กม.คุมซื้อขายหุ้นลูบคมตลาดทุน
ตลาดหุ้นไทยที่ร่วงลงวานนี้ เข้าใจว่านักลงทุนต่างทราบดีว่ามาจากเหตุใด
ธนะชัย ณ นคร
ตลาดหุ้นไทยที่ร่วงลงวานนี้ เข้าใจว่านักลงทุนต่างทราบดีว่ามาจากเหตุใด
บรรดานักวิเคราะห์ก็ทราบ
แต่เมื่อผู้สื่อข่าวมาถาม นักวิเคราะห์ก็ต้องตอบ และก็จะตอบออกไปในแนวเชิงสัญญาณเทคนิค มีการขายทำกำไร พร้อมแนะนำว่าเป็นโอกาสในการเข้าซื้อหุ้นพื้นฐานดี แต่ราคาถูก
ดังนั้น ก็รีบๆ เข้าไปซื้อซะ
ส่วนเมื่อวันศุกร์ ที่ดัชนีปรับลงมากว่า 18 จุด
บางคนบอกว่า เป็นการขายทำกำไร และกองทุนพอเห็นควันไฟ และอาจเกิดเพลิงไหม้ ก็ขาย(หุ้น)ทิ้งไปก่อน
เป็นเรื่องปกติของนักลงทุนสถาบัน
ส่วนบางคนบอกว่ามาจากเรื่องกฎหมายคุมการซื้อขายหุ้นที่ สนช.เพิ่งจะมีมติเอกฉันท์ไปเมื่อคืนวันพฤหัสฯ ที่ 1 กันยายนที่ผ่านมา
เท่าที่คุยกับนักวิเคราะห์
ต่างบอกว่า ไม่น่าจะเกี่ยวกับประเด็นหลังเท่าไหร่นะ
สำหรับเรื่องของกฎหมายการควบคุมการซื้อขายหุ้น และการวิเคราะห์ข่าวแบบส่งเดช เรื่องนี้เป็นข่าวมาก่อนหน้านี้แล้ว
การแก้ไขครั้งนี้ เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมของ พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535
ส่วนตัวนั้น การแก้กฎหมายดังกล่าว น่าจะเพื่อต้องการควบคุมข่าวปล่อยที่เกี่ยวกับหุ้นในหลายๆ ตัว ผ่านช่องทางออนไลน์ต่างๆ ที่กำลังฮอตฮิตกันมากๆ
ที่ผ่านมานั้น มีหลายคน(ไม่มีใบอนุญาต)ทำตัวเป็น “กูรู” วิเคราะห์หุ้นผ่านโซเชียลกันสนุกสนาน
ถูกบ้าง ผิดบ้าง
กฎหมายเดิมที่ใช้อยู่ อาจไม่ได้ผลมากนัก และโทษยังค่อนข้างต่ำ จึงเพิ่มโทษทางอาญาเข้าไปด้วย จะได้ให้ดูน่าเกรงกลัวกันมากขึ้น
ทว่า ไม่รู้จะได้ผลหรือเปล่า
เพราะข่าวที่ปล่อยออกมา มาจากมือที่มองไม่เห็น
และเมื่อมีผู้รับ ก็จะมีการส่งต่อไป กันไป นัยสำคัญว่าเป็นลายแทงหุ้นของวันนั้น
แต่ก็มีมุมมองจากนักวิเคราะห์คนอื่นๆ ที่แตกต่างกันออกไป เกี่ยวกับการแก้ไขกฎหมายการควบคุมการให้ข้อมูลหุ้นต่างๆ เหล่านั้น ว่าอาจจะกระทบกับนักวิเคราะห์ด้วย
เช่น หากผู้บริหารของ บจ.ไม่ยอมเปิดเผยข้อมูล นักวิเคราะห์ก็จะทำงานลำบาก
ที่ผ่านมานั้น มีผู้บริหารจาก บจ. หลายแห่ง ไม่ค่อยยอมให้นักวิเคราะห์เข้าพบ
แต่กลับให้กลุ่มคนบางกลุ่มเข้าพบ แล้วให้ข้อมูลที่เกี่ยวกับ บจ. และหลังจากนั้น ก็นำข้อมูลไปเปิดเผยผ่านช่องทางโซเชียลต่างๆ
กรณีเช่นนี้ และพฤติกรรมแบบนี้ ส่วนใหญ่ต้องการ “สร้างราคาหุ้น” กันชัดเจน
เมื่อเป็นเช่นนั้น อาจทำให้นักวิเคราะห์ทำข้อมูลหุ้นตัวนั้นๆ มีความคลาดเคลื่อนสูงได้ เพราะไม่ได้รับข้อมูลจากผู้บริหารโดยตรง
คำถามคือ หากนักวิเคราะห์ ให้ข้อมูลคลาดเคลื่อนไปจากข้อเท็จจริงไม่ว่าจะมากหรือน้อย มีความผิดหรือไม่
นักวิเคราะห์นั้นมีไลเซนส์ มีตัวตนที่อยู่ชัดเจน ถูกล็อกตัวได้ง่ายกว่าพวกปล่อยข่าวตามโซเชียล
กรณีเช่นนี้ ก็จะคล้ายๆ กับที่ทางคณะกรรมการ ก.ล.ต.จะออกกฎเกณฑ์ห้ามผู้บริหารของ บจ.ออกมาพูดเรื่องคาดการณ์ผลประกอบการบริษัทตนเองที่ผิดไปจากข้อเท็จจริง
สมมุติว่า หากผู้บริหาร บจ.ออกมาบอกว่า ปีนี้จะเติบโต10%
พอผลประกอบการสิ้นปีออกมา แล้วกลับติดลบ อาจด้วยเหตุสุดวิสัย
ก็มีคำถามว่า แล้วผู้บริหาร บจ.จะมีความผิดหรือไม่
หรือ ก.ล.ต.จะใช้หลักการอะไรเข้ามาพิจารณาความเป็นไปได้ หรือเป็นไปไม่ได้ถึงแนวโน้มผลประกอบการของ บจ.แห่งนั้นๆ
ตลาดหุ้นนั้นหากเป็น Free Market ก็จะมีทั้งข้อดีและข้อเสีย
หากเป็น Free Market มากไปก็อาจจะไม่ดี เพราะเป็นช่องทางทำให้เกิดการปั่นหุ้นได้
แต่หากมีการควบคุมมากเกินไป จนตลาดเข้าสู่การบริหารแบบ Market Control ก็ไม่ดีเช่นกัน เพราะต่างจะระมัดระวังกันมากเกินไป กระทั่งเป็นอุปสรรคต่อการเติบโต