เศษเนื้อข้างเขียงพลวัต 2016

เมื่อวานนี้ ธนาคารกลางญี่ปุ่นได้แสดงความชัดเจนทางนโยบายการเงิน “3 ไม่” พร้อมกับที่ตลาดตั้งคำถามอย่างโปร่งใสคือ 1) ไม่ลดดอกเบี้ยจากระดับติดลบเดิม -0.1% โดยคงเอาไว้ที่เดิม 2) ไม่มีการเพิ่มวงเงิน QE เพิ่มเติมจากเดิม 3) ไม่มีการใช้เงินหว่านโดยตรงที่เรียกว่า เฮลิคอปเตอร์ มันนี่ ออกมา


วิษณุ โชลิตกุล

 

เมื่อวานนี้ ธนาคารกลางญี่ปุ่นได้แสดงความชัดเจนทางนโยบายการเงิน “3 ไม่” พร้อมกับที่ตลาดตั้งคำถามอย่างโปร่งใสคือ 1) ไม่ลดดอกเบี้ยจากระดับติดลบเดิม -0.1% โดยคงเอาไว้ที่เดิม 2) ไม่มีการเพิ่มวงเงิน QE เพิ่มเติมจากเดิม 3) ไม่มีการใช้เงินหว่านโดยตรงที่เรียกว่า เฮลิคอปเตอร์ มันนี่ ออกมา

มีแต่การเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจคือ การปรับเปลี่ยนวิธีการตั้งเป้าหมายเงินเฟ้อให้ถ่างสูงขึ้นมาอีก ซึ่งคือการเพิ่มโอกาสให้ธนาคารกลางญี่ปุ่นมีความยืดหยุ่นในการใช้นโยบายการเงินแทรกแซงตลาดมากขึ้น เพื่อทำให้ผลตอบแทนของพันธบัตรสูงขึ้น 

ความชัดเจนทั้ง 3 ข้อข้างต้น ทำให้เห็นชัดว่า บารมีของนายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น ที่ระบุซ้ำๆ กันมาตลอดว่า ตัวเขาไม่มีความสนใจจะใช้นโยบาย “เฮลิคอปเตอร์ มันนี่” ซึ่งเป็นนโยบายจัดพิมพ์ธนบัตรและแจกจ่ายให้ประชาชนนำไปใช้ เพราะยังไม่มีความจำเป็นในการใช้นโยบายดังกล่าว

ในสมัยรัฐบาลนายคิอิชิ มิยาซาว่า เมื่อ 20 ปีก่อน ญี่ปุ่นเคยนำนโยบายดังกล่าว ซึ่งเป็นส่วนผสมของนโยบายการเงินและการคลังมาใช้แล้ว แต่ได้ผลไม่มาก และต่อมาสหรัฐในยุควิกฤตซับไพรม์ก็ถูกเฟดนำมาใช้ในยุคของนายเบน เบอร์นันเก้ อดีตประธานเฟด (จนมีฉายาว่า เฮลิคอปเตอร์ เบน)

เฮลิคอปเตอร์ มันนี่ เป็นนิยามที่ มิลตัน ฟรีดแมน นักเศรษฐศาสตร์อเมริกันรางวัลโนเบล แห่งสำนักชิคาโก เคยใช้เรียกมาตรการ นิว ดีล ของรัฐบาลอเมริกันยุคแฟรงคลิน ดี รุสเวลท์ ก่อนสงครามโลกครั้งที่สองว่าเป็นมาตรการทางการคลัง ที่เอางบประมาณรัฐไปจ่ายโดยตรง (ผ่านหลายช่องทาง รวมทั้งการลดหรืองดภาษีบางภาคชั่วขณะ) เป็นจุดที่มีปัญหาโดยตรงเพื่อกระตุ้นกำลังซื้อชั่วคราว เสมือนเฮลิคอปเตอร์หย่อนถุงยังชีพเป็นจุดๆ ชั่วขณะ ไม่ใช่ทางเลือกที่ยั่งยืนเป็นการทั่วไปในการฟื้นเศรษฐกิจ ถือเป็นการสูญเปล่า เพราะประชาชนบางกลุ่มเท่านั้นที่ได้รับ “เศษเนื้อข้างเขียง” ปรนเปรอชั่วคราว

                ท่าทีของธนาคารกลางญี่ปุ่นเมื่อวานนี้ ยืนยันว่าพวกกำลังเริ่มตั้งสติ และมีเหตุมีผลในการยึดหลักความถูกต้องมากกว่าถูกใจเพื่อนำเศรษฐกิจให้พ้นจากภาวะเงินฝืดอย่างยั่งยืนมากขึ้น หลังจากความพยายามหลายด้านไม่สามารถพลิกสถานการณ์กลับมาได้

ต้นปีนี้ ธนาคารกลางญี่ปุ่น ใช้มาตรการดอกเบี้ยติดลบ เพื่อทำให้ค่าเงินเยนอ่อนลง แต่ผลลัพธ์กลับตรงกันข้าม เพราะการใช้ดอกเบี้ยติดลบ กลับทำให้ผลตอบแทนพันธบัตรที่ติดลบ จูงใจให้คนแห่เอาเงินต่างชาติเข้ามาเล่นเก็งกำไรในราคาพันธบัตรที่สวนทางกับอัตราผลตอบแทน ส่งผลให้เงินเยนแข็งค่าเทียบกับดอลลาร์ถึง 18% ในปีนี้

ค่าเงินเยนที่อ่อนลงกะทันหันหลังมติถูกประกาศออกมา และราคาหุ้นธนาคารพาณิชย์ญี่ปุ่นบวกแรงเฉลี่ยถึง 7% ดันดัชนีนิกเกอิวานนี้จากระดับติดลบเล็กน้อย มาปิดตลาดในแดนบวกมากถึงเกือบ 300 จุดในวันเดียว จึงเป็นการตอกย้ำว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่นเดินมาถูกทางแล้ว

ค่าเงินเยนที่อ่อนลง ทำให้ค่าดอลลาร์แข็งค่าขึ้นได้ที่น่าแปลกคือ ในตลาดหุ้นเอเชียอื่นๆ หลายแห่ง ที่น่าจะได้รับผลเสียจากมาตรการของธนาคารกลางญี่ปุ่น กลับมีราคาหุ้นวิ่งขึ้นผิดธรรมชาติ ซึ่งมิใช่เพราะการตีความผิดพลาด แต่เกิดจากการฉกฉวยโอกาสเก็งกำไรของบรรดาฟันด์โฟลว์ข้ามชาติที่เชื่อว่า เฟดจะไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ยในตอนดึกตามเวลาประเทศไทยที่ผ่านมา ซึ่งถึงเวลานี้ก็คงจะรู้แล้วว่า ผลลัพธ์ของการประชุม FOMC ของเฟดออกมาเช่นไร

ท่าทีที่สมเหตุสมผลของธนาคารกลางญี่ปุ่น เป็นสิ่งที่ไม่ได้เห็นมายาวนานหลายเดือน หลังจากที่หลงงมโข่งกับการแก้ปัญหาที่หลงทางอย่างรุนแรงจนต้องใช้มาตรการ “สิ้นคิด” หลายประการที่หาทางออกไม่ได้จากกับดักของภาวะเงินฝืดเรื้อรัง ในยามที่สังคมญี่ปุ่นย่างเข้าสู่สังคมคนสูงอายุเข้าไปทุกขณะ

ท่าทีดังกล่าว ทำลายความคาดหวังของนักวิเคราะห์ตลาดว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่นจะต้องดำเนินการแบบสูตรสำเร็จอย่างสิ้นคิดต่อไปไม่จบสิ้นจนกว่าจะถึงทางตัน เพราะถึงเวลาเข้าจริง ก็มีทางออกหรือกลับสู่ความมีเหตุมีผลได้

การแสดงออกของธนาคารกลางญี่ปุ่น ทำให้เกิดความโล่งอกของบรรดานักเศรษฐศาสตร์ว่า หลังจากที่ธนาคารกลางยุโรป หรือ ECB ไม่ยอมเพิ่มมาตรการสิ้นคิดเมื่อเดือนที่แล้ว การดำเนินตามรอยเดียวกันของธนาคารกลางญี่ปุ่น จะทำให้ภาวะของเงินท่วมโลกที่กดดอกเบี้ยให้ติดพื้น ไม่สามารถเดินตามเป้าหมายเงินเฟ้อเพื่อให้พ้นจากภาวะเงินฝืด ที่ดำเนินการมายาวนาน เริ่มจบสิ้นลงอย่างไม่เป็นทางการ

เพียงแต่ว่า การดำเนินการของธนาคารกลางยุโรป และญี่ปุ่น ไม่สามารถทำได้หากว่าเฟดไม่ทำตามไปด้วย โดยไม่ขึ้นดอกเบี้ยให้สูงขึ้นในฐานะที่เฟดมีอิทธิพลมากกว่าธนาคารกลางอื่นใด

การขึ้นดอกเบี้ยของเฟดอาจจะทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกผันผวนอย่างรุนแรงเนื่องจากค่าเงินดอลลาร์สูงขึ้น ส่งผลให้ฟันด์โฟลว์ทั่วโลกไหลกลับเข้ามาถือดอลลาร์อีกครั้ง อาจจะส่งผลต่อดุลการค้าของสหรัฐได้อีก แต่นั่นไม่ใช่ประเด็นสำคัญ เพราะสถิติในอดีตยืนยันว่า  ทุกครั้งที่เฟดขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อดึงเศรษฐกิจกลับเข้าสู่ภาวะปกติ เศรษฐกิจจะดีขึ้น เนื่องจากการจ้างงานและการลงทุนกลับมาคึกคักจากเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น

เมื่อวานนี้ การที่ค่าเงินเยนอ่อนลง เริ่มส่งผลให้บรรยากาศของตลาดหุ้นทั่วโลกเริ่มเปลี่ยนไปจากเดิม สะท้อนให้เห็นว่า สภาพของเงินท่วมโลกนั้น เมื่อมีทิศทางที่เปลี่ยนไป ก็สามารถสร้างความหวังใหม่ให้ตลาดเป็นขาขึ้นได้เช่นกัน แม้ว่าจะมีความเปราะบางอยู่ต่อไปในบางเวลา โดยเฉพาะในสถานการณ์เฉพาะหน้า

กรณีของตลาดหุ้นไทย เช้าวันนี้ น่าจะถูกประเด็นของเฟดกลบ ทำให้นักลงทุนลืมเรื่องของธนาคารกลางญี่ปุ่นไปอย่างสิ้นเชิง เพราะผลสะเทือนของเฟดกลับมารุนแรงกว่า และอาจจะทำให้คนมองข้ามเรื่องของข้อเท็จจริงเกี่ยวกับปัจจัยภายในประเทศจากการที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเผยยอดส่งออกรถยนต์เดือนสิงหาคมหดตัว 7.65% และดัชนีเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมก็ลดลงจากเดือนกรกฎาคมเช่นกัน

วันนี้ จะเป็นวันที่ตลาดหุ้นทั่วโลก ถูกกำหนดโดยเฟดอีกครั้ง

Back to top button