พิชญ์ และ JASลูบคมตลาดทุน
นับจากวานนี้เกมต่างๆ ของ พิชญ์ โพธารามิก และ JAS น่าจะใกล้จบลงแล้ว
ธนะชัย ณ นคร
นับจากวานนี้เกมต่างๆ ของ พิชญ์ โพธารามิก และ JAS น่าจะใกล้จบลงแล้ว
ราคาหุ้น ก็ไม่น่าขยับไปมากกว่านี้
อย่างมากก็น่าจะเล่นรอบกันแถวราคาปิดเมื่อวานนี้ไม่มากนัก คือ 7.40 บาท
ส่วนพิชญ์จะนำหุ้นที่เก็บมาอยู่ในมือแล้วกว่า 60% ไปทำอะไรต่อนั้น จนถึงวันนี้ ก็ยังไม่มีใครทราบข้อมูลแน่ชัด
หากมองในด้านลบ บางคนก็ว่าพิชญ์ต้องการ “สร้างราคาหุ้น” ของ JAS แบบถูกกฎหมาย
คำถามต่อมาคือ แล้วจะทำไปเพื่ออะไรล่ะ
หรือหากทำจริงๆ มีนัยสำคัญแอบแฝงจริงๆ ก็ต้องไปถามตลาดหลักทรัพย์ กับ ก.ล.ต.ว่า มีมุมมองต่อประเด็นนี้อย่างไร
ซึ่งผ่านมาถึงวันนี้ ผู้สื่อข่าวยังไม่มีโอกาสสอบถามผู้บริหารของทั้ง 2 หน่วยงาน
หากคำตอบออกมาว่า สิ่งที่พิชญ์ทำ “ไม่ผิด” นั่นก็คือไม่ผิด
และก็เชื่อว่า พิชญ์ และทีมงานที่ปรึกษาของเขาจะศึกษาเรื่องนี้มาอย่างดี
ยิ่งได้ทีมงานวาณิชธนกิจ หรือไอบี จากแบงก์ไทยพาณิชย์ รวมถึงการปล่อยสินเชื่อด้วยแล้ว
ก็เชื่ออีกว่า ไม่น่าจะมีอะไรผิด เพราะไทยพาณิชย์ที่เป็นธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ ให้ความสำคัญต่อธรรมาภิบาลสูงมาก ไม่น่าจะเข้าไปมีส่วนร่วมในธุรกรรมอะไรที่สุ่มเสี่ยงแบบนั้น
วงเงินที่ไทยพาณิชย์จะปล่อยให้กับพิชญ์นั้น คือไม่เกิน 4.25 หมื่นล้านบาท
ถือเป็นก้อนเงินที่ใหญ่มาก
คิดอัตราดอกเบี้ยแบบปกติ
เฉลี่ยการจ่ายดอกเบี้ยต่อวันของพิชญ์ จากวงเงินกู้ดังกล่าว น่าจะหลายสิบล้านบาท
แน่นอนว่า พิชญ์คงไม่ไปกว้านซื้อหุ้นมา ด้วยวงเงินกู้มากขนาดนั้น แล้วนำมากอดไว้กับตัวเองอยู่เฉยๆโดยไม่ได้คิดทำธุรกรรมอะไรต่อ
เพราะมีภาระดอกเบี้ยบานเบอะอย่างมาก
ธุรกรรมต่อไปของพิชญ์ จึงมีการมองกันว่า น่าจะนำหุ้นไปขายต่อ
แต่ไม่มีใครอ่านออกมาว่า ที่แท้จริงแล้ว พิชญ์ต้องการทำอะไรกับหุ้นของตัวเองต่อไป เพราะนี่เป็นธุรกรรมอันคลาสสิก เป็นอีกกรณีศึกษา
ทว่าล่าสุด พิชญ์ออกมายืนยันแล้ว
เขาต้องการที่จะลดทุนกับหุ้น JAS เพื่อสร้างมูลค่าหุ้นให้เพิ่มขึ้น และจะทำให้มีการจ่ายเงินปันผลได้มากขึ้น
พร้อมกับยืนยันว่า ไม่มีการนำหุ้นไปขายต่อแน่นอน
ไม่ได้ให้ใครด้วยและไม่มีซินเนอจี้ (Synergy)
ส่วนภาระดอกเบี้ยจ่ายนั้นก็น่าจะมาจากเงินปันผลนั่นแหละ
การทำธุรกรรมในครั้งนี้นั้น ว่ากันว่า หรือมีกระแสข่าวลือว่า มีคนทราบเพียง 3-4 คนเช่นเดียวกับกรณีดีลขอซื้อหุ้นคืนนั่นคือ
1.อดิศัย โพธารามิก
2.พิชญ์ โพธรามิก
3.ที่ปรึกษาของเขาคือ “มา ชาน ลี” หรือ ชาญ บูลกุล อดีตนักลงทุนรายใหญ่ของตลาดหุ้นไทยในยุคของราชาเงินทุนเมื่อช่วง 20 ปีก่อนหน้านี้
และ 4.ทีมงานวาณิชธนกิจของแบงก์ไทยพาณิชย์
ส่วนเบื้องหลังของการทำดีลในรูปแบบนี้นั้น ไม่รู้เหมือนกันว่าจุดเริ่มต้นมาจากความคิดของใคร
มา ชาน ลีเองนั้น เรื่องธุรกรรมการเงินแบบนี้ เป็นเรื่องปกติสำหรับ “เซียน”
ส่วนแบงก์ไทยพาณิชย์นั้น ก่อนหน้านี้ผมมีโอกาสนั่งสนทนากับคุณอาทิตย์ นันทวิทยา ซีอีโอ และกรรมการผู้จัดการใหญ่ เขาก็เคยบอกว่า ทีมงานไอบีของเขานั้น ไม่ได้ทำธุรกรรมตามความต้องการของลูกค้าเท่านั้น
ทว่า ในบางครั้ง เขาก็เข้าไปเสนอลูกค้าว่า ควรจะต้องทำอะไรบ้าง
หรือบางธุรกรรม ไอบีของไทยพาณิชย์ก็จะเสนอว่า พวกคุณควรจะซินเนอจี้กัน หรือควบรวมกิจการกัน
สังเกตกันไหมว่าในระยะหลัง ไทยพาณิชย์มีดีลงานไอบี มูลค่าสูงๆ เยอะมาก
มองอีกด้านหนึ่ง…
มีธุรกรรมแบบ JAS เข้ามาวนเวียนในตลาดหุ้น
ก็ช่วยสร้างสีสันได้ดีเหมือนกัน