วันชี้ชะตาพลวัต 2016

ไม่ใช่เรื่องบังเอิญแน่ ที่การประชุมธนาคารกลางของญี่ปุ่น (BoJ) และธนาคารกลางของสหรัฐ (เฟดฯ) จะเกิดขึ้นและรู้ผลในวันเดียวกัน แต่ต่างเวลา โดยรายแรกจะรู้ผลตอนบ่าย และรายหลังจะรู้ผลตอนใกล้สว่างตามเวลาของประเทศไทย


วิษณุ โชลิตกุล

 

ไม่ใช่เรื่องบังเอิญแน่ ที่การประชุมธนาคารกลางของญี่ปุ่น (BoJ) และธนาคารกลางของสหรัฐ (เฟดฯ) จะเกิดขึ้นและรู้ผลในวันเดียวกัน แต่ต่างเวลา โดยรายแรกจะรู้ผลตอนบ่าย และรายหลังจะรู้ผลตอนใกล้สว่างตามเวลาของประเทศไทย

การประจวบเหมาะดังกล่าว ย่อมให้ผลลัพธ์ที่ไม่ธรรมดา

โจทย์ที่เป็นคำถามสำคัญคือ การประชุมไหนให้ผลสะเทือนต่อตลาดโลกมากที่สุด

คำตอบเฉพาะหน้าคือ สำคัญเท่าเทียมกัน แต่รายละเอียดต่างกัน เพราะเกิดจากรากฐานของปัญหาต่างกัน

กรณีของธนาคารกลางญี่ปุ่น นอกเหนือจากมาตรการที่ “สิ้นคิด” ตามที่เคยประกาศออมกมาก่อนหน้านี้หลายครั้ง คือ 1) มาตรการ QE พิมพ์เงินมาอัดฉีดเศรษฐกิจ จากเดิมวงเงิน 28 ล้านล้านเยน (2.74 แสนล้านดอลลาร์) เพื่อมาซื้อสินทรัพย์ของบริษัทหรือสถาบันการเงินที่มีปัญหา 2) การลดดอกเบี้ยจากเดิมที่ติดลบอยู่แล้ว เป็นติดลบยมากขึ้นอีกหรือไม่ อยู่ที่ประเด็นของมาตรการ “ประชานิยม” กระตุ้นเศรษฐกิจที่รุนแรงกว่านี้ เช่น การใช้นโยบาย Helicopter Money

ในกรณีที่ไม่ทำอะไรเพิ่มเติมจากเดิมเลย ตลาดก็คงแสดงอาการผิดหวัง หุ้นถูกเทขาย และคาเงินเยนกลับแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์อีกครั้ง ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่านักลงทุนไม่เชื่อว่ามาตรการจะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้

หากทำมาตรการเพิ่ม แม้จะครึ่งๆ กลางๆ หรือเพิ่มเติมตามที่คาดหมาย ก็อาจจะทำให้ตลาดขานรับ บวกแรงหลายวัน แต่ค่าเงินเยนอาจจะแข็งค่ามากขึ้นเมื่อหมดช่วงเวลาฉลอง ทำนองเดียวกันมาตรการเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ที่ให้ผลลัพธ์ตรงกันข้าม แต่ก็ยังมีคำถามตามมาว่า จะสัมฤทธิผลแค่ไหน เพราะหากเฟดฯเกิดขึ้นดอกเบี้ย หรือ คงดอกเบี้ยอย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วอาจจะมีผลให้ได้ผลลัพธ์ที่กลับด้านกัน

กรณีของเฟดฯ น้ำหนักของนักวิเคราะห์จะระบุว่า กลุ่มที่ถูกสำรวจ ระบุว่า ไม่ถึง 20% ยังคงยืนยันว่าเฟดฯขึ้นดอกเบี้ยแน่ แต่อีกมากกว่า 75% ยืนยันตรงกันว่า เฟดฯไม่มีทางขึ้นดอกเบี้ยเดือนนี้แน่นอน ต้องรอเดือนธันวาคม

หลายเดือนมานี้ คณะกรรมการเฟดฯที่เป็นสายพิราบ นำโดยนางเยลเลน พยายามยื้อเวลาเพื่อให้มั่นใจว่า การจ้างงานและเป้าหมายเงินเฟ้อจะบรรลุเป้า ท่ามกลางแรงกดดันของคนที่รู้สึกว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ต่ำติดพื้นระดับ 0% ของเฟดฯนานเกิน  ฝืนธรรมชาติของกลไกตลาด อาจนำไปสู่สภาวะฟองสบู่ของเศรษฐกิจ ทำนองเดียวกับที่เฟดฯยุค นายอลัน กรีนสแปน เคยกดดอกเบี้ยต่ำนานเกิน จนเป็นรากเหง้าของวิกฤตซับไพรม์มาแล้ว

มุมมองของตลาดเงินและตลาดทุนในสหรัฐฯปัจจุบัน ถือว่าขณะนี้ค่าดอลลาร์อ่อนเกินจริง ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจ เพราะแม้ดอลลาร์ต่ำจะช่วยให้การส่งออกสินค้าของสหรัฐฯดีขึ้นต่ำ แต่ขีดจำกัดในการแข่งขันของภาคการผลิตสินค้า มีคุณูปการต่อเศรษฐกิจน้อยกว่าความได้เปรียบในสินค้าบริการทางการเงินในตลาดโลก

ค่าดอลลาร์ที่ต่ำเกิน เปิดช่องให้ธุรกิจและชาติต่างๆ ในโลก โดยเฉพาะญี่ปุ่น และจีน อาศัยประโยชน์จากอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯต่ำ กู้ยืมเงินจากตลาดในรูปดอลลาร์ทำกำไรผ่านแคร์รี่ เทรด และลดต้นทุนการเงินต่อเนื่องตลอดหลายปีนี้

ทางเลือกที่ดีกว่า ในมุมมองของวอลล์สตรีท และนักเศรษฐศาสตร์การเงิน คือ เฟดฯต้องขึ้นดอกเบี้ยเพื่อให้ดอลลาร์แข็งขึ้น เมื่อเศรษฐกิจสหรัฐฯเริ่มฟื้นตัวจนถึงระดับที่เรียกว่า “มวลวิกฤต” เพื่อทำให้ชาติที่เคยชินกับ “โอกาส” ในการกู้ยืมต้นทุนต่ำในรูปดอลลาร์ มาเผชิญกับ “ภาระ” แทน เพราะต้นทุนกู้เงินดอลลาร์จะแพงเกินจนไม่คุ้มอีกต่อไป แล้วจากนั้นชาติเหล่านั้น จะต้องเปลี่ยนสถานะของการถือเงินสกุลดอลลาร์ มาเป็นการเก็งกำไรแทน ทำให้สหรัฐฯสามารถครอบงำตลาดโลกได้เต็มที่

ในเดือนเศษที่ผ่านมา ความพยายามของบรรดากรรมการสายเหยี่ยวของเฟดฯที่ต้องการให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดฯเริ่มมีพลังสูงขึ้น  เพราะไม่ต้องการให้เกิดฟองสบู่เศรษฐกิจ ซ้ำรอยวิกฤตซับไพรม์เมื่อ 8 ปีก่อนอีกครั้ง ที่เกิดขึ้นจากความผิดพลาดของเฟดฯยุคปลายของนายอลัน กรีนสแปน ที่ยืนหยัดใช้อัตราดอกเบี้ยต่ำนานเกินไป จนกระทั่งวิศวกรรมการเงินของตลาดตราสารอนุพันธ์ได้ทำให้เกิดมายาคติขึ้นมา ว่า ตลาดเงินจะปลอดภัยจากวิศวกรรมการเงินที่เล่นกับความเสี่ยง จนเชื่อว่าตลาดสามารถมีความเสี่ยงใกล้เคียงกับ 0

ข้อสรุปใหม่ เพื่อไม่ให้เกิดการย่ำรอยเดิมที่ผิดพลาดอีก ที่ว่า เมื่อใดที่เฟดฯยอมให้ตลาดมึนชากับอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำติดพื้นนานเกินไป ความเสี่ยงของเศรษฐกิจที่จะเกิดวิกฤตรุนแรงมากเพียงนั้น  แล้วเมื่อใดก็ตามที่อัตราการจ้างงาน และเงินเฟ้อ เข้าใกล้เป้าหมายที่กำหนด เฟดฯต้องใช้ความกล้าหาญเพื่อพร้อมปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เว้นเสียแต่ว่า จะมีข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯย่ำแย่อย่างรุนแรงมาก

สัญญาณที่ถูกส่งมาจากในการประชุมประจำปีของเฟดฯ ที่เมืองแจ็กสัน โฮล เมื่อเดือนที่ผ่านมา ระบุชัดถึงแต้มต่อที่เหนือกว่าของสายเหยี่ยวในกรรมการเฟดฯ ทำให้เชื่อว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดฯในเดือนกันยายนเป็นไปได้

นับแต่การขึ้นดอกเบี้ยครั้งล่าสุดของเฟดฯ เมื่อเดือนธันวาคมปีก่อน เฟดฯได้ส่งสัญญาณไม่เร่งขึ้นดอกเบี้ย และถ้าจะขึ้นก็อย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยไม่มีการกำหนดเวลาที่จัดเจน แม้ว่าสหรัฐฯจะมีความเสี่ยงทางด้านเศรษฐกิจต่ำ

การตัดสินใจของเฟดฯในหลายเดือนมานี้ ทำให้เกิดผลเสียหลายด้าน  1) ราคาพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐร่วงลงทันที สวนทางกับอัตราผลตอบแทนที่พุ่งสูงขึ้น 2) ราคาหุ้นกลุ่มการเงินและสินค้าโภคภัณฑ์ที่ไม่ใช่น้ำมันและทองคำแท่ง พุ่งแรง 3) ค่าดอลลาร์ร่วงลงในตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราทั่วโลก และฟันด์โฟลว์ไหลกลับเข้ามายังเอเชียอีกครั้ง

การเลื่อนขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดฯ จะเป็นข่าวดีสำหรับตลาดหุ้นในเอเชีย (ยกเว้นตลดาหุ้นโตเกียว) ที่จะได้รับอานิสงส์ทางบวกต่อไป แต่การขึ้นดอกเบี้ยของเฟดฯ คือข่าวร้ายที่ตลาดหุ้นในเอเชียรวมทั้งไทย ไม่อยากได้ยินเอาเสียเลย

การชี้ชะตาของธนาคารกลางญี่ปุ่น และเฟดฯ ในวันนี้ จึงถือเป็นโอกาสชี้ชะตากรรมตลาดเงินและตลาดทุนของโลกอย่างล้ำลึก และเลี่ยงไม่พ้น

 

 

 

Back to top button