนั้นออกมาแก้ต่างแล้วว่า เรื่องการให้กระทรวงมหาดไทยมาจัดการเลือกตั้งนั้นไม่ใช่การถอยหลัง หากแต่เป็นเรื่องของกระบวนการที่เห็นว่าเจ้าหน้าที่มหาดไทยทำงานโดยปราศจากการครอบงำจากฝ่ายการเมืองได้ (จริงหรือ) ดีกว่ากกต.จังหวัดที่พบว่า นักการเมืองส่งคนเข้าไปทำหน้าที่หรือไม่ก็ไปแทรกแซง ควบคุมการปฏิบัติงาน
งานนี้คงเป็นหน้าที่ของกกต.กลางที่จะต้องออกมาปกป้องผู้ใต้บังคับบัญชา ถ้าไม่มีปฏิกิริยาใดๆ ก็เท่ากับเป็นการยอมรับสภาพ ทั้งๆ ที่ความเป็นจริงแล้ว เริ่มมีคนพูดกันมากขึ้นโดยเฉพาะเจ้าหน้าที่กกต.ที่บอกว่า ผู้ที่วางตัวไม่เป็นกลางหรือไม่อยากปฏิบัติหน้าที่จริงๆ นั้น น่าจะเป็นกกต.กลางหรือกรรมการกกต.ทั้ง 5 คนเสียมากกว่า อันจะเห็นได้จากการไม่อยากจัดการเลือกตั้งหรือจัดอย่างเสียมิได้ในการเลือกตั้งเมื่อ 2 กุมภาพันธุ์ 2557
ไม่เพียงเท่านั้น กรณีการจัดทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญที่เพิ่งผ่านไป ก็เห็นภาพได้อย่างชัดเจนว่า มีการตีความข้อกฎหมายประชามติไปในทางที่เอื้อประโยชน์ให้กับผู้มีอำนาจ ขณะที่ข้อคำถามเรื่องสิ่งที่ทำได้หรือไม่ได้ในการทำประชามติยังเป็นปริศนามาจนถึงทุกวันนี้ โดยที่ฝ่ายเห็นต่างถูกเล่นงานด้วยมาตรา 61 วรรค 2 ของกฎหมายประชามติพ่วงด้วยกฎหมายอื่น ขณะที่กกต.นั่งมองกันตาปริบๆ หรือเรียกได้ว่าไม่หือไม่อือใดๆ
อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอของสองสปท.อย่างวันชัยและเสรีนั้น หากเป็นฝ่ายตรงข้ามอาจมองได้ว่ามีอคติ แต่คนกันเองอย่าง ราเมศ รัตนเชวง ทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ ก็รับไม่ได้กับเรื่องนี้เหมือนกัน ถึงขั้นบอกว่า“เป็นข้อเสนอปัญญาอ่อน” ในฐานะนักกฎหมายระดับวันชัยและเสรีน่าจะเข้าใจ ส่วนจะแกล้งโง่หรือคิดไม่ได้นั่นก็อีกเรื่องหนึ่ง
แต่ที่ราเมศเห็นไม่ต่างจากคนอื่นก็คือ ในฐานะที่ทั้งสองคนเป็นสปท. อยากให้พูดจาในหลักเกณฑ์ ไม่ใช่สอพลอเพื่อหวังเป็นส.ว.ในอนาคต ยิ่งวันชัยระบุว่า คนที่คัดค้านเรื่องดังกล่าวมีแต่นักการเมืองชั่ว ซึ่งคงลืมคิดไปว่าทุกอาชีพมีทั้งคนดีและไม่ดี ทั้งๆ ที่นักการเมืองมาจากประชาชน แต่คนอย่างวันชัยมาจากการแต่งตั้ง วันชัยมีข้อเสนอแนวนี้เยอะมาก แต่ไม่มีนักการเมืองคนไหนออกมาด่าว่าเป็นการเสนอที่ชั่วช้า
นี่แหละคือความต่างระหว่างพวกได้ดีจากลากตั้งกับนักการเมืองอาชีพ เพราะคนที่เป็นนักการเมืองไม่ว่าจะแพ้หรือชนะเขาจะไม่อ้างคะแนนเสียงของประชาชนที่สนับสนุน แต่พวกลากตั้งหลังการประชามติร่างรัฐธรรมนูญเที่ยวนำ 16 ล้านเสียงไปโพนทะนาอ้างความชอบธรรมในการที่จะทำโน่นนี่สารพัดตามแต่ที่สมองพอจะคิดได้ ทั้งๆ ที่รู้กันอยู่แก่ใจว่า ในการทำประชามตินั้นเป็นกระบวนการที่ชอบธรรมหรือไม่