ปีแห่งการลงทุนขี่พายุ ทะลุฟ้า
วันนี้เมื่อปีที่แล้ว ดัชนีหลักทรัพย์อยู่ที่ 1,370 จุด มาปีนี้ ดัชนีอยู่ที่ 1,463 จุด ดัชนีปรับตัวขึ้นเกือบ 100 จุด เท่ากับอายุข่าวหุ้นธุรกิจช่วงครบรอบ 22 ปี กับการเวียนมาบรรจบครบรอบ 23 ปีในปีนี้ ดัชนีปรับตัวขึ้นมาเกือบ 100 จุดเช่นกัน
ชาญชัย สงวนวงศ์
วันนี้เมื่อปีที่แล้ว ดัชนีหลักทรัพย์อยู่ที่ 1,370 จุด มาปีนี้ ดัชนีอยู่ที่ 1,463 จุด ดัชนีปรับตัวขึ้นเกือบ 100 จุด เท่ากับอายุข่าวหุ้นธุรกิจช่วงครบรอบ 22 ปี กับการเวียนมาบรรจบครบรอบ 23 ปีในปีนี้ ดัชนีปรับตัวขึ้นมาเกือบ 100 จุดเช่นกัน
ต้องถือเป็นพัฒนาการตลาดทุน และต้องยอมรับถึงข้อเท็จจริงว่า การปฏิวัติรัฐประหาร อันเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกับแนวทางประชาธิปไตยสากล มิได้ทำให้ตลาดหุ้นไทยตกต่ำลงเลย
การรัฐประหารครั้งปี 2549 ก็พิสูจน์บทสรุปดังกล่าวให้เห็นมาครั้งหนึ่งแล้ว
ผ่านมา 2 ครั้งแล้ว จะเรียกว่า “รัฐประหารไทย ไม่ใช่ของแสลงสำหรับตลาดหุ้นไทย” ก็คงไม่ผิดนัก
ยิ่งร่างรัฐธรรมนูญได้รับแรงสนับสนุนท่วมท้นจากประชามติ ก็ยิ่งทำให้รัฐบาลเดินหน้าแผนการลงทุนขนาดใหญ่ของรัฐได้อย่างสะดวกราบรื่นมากยิ่งขึ้น
การลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ เปรียบเหมือน “ยิงกระสุนนัดเดียว ได้นก 2 ตัว” อันจะช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนโครงสร้างพื้นฐาน และเป็น “ยาวิเศษ” ปลุกความซบเซาทางเศรษฐกิจได้อย่างเห็นผลทันตา
ฉะนั้น จากนี้ไปจนถึงปีหน้า 2560 จึงควรเป็นปีแห่งการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่โดยแท้จริง
โครงการรถไฟทางคู่ ที่ถึงก็ช่าง ไม่ถึงก็ช่างมานาน ด้วยความไม่มุ่งมั่นเอาจริงของรัฐบาลที่ผ่านๆ มา ถ้ารัฐบาลสามารถเปิดประมูลและลงนามเซ็นสัญญาให้ครบทั้ง 4 ภาคได้ภายในปีหน้า ก็จะถือเป็นผลงานใหญ่หลวงที่จะได้รับการจดจำไปอีกนานแสนนาน
บางทีการพัฒนารถไฟทางคู่ พร้อมไปกับการปรับเปลี่ยนหัวรถจักรขบวนรถให้มีความเร็วสูงขึ้น อาจทำให้ความจำเป็นที่ต้องพึ่งพารถไฟความเร็วสูงด้วยรางมาตรฐาน “สแตนดาร์ด เกจ” ลดน้อยลงก็เป็นไปได้
การสร้างรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน 10 สายที่เป็นแผนต่อเนื่องมาจากรัฐบาลก่อนๆ ก็สมควรจะได้ปูพรมเดินหน้าจัดทำให้ครบอย่างต่อเนื่อง
ในการก่อสร้างเส้นทางรถไฟฟ้าแต่ละสาย ก็สมควรอย่างยิ่งจะสรุปบทเรียนเก่าที่ผิดพลาด โดยการสร้างแบบพร้อมเปิดใช้ปีละ 1-2 สถานีได้
ไม่ควรจะรอให้สร้างเสร็จก่อนทั้งเส้นทาง จึงค่อยเปิดใช้งาน
การทยอยเปิดใช้งาน แทนที่จะต้องรอ 6 ปีให้การก่อสร้างสำเร็จทั้งเส้นก่อนค่อยเปิดใช้ จะช่วยบรรเทาการจราจรระหว่างการก่อสร้างได้เป็นอันมาก เพียงแค่ 2-3 ปีก็อาจจะได้ใช้งานแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงมือก่อสร้างจากจุดเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟฟ้าสายอื่นไป
ปัญหาแบบเดียวกับการขาดจุดเชื่อมต่อ 1 กม.ของรถไฟฟ้าสายสีม่วง ก็จะไม่เกิดขึ้น!
การขยายการลงทุนเฟส 2 และเฟส 3 สุวรรณภูมิ ที่จำเป็นจะต้องมีรันเวย์ที่ 3 และอาคารผู้โดยสารเพิ่มอีก 1 อาคาร ก็มีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพราะขณะนี้สุวรรณภูมิที่มีขนาดความจุผู้โดยสาร 45 ล้านคน/ปี มีความแออัดยัดเยียด ล้นทะลักความจุไปแล้ว
ส่วนเรื่องรถไฟความเร็วสูง เป็นการลงทุนที่ค่อนข้างจะสลับซับซ้อน เต็มไปด้วยปัญหาเชิงเทคนิคมากมาย ถ้าสามารถพัฒนาระบบรถไฟทางคู่ ซึ่งในอนาคตก็ควรจะเป็นรถไฟฟ้าทั้งหมด ก็อาจจะมีความจำเป็นน้อยลง
นอกจากนี้ การเริ่มต้นโครงการรถไฟความเร็วสูงโดยการจำกัดความร่วมมือไว้ที่จีนและญี่ปุ่น แทนจะเลือกเอาเทคโนโลยีจากประเทศต่างๆ โดยเสรี ก็สุ่มเสี่ยงจะทำให้ประเทศชาติเสียเปรียบ
การเล็งเป้าลงทุนโครงการขนาดใหญ่ที่ให้ประโยชน์ตรงจุด โดยไม่ลงทุนอย่างสะเปะสะปะ จะทำให้โครงการลงทุนซ่อมสร้างประเทศ เกิดมรรคผลเป็นจริงยิ่งขึ้น
โครงการลงทุนที่เพ้อฝันเกินไป อาทิ โครงการเศรษฐกิจพิเศษ เศรษฐกิจชายแดน หรือโครงการซุปเปอร์ อีสเทิร์น ซีบอร์ด ที่พื้นที่เดิมก็แออัดมากมายอยู่แล้ว จะทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างสะเปะสะปะเป็นเบี้ยหัวแตก
โครงการที่จำเป็นและได้ประโยชน์จะไม่ได้แจ้งเกิดเอา
หวังว่าปี 60 จะเป็นปีแห่งการลงทุน ซึ่งจะทำให้ประเทศชาติสว่างไสวโดยแท้จริง