KTAM ออกกองตราสารหนี้ KTFF113 อายุ 3 เดือน ชูผลตอบแทน 1.40% เสนอขายวันนี้ถึง 20 ก.ย.59

KTAM ออกกองตราสารหนี้ KTFF113 เน้นลงทุนตราสารหนี้ต่างประเทศ อายุ 3 เดือน ชูผลตอบแทน 1.40% ต่อปี เสนอขายวันนี้ถึง 20 ก.ย.59


นางชวินดา หาญรัตนกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ บลจ.กรุงไทย เปิดเผยว่า บริษัทเปิดจำหน่ายกองทุนเปิดกรุงไทยตราสารหนี้ เอฟไอเอฟ 113 (KTFF113)  อายุ  3 เดือน  เสนอขายตั้งแต่วันนี้ถึง วันที่ 20 กันยายน 2559 เน้นลงทุนตราสารหนี้ต่างประเทศ เช่น เงินฝากประจำ  Bank of China  (Macau), PT  BANK  RAKYAT INDONESIA (PERSERO) Tbk, China Construction Bank, Ahli Bank QSC  และตั๋วเงินคลัง ประเทศญี่ปุ่น ผลตอบแทนประมาณ 1.40% ต่อปี

นอกจากนี้ ยังอยู่ในระหว่างการเปิดจำหน่ายรอบใหม่ (Roll Over) กองทุนเปิดกรุงไทยสมาร์ทอินเวส 6 เดือน 6 (KTSIV6M6)  อายุ 6 เดือน  เสนอขาย ถึงวันที่ 16 กันยายน 2559   เน้นลงทุนพันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย ตราสารหนี้ธนาคารพาณิชย์ ได้แก่ ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย  ธนาคารเกียรตินาคิน และตราสารหนี้ภาคเอกชน ได้แก่ บัตรกรุงไทย เอเชียเสริมกิจลิสซิ่ง และแสนสิริ ผลตอบแทนประมาณ 1.35% ต่อปี

นางชวินดา กล่าวว่า แนวโน้มอัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ในประเทศอายุตั้งแต่ 2 ปี ขึ้นไปมีการปรับตัวลดลงตามแรงซื้อกลับ หลังจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นค่อนข้างมากในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ในขณะที่ข้อมูลเศรษฐกิจหลายตัวที่จะมีผลต่อการตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ออกมาผสมผสานกัน

ส่วนอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอเมริกาอายุตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไปมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นตามแรงขาย หลังจากตลาดผิดหวังต่อผลการประชุม ธนาคารกลางยุโรป (ECB)  ที่ไม่มีการผ่อนคลายเพิ่มเติม และสะท้อนความกังวลเกี่ยวกับการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ในวันที่ 20-21 กันยายนหลังเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเฟดออกมาแสดงความเห็นว่าเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาอาจมีความเสี่ยงหากขึ้นดอกเบี้ยช้าไป โดยสรุปอัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้อายุคงเหลือ 2 ปี ปรับตัวลดลง 1 bps. มาอยู่ที่ 0.79% ต่อปี อายุคงเหลือ 5 ปี ปรับตัวเพิ่มขึ้น 3 bps. มาอยู่ที่ 1.23% ต่อปี และอายุคงเหลือ 10 ปี ปรับตัวเพิ่มขึ้น 7 bps.มาอยู่ที่ 1.67% ต่อปี

สำหรับปัจจัยที่ต้องติดตามในสัปดาห์นี้จะเป็นแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด แนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาและเศรษฐกิจโลก แนวโน้มราคาน้ำมัน ผลกระทบของ Brexit ต่อสหภาพยุโรป(อียู) และสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศ

 

Back to top button