พาราสาวะถี อรชุน
เงื้อง่าราคาแพงมานาน ในที่สุดเมื่อสองวันก่อน อภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ก็จรดปากกาลงนามเรียกค่าเสียหายจากการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐหรือจีทูจีเก๊ เป็นเงิน 2 หมื่นล้านบาท งานนี้คงไม่ต้องบอกว่าเต็มใจหรือเลี่ยงไม่ได้ เช่นเดียวกัน ชุติมา บุญยประภัสร ปลัดพาณิชย์ที่ต้องลงนามคู่กัน เพราะหากมองย้อนกลับไปยังหนังสือทวงถามจาก พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มีมานานตั้งแต่เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาโน่นแล้ว
เงื้อง่าราคาแพงมานาน ในที่สุดเมื่อสองวันก่อน อภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ก็จรดปากกาลงนามเรียกค่าเสียหายจากการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐหรือจีทูจีเก๊ เป็นเงิน 2 หมื่นล้านบาท งานนี้คงไม่ต้องบอกว่าเต็มใจหรือเลี่ยงไม่ได้ เช่นเดียวกัน ชุติมา บุญยประภัสร ปลัดพาณิชย์ที่ต้องลงนามคู่กัน เพราะหากมองย้อนกลับไปยังหนังสือทวงถามจาก พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มีมานานตั้งแต่เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาโน่นแล้ว
มิหนำซ้ำ ก่อนที่รัฐมนตรีพาณิชย์จะยอมเซ็น ก็มีข่าวในช่วงเช้าจาก พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรัฐมนตรีกลาโหมยืนยันกันแบบข้ามกระทรวง แต่ในฐานะรักษาการนายกรัฐมนตรีว่า เจ้ากระทรวงพาณิชย์เซ็นแน่ เมื่อเป็นเช่นนั้นก็คงไม่ต้องบอกว่าเป็นการเต็มใจและยินดี เพราะก่อนหน้านั้นก็มีข่าวว่าเจ้าตัวมอบอำนาจต่อไปให้ปลัดกระทรวงพาณิชย์เซ็นแทน
การโยนลูกกันไปมาในลักษณะเช่นนี้ย่อมทำให้เกิดคำถามว่า หากทุกอย่างเป็นการทุจริตและจะต้องเอาผิดกันตามครรลอง เหตุใดจึงไม่มีใครกล้าลงนาม ไล่ตั้งแต่ท่านผู้นำมอบอำนาจให้รัฐมนตรีพาณิชย์ดำเนินการแทน จากนั้นรัฐมนตรีก็มอบอำนาจอีกช่วงไปให้ปลัดกระทรวงดำเนินการแทน มันส่อแสดงถึงนัยบางอย่างแอบแฝง
แม้ตัวปลัดฯ จะยืนยันว่าพร้อมเซ็น เพราะบิ๊กตู่ไล่บี้ถามมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม แต่กับอายุราชการที่เหลืออีกแค่ 2 สัปดาห์ การจะลงนามแบบเดี่ยวๆ คงไม่มีใครกล้าเอาเกียรติยศของตัวเองและวงศ์ตระกูลไปเสี่ยงกับเรื่องนี้ ต้องไม่ลืมว่า วันนี้อาจไม่มีความผิดเพราะมาตรา 44 คุ้มครองอยู่ แต่ในวันที่มาตรายาวิเศษหมดฤทธิ์เดชไปแล้ว ผู้มีอำนาจเวลานี้จะมีอะไรไปคุ้มกะลาหัว
สิ่งที่หลายคนตั้งข้อสังเกตก็คือ เมื่อเห็นว่าทุกอย่างทุจริตและประพฤติมิชอบจริง ทำไมหัวหน้าคสช.ถึงไม่ยอมลงนามเอง เพราะแม้จะหมดฤทธิ์เดชของมาตรา 44 ไปแล้ว แต่ในฐานะคสช.บรรดาการกระทำทั้งหมด จะได้งดเว้นความผิดจากการนิรโทษกรรมตามรัฐธรรมนูญที่บัญญัติไว้ มียาดีขนาดนี้แล้วทำไมจึงต้องผลักภาระไปให้ข้าราชการประจำมาทำแทน
เรื่องนี้มีลับลมคมในแน่นอน มิเช่นนั้น คงไม่เกิดข่าวที่ว่าที่ปลัดกระทรวงพาณิชย์อย่าง วิบูลย์ลักษณ์ ร่วมลักษณ์ ถึงกับออกปาก หากขึ้นดำรงตำแหน่งอย่างเป็นทางการแล้ว หากถูกบังคับให้ต้องเซ็นคำสั่งเรียกค่าเสียหายดังว่าจะขอลาออกจากตำแหน่งทันที คนที่ได้ชื่อว่าข้าราชการความฝันอันสูงสุดคือเก้าอี้ปลัดกระทรวง ถึงขนาดที่ประกาศจะทิ้งเก้าอี้ล่วงหน้าถ้าต้องทำเรื่องนี้ ย่อมมีอะไรที่ไม่ธรรมดาซ่อนอยู่
ยังคงเป็นเครื่องหมายคำถามที่หากยอมรับความเป็นจริงกันก็พอที่จะรู้คำตอบอยู่แล้วว่าผลจะเป็นอย่างไร นั่นก็คือ การสร้างความปรองดองภายใต้การบริหารของรัฐบาลคสช. เอาแค่เวทีของขบวนการประชาธิปไตยใหม่เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ในช่วงที่ “บก.ลายจุด” สมบัติ บุญงามอนงค์ แลกเปลี่ยนความเห็นกับ แทนคุณ จิตต์อิสระ ก็เห็นภาพแล้วว่ายากที่คนสองฝ่ายจะเดินบนถนนสายเดียวกันได้
ไม่ได้หมายถึงบก.ลายจุดและแทนคุณ แต่หมายถึงระหว่างคนของพรรคประชาธิปัตย์กับฝ่ายที่สนับสนุนระบอบทักษิณ เพราะเวทีดังกล่าวเมื่อมีการพูดถึงประเด็นเรื่องพ.ร.บ.นิรโทษกรรมสุดซอย แทนคุณก็สนับสนุน สุเทพ เทือกสุบรรณ ที่ออกมาเคลื่อนไหวและเห็นว่าเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องแล้ว ผู้ที่อยู่ในห้องประชุมส่วนหนึ่งก็ตอบโต้ทันที
ด้วยคำถามที่ว่า ในเมื่อรัฐบาลยิ่งลักษณ์ยอมถอนพ.ร.บ.นิรโทษกรรมและยุบสภาเลือกตั้งใหม่ ทำไมจึงไม่ใช้กลไกตามระบบรัฐสภาในการแก้ไขปัญหาทางการเมือง สุดท้ายก็ไม่มีใครฟังใคร จนผู้จัดงานต้องตัดสินใจยุติการแลกเปลี่ยนความเห็นโดยทันที เพียงแค่ประเด็นนี้ประเด็นเดียวยังฟังกันไม่ได้ จึงมองภาพไม่ออกว่าหนทางของความสมานฉันท์นั้นมันจะเกิดขึ้นได้อย่างไร
ตรงนี้ก็ต้องย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้นของขบวนการสร้างความแตกแยกในบ้านเมือง แล้วตามติดมาด้วยการสร้างความเกลียดชัง จนสุดท้ายจากสังคมที่รับฟังกันและพร้อมให้อภัยกัน กลายเป็นไม่มีใครยอมใคร วันนี้จะถามถึงสังคมไทยที่เหมือนในอดีตนั้นเป็นเรื่องยากไปเสียแล้ว แม้กระทั่งในแวดวงวิชาการเองที่ต้องเปิดใจให้กว้าง ยังเต็มไปด้วยพวกใจแคบที่ใช้อคติส่วนตัวมาบดบังความถูกต้องไปเสียฉิบ
มุมของบก.ลายจุดต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น น่ารับฟังเป็นที่สุด โดยเขาบอกว่า ตนไม่ได้เห็นด้วยกับแทนคุณหรอก แต่ก็ไม่ได้เห็นต่างกับแทนคุณในทุกๆ เรื่องเช่นกัน สิ่งที่เรียนรู้ในการใช้ชีวิตกับคนที่แตกต่างกัน ไม่ใช่การเรียนรู้แล้วเราเปลี่ยนแปลง ตนเดินออกมาก็ยังรู้สึกว่าตนเหมือนเดิม แต่สิ่งที่ตนเรียนรู้เพิ่มขึ้นคือเข้าใจว่าทำไมคนจึงคิดไม่เหมือนกับเรา คิดว่าเรื่องนี้สำคัญ
บก.ลายจุดคาดหวังว่าเวทีวันนั้น จะพาให้ทุกคนได้ฟังในสิ่งที่บางคนไม่เห็นด้วย และเข้าใจในสิ่งที่ไม่เห็นด้วย ไม่อย่างนั้นก็จะมโนเอาว่าเขาเป็นอย่างไหน เป็นอย่างนู้นอย่างนี้ ถ้าเราฟังแล้วชัดเจนว่าอ๋อทำไมเขาเห็นต่างจากเรา ก็เพราะเขาคิดแบบนี้ แล้วต่อให้คุณไม่เห็นด้วย มันก็ดีกว่าการที่เรามโนว่าเขาเป็นนู่นนี่นั่น สังคมไทยมันขาดโอกาสแบบนี้
เราต้องพาตัวเองไปรับฟังความเห็นที่แตกต่าง และต่อให้เป็นความเห็นที่แตกต่างแล้วเราไม่เห็นด้วย แต่เราต้องรับฟัง จุดยืนตรงนี้ต้องยอมรับสำหรับบก.ลายจุด เพราะเจ้าตัวได้แสดงให้เห็นมาอย่างต่อเนื่อง มิเช่นนั้น คงไม่ประกาศว่าโอกาสหน้าจะมีเวทีแบบนี้อีก และก็ยินดีไปพรรคประชาธิปัตย์และอยู่จนเวทีปิด นี่คือคนที่เคลื่อนไหวทางการเมืองโดยไม่ได้อิงแอบกับนักการเมืองและพรรคการเมือง
เรื่องการยอมรับฟังความเห็นที่แตกต่างนี่เป็นสิ่งสำคัญ ไม่ใช่เฉพาะกลุ่มที่เห็นต่างเท่านั้น หากแต่รวมไปถึงผู้ที่มีอำนาจด้วย จากแรกเริ่มเดิมทีที่ดูเหมือนจะวางตัวเป็นกลางทำตัวเป็นกรรมการที่ผดุงไว้ซึ่งความยุติธรรม แต่ยิ่งนานวันยิ่งปรากฏเด่นชัดว่า ไม่ได้ยืนอยู่ในจุดที่ควรจะเป็น เหมือนอย่างที่ย้ำมาหลายหนกรรมการกำลังทำตัวเป็นคู่ขัดแย้งเสียเอง
ส่วนที่บรรเลงสงครามน้ำลายกันไม่เลิกคือสปท. หลัง วันชัย สอนศิริ กล่าวหานักการเมืองเลว บรรดาคนการเมืองที่อยู่ในนั้นต่างเต้นกันเป็นแถว ล่าสุดเจ้าตัวต้องออกมายกยอปอปั้นคนเหล่านั้นว่าเป็นคนดีเสมือนผู้วิเศษ แต่น่าจะเป็นพวกไก่เห็นตีนงู นักการเมืองในสปท.จึงไม่หลงคำป้อยอของวันชัย นี่ก็เป็นอีกหนึ่งภาพของพวกลากตั้งอาชีพที่พยายามสร้างภาพความน่ากลัวและขยะแขยงของคนอีกกลุ่มหนึ่ง โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ตัวเองเกาะล้อรถถังเข้าไปมีตำแหน่งแห่งหนอีกกระทอกหลังเลือกตั้ง