พาราสาวะถี อรชุน
ฟัง พลตรีวีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกรัฐบาลแจกแจงเรื่องการยอมรับของต่างชาติจากการเดินทางไปร่วมประชุมในเวทีนานาชาติของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในแต่ละครั้ง หนล่าสุดคือเวทีสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 71 ที่นครนิวยอร์ก ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า ปฏิบัติการข่าวสารทางทหารหรือไอโอ เป็นสิ่งที่คนเหล่านี้ยึดมั่นไม่ยอมเปลี่ยนแปลง
ฟัง พลตรีวีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกรัฐบาลแจกแจงเรื่องการยอมรับของต่างชาติจากการเดินทางไปร่วมประชุมในเวทีนานาชาติของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในแต่ละครั้ง หนล่าสุดคือเวทีสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 71 ที่นครนิวยอร์ก ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า ปฏิบัติการข่าวสารทางทหารหรือไอโอ เป็นสิ่งที่คนเหล่านี้ยึดมั่นไม่ยอมเปลี่ยนแปลง
บนความเชื่อที่ว่ายิ่งตอกย้ำยิ่งทำซ้ำ ยิ่งจะทำให้ประชาชนเชื่อ ยิ่งถ้อยคำที่บอกว่า นานาชาติรับทราบว่า ขั้นตอนการลงประชามติของไทย ไม่ใช่การบังคับ แต่เป็นขั้นตอนที่รัฐบาลนำเสนอให้เกิดขึ้น ถือเป็นก้าวแรกของประเทศไทย ในการจะกลับไปเป็นประเทศที่มีประชาธิปไตยอย่างยั่งยืน ซึ่งต่างประเทศติดตามเราอยู่
การไปต่างประเทศแต่ละครั้งของพลเอกประยุทธ์ ทำให้มีโอกาสได้ชี้แจงความคืบหน้าที่ได้ดำเนินการไปแล้ว แม้ว่าประเด็นต่างๆ ที่ถูกนำเสนอผ่านสื่อ อาจจะครบบ้าง ไม่ครบบ้าง ด้วยปัจจัยใดก็ตาม นายกฯและหัวหน้าคสช.ได้ชี้แจงให้เกิดความเข้าใจ หากเป็นเช่นนั้นจริงก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่สิ่งหนึ่งซึ่งรองโฆษกรัฐบาลไม่ได้บอกกล่าวกับสังคมคือ การยอมรับในระหว่างที่พบกันกับคล้อยหลังจากที่ผู้นำเราเดินทางกลับนั้นมันเป็นสัญญาณเดียวกันหรือไม่
ข้อเท็จจริง ภาคเอกชนที่ทำมาค้าขายกับต่างประเทศน่าจะรู้ดีเป็นที่สุด ภาวะการส่งออก ถูกส่วนหนึ่งที่ว่าเศรษฐกิจโลกชะลอตัวทำให้การส่งสินค้าของไทยหดตัว แต่จุดใหญ่ใจความที่สำคัญก็คือ มีหลายประเทศที่ไม่อยากคบค้าสมาคมด้วย เพราะประเทศไทยยังไม่เป็นประชาธิปไตยนี่คือความเป็นจริง ความจริงที่แม้แต่พวกเดียวกันอย่าง ถาวร เสนเนียม ยังยอมรับ
โดยแกนนำม็อบกปปส.บอกไว้เมื่อหลายเดือนก่อน แต่ทีมงานโฆษกคสช.และรัฐบาลไม่ได้ออกมาตอบโต้เท่านั้นเอง ถาวรบอกว่าเวลานี้ต้องให้ผู้ใหญ่ของพรรคประชาธิปัตย์ที่เคยทำหน้าที่ระดับนานาชาติอย่าง ศุภชัย พานิชภักดิ์ และ สุรินทร์ พิศสุวรรณ คอยชี้แจงกับต่างประเทศแทนรัฐบาล เพราะด้วยที่มาของบิ๊กตู่และชาวคณะไม่ได้มาจากระบอบประชาธิปไตย ทำให้ไม่ได้รับการยอมรับ
นี่คนกันเองยังพูดแบบนี้ แล้วพลตรีวีรชนจะโพนทะนาว่าดีอย่างโน้นอย่างนี้เช่นนั้นหรือ หรือท่านยังไม่เข้าใจว่ามารยาททางการทูตกับจุดยืนในเรื่องประชาธิปไตยของแต่ละประเทศแยกจากกันชัดเจน ถ้าเช่นนั้นต้องถามต่อว่า ท่าทีของสหรัฐอเมริกา ท่วงทำนองของยุโรปหรืออียู แม้กระทั่งยูเอ็นเอง แสดงออกต่อรัฐบาลไทยอย่างไร
การเรียกร้องเรื่องเปิดพื้นที่ให้ฝ่ายเห็นต่างได้แสดงความเห็นในช่วงของการทำประชามติ ยังเป็นการทำประชามติที่โปร่งใส ไร้การบังคับอย่างที่รองโฆษกรัฐบาลพูดอย่างนั้นหรือ เหล่านี้คือข้อมูลที่ไม่จำเป็นต้องมีฝ่ายใดนำไปเพ็ดทูลต่างชาติ เพราะคนเหล่านั้นเขาก็ติดตามและเก็บข้อมูลอย่างลึกซึ้ง อาจเรียกได้ว่า เก็บอย่างละเอียดทุกเม็ดทุกดอกเสียด้วยซ้ำ
แต่ก็อีกนั่นแหละ หากพูดถึงการรัฐประหารที่ประเทศไทยเผชิญมาตลอดระยะเวลา 84 ปีตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง ต้องยอมรับการยึดอำนาจของคสช.เที่ยวนี้ มีการวางแผนมาอย่างดี ดังนั้น ทุกกระบวนท่าที่ขยับ จึงเต็มไปด้วยความแยบยล ในมุมของกลุ่มนปช.มองว่า บิ๊กตู่วางแผนการล้มรัฐบาลประชาธิปไตยมาตั้งแต่ปี 2553 แล้ว
หากเป็นเมื่อก่อนอาจจะมองได้ว่าเป็นเรื่องไร้สาระ ทว่าเมื่อมองไปยังพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม 2551 แล้ว มันชวนให้คิดได้เช่นนั้น เพราะฝ่ายกองทัพสามารถวางตัวบุคคลที่จะขึ้นเป็นผู้บัญชาการทหารบกไว้ล่วงหน้าได้อย่างสบาย อันจะเห็นได้จากเส้นทางของเหล่าบูรพาพยัคฆ์ที่สืบทอดอำนาจกันต่อเนื่องมายาวนานนับ 10 ปี
ด้วยเหตุนี้มันจึงทำให้บิ๊กตู่ที่รู้อยู่แล้วว่าจะก้าวสู่เก้าอี้ผบ.ทบ.แทนที่ พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา มีเวลาในการเตรียมการ สิ่งที่ช่วยยืนยันในเรื่องของแผนการเหล่านี้คงเป็นบทสัมภาษณ์ล่าสุดของ ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญการปกครองในยุคทหาร โดยเขาระบุว่า ทหารคือสถาบันทางการเมืองที่ไม่ได้ถูกเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญตลอด 80 กว่าปี และเป็นพรรคการเมืองที่มีฐานจากภาษีของประชาชน
เดิมที่เราอาจปรามาสกองทัพ อย่าลืมว่ามันหล่อเลี้ยงข้าราชการที่ไม่มีภารกิจการงานจำนวนมาก การมีเวลาว่างก็จะทำให้นั่งคิดอะไรได้เยอะ หากสังเกตดูจะเห็นว่าจังหวะการยึดอำนาจจะเริ่มต้นเมื่อรัฐบาลมีอำนาจมาก รูปแบบก่อนยึดอำนาจคือ ทำให้มีปัญหาการเผชิญหน้าของมวลชน เรามักจะเห็นการเคลื่อนไหวของมวลชน 6-8 เดือนล่วงหน้า ทำให้วุ่นวายจนต้องหาทางลดความวุ่นวาย หรือไม่เช่นนั้นก็มีปัญหาการเลือกตั้ง ถึงตอนนี้คงมีคำถามว่า เราประเมินประสบการณ์ของกองทัพน้อยไปหรือเปล่า
มีคนพูดเรื่องปฏิรูปกองทัพกันมาก ในส่วนของธำรงศักดิ์คิดเรื่องนี้มาตั้งแต่เรียนรัฐศาสตร์แต่มันเกิดไม่ได้ ตอนนี้คิดใหม่แล้วว่า เราต้องสร้างนักการเมืองพันธุ์ใหม่ที่เชื่อมั่นในประชาธิปไตย ตลอดเวลาที่ผ่านมา เราไม่เคยเห็นการต่อสู้เพื่อยืนยันระบบเลือกตั้ง เมื่อพูดว่าปฏิรูปกองทัพ คำถามคือ ใครล่ะจะทำ ภาคประชาสังคมแบบเราจะทำให้เราเชื่อมั่นในตัวเองได้ไหม
ตนเคยให้นักศึกษาที่เรียนทำเปเปอร์เรื่องผู้แทนราษฎรที่น่ายกย่อง เราไม่เคยมองนักการเมืองดีเลย เป็นเรื่องที่เราต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติ ขณะเดียวกันพอพูดถึงทหารเรากลับรู้สึกกันง่ายๆ ว่าทหารน่ายกย่อง ถ้าเราไม่ทำตรงนี้ ระบอบประชาธิปไตยก็ไม่มีทางไป ความจริงมุมตรงนี้ของอาจารย์ธำรงศักดิ์ มันก็ถือเป็นจุดอ่อนที่นักการเมืองซึ่งไปสวมปลอกคอในนามกปปส.ยกมาเป็นประเด็นในการเคลื่อนไหว
แม้กระทั่งวันนี้ ภาพของนักการเมืองชั่วนักการเมืองเลวก็ยังถูกขยายผลและสร้างภาพต่อเนื่องโดยลิ่วล้อของคสช.ที่ไปมีตำแหน่งแห่งหนในสปท.และสนช. แต่ไม่ว่าจะถูกทำให้น่าเกลียดน่ากลัวอย่างไร ท้ายที่สุดในโลกแห่งประชาธิปไตย เราก็ไม่อาจหนีการเดินบนเส้นทางถนนสายเลือกตั้งโดยมีผู้แทนมาจากประชาชนไปได้ เพียงแต่ว่าหลังการเลือกตั้งครั้งหน้าหน้าตาของการเมืองไทยอาจไม่เหมือนเดิม ซึ่งต้องรอดูว่าจะอัปลักษณ์จนเป็นที่รังเกียจ (ของนานาชาติ) หรือไม่เท่านั้นเอง