บอร์ด AOT ไฟเขียวแผนพัฒนาสนามบินหาดใหญ่ 20 ปี วงเงินกว่า 1.51 หมื่นลบ.

บอร์ด AOT ไฟเขียวแผนพัฒนาสนามบินหาดใหญ่ 20 ปี วงเงินกว่า 1.51 หมื่นลบ.


บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT(ทอท.) เปิดเผยว่า มติที่ประชุมคณะกรรมการที่มีนายประสงค์ พูนธเนศ ประธานกรรมการ ทอท. เป็นประธานว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบแผนแม่บทการพัฒนาท่าอากาศยานหาดใหญ่ตามที่ทอท.เสนอ การพัฒนา ท่าอากาศยานหาดใหญ่ มีระยะเวลาดำเนินโครงการ 20 ปี เริ่มตั้งแต่ปี 2559 – 2578 วงเงินลงทุนรวมกว่า 15,100 ล้านบาท

ทั้งนี้ แบ่งโครงการพัฒนาเป็น 2 ระยะโครงการพัฒนาท่าอากาศยานหาดใหญ่ ระยะที่ 1 (ปี พ.ศ. 2559 – 2568) วงเงินลงทุนประมาณ 9,500 ล้านบาทเศษ มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารจาก 2.5 ล้านคนต่อปีเป็น 8.5 ล้านคนต่อปี สามารถรองรับปริมาณการจราจรทางอากาศได้ไม่น้อยกว่าปี 2573 ประกอบด้วย กลุ่มงานเขตการบิน มีการก่อสร้าง Partial Parallel Taxiway ด้านปลายทางวิ่งทิศตะวันตก ให้มีระยะห่างตามมาตรฐานขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) สำหรับอากาศยาน Code E ก่อสร้างRapid Exit Taxiway (ทางขับสายเฉียง) ด้านปลายทางวิ่งทิศตะวันตก เพื่อช่วยให้อากาศยานออกจากทางวิ่งเร็วขึ้น และขยายลานจอดอากาศยานด้านทิศตะวันตก เพื่อให้มีหลุมจอดเพิ่มขึ้น รวมเป็น 18 หลุมจอด กลุ่มงานอาคารผู้โดยสาร ก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ให้สามารถรองรับจำนวนผู้โดยสารได้ 6 ล้านคนต่อปี และปรับปรุงอาคารผู้โดยสารหลังเดิม ซึ่งทั้งสองอาคารจะสามารถรองรับผู้โดยสารได้รวม 8.5 ล้านคนต่อปี

กลุ่มงานสนับสนุนท่าอากาศยาน ปรับปรุงเส้นทางเข้า-ออกท่าอากาศยานโดยย้ายทางเข้า-ออกท่าอากาศยาน

พร้อมทั้งก่อสร้างศูนย์รักษาความปลอดภัยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจผู้มาใช้บริการท่าอากาศยาน ก่อสร้างอาคารจอดรถยนต์ให้สามารถรองรับรถยนต์ได้ไม่น้อยกว่า 1,500 คัน ปรับปรุงระบบไฟฟ้าและระบบสื่อสาร ปรับปรุงโรงบำบัดน้ำเสีย รวมถึงการปรับปรุงอาคารเอนกประสงค์เพื่ออำนวยความสะดวกผู้โดยสารที่เดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ และกลุ่มงานอาคารทดแทน เพื่อย้ายระบบและอาคารในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างไปสร้างทดแทนในตำแหน่งใหม่

ส่วนโครงการพัฒนาท่าอากาศยานหาดใหญ่ ระยะที่ 2 (ปี พ.ศ. 2569 – 2573) วงเงินลงทุนประมาณ 5,600 ล้านบาทเศษมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารจาก 8.5 ล้านคนต่อปีเป็น 10 ล้านคนต่อปีและรื้อถอนอาคารผู้โดยสารหลังเดิม โดยพื้นที่ที่ได้จากการรื้อถอนจะสำรองไว้สำหรับการขยายอาคารผู้โดยสารต่อไปในอนาคต

โดยกลุ่มสนับสนุนท่าอากาศยาน ขยายอาคารจอดรถยนต์ให้สามารถรองรับการใช้งานได้ เพิ่มอีก 2,000 คัน รวมการก่อสร้างทั้งสองระยะแล้วจะสามารถรองรับได้เป็น 3,500 คัน ปรับปรุงระบบไฟฟ้าและระบบสื่อสารเพิ่มเติม และกลุ่มงานอาคารทดแทน เพื่อย้ายระบบและอาคารในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างไปสร้างทดแทนในตำแหน่งใหม่

ทั้งนี้ การเริ่มโครงการพัฒนาท่าอากาศยานหาดใหญ่ตามแผนแม่บท ก่อนเริ่มโครงการพัฒนาดังกล่าว ทอท.จะต้องศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment: EIA) จากการดำเนินโครงการพัฒนา ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการ คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2562 จากนั้น จึงเริ่มงานก่อสร้างตามโครงการพัฒนาท่าอากาศยานหาดใหญ่ระยะที่ 1 ในปี 2563 แต่อย่างไรก็ตาม หากมีการเปลี่ยนแปลงปริมาณการจราจรทางอากาศที่เพิ่มขึ้นจากที่คาดการณ์ไว้ ทอท.จะพิจารณาปรับระยะเวลาในการดำเนินโครงการพัฒนาให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้

ทอท.ได้นำเสนอแผนแม่บทการพัฒนาท่าอากาศยานหาดใหญ่ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ของการจัดทำแผน คือ (1) เพื่อเป็นประตูการขนส่งของประเทศและเป็นเครื่องมือหลักในการเชื่อมโยงชาติสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of South East Asian Nations, ASEAN) ด้วยการพัฒนาขีดความสามารถในการให้บริการขนส่งทางอากาศให้มีคุณภาพในมาตรฐานในระดับสากลและสามารถรองรับความต้องการของประชาชนผู้เดินทางได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงพัฒนาขีดความสามารถในการให้บริการขนส่งทางอากาศมีคุณภาพได้มาตรฐานระดับสากล

 (2) เพื่อให้ท่าอากาศยานหาดใหญ่  มีความยั่งยืนในการรองรับปริมาณการจราจรทางอากาศและผู้โดยสารรวม ทั้งกิจกรรมด้านการบินที่จะเกิดในอนาคต (3) เพื่อใช้ในการสื่อสารกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในแนวทางการพัฒนาท่าอากาศยานในอีก 20 ปีข้างหน้า และ (4) เพื่อให้ลูกค้าผู้ประกอบการธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับท่าอากาศยาน รู้ถึงอัตราการเติบโตและเตรียมตัวที่จะพัฒนาและบริหารจัดการให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาท่าอากาศยาน

ในการจัดทำแผน ทอท.ได้ศึกษาขีดความสามารถสิ่งอำนวยความสะดวกปัจจุบันของท่าอากาศยานหาดใหญ่ ได้แก่

ระบบทางวิ่งทางขับ ซึ่งปัจจุบันมีทางวิ่ง 1 เส้น ความยาว 3,050 เมตร กว้าง 45 เมตร มีขีดความสามารถในการรองรับเที่ยวบินได้ 18 เที่ยวบินต่อชั่วโมง (แต่ในการบริหารจัดการการจราจรทางอากาศ ปัจจุบันประกาศที่12 เที่ยวบินต่อชั่วโมง) มีหลุมจอดอากาศยานทั้งสิ้น 7 หลุมจอด สำหรับอาคารผู้โดยสารเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กมีความสูง 2 ชั้น รองรับผู้โดยสารได้ 2.5 ล้านคนต่อปี

ประกอบกับ ทอท.ได้คาดการณ์ปริมาณการจราจรทางอากาศของท่าอากาศยานหาดใหญ่ ตามปัจจัยที่มีผลกระทบต่อปริมาณการจราจรในภาพรวม ณ ปัจจุบัน ได้แก่ ภาวะเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว การเติบโตของสายการบินต้นทุนต่ำ การเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบในธุรกิจการบิน ภัยพิบัติทางธรรมชาติ โรคระบาดและปัจจัยการเมืองในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (ปี 2548 – 2558) เป็นเกณฑ์ และได้คาดการณ์ว่า ในปี พ.ศ.2563 จะมีเที่ยวบินประมาณ 34,406 เที่ยวบิน มีผู้โดยสาร 5.1 ล้านคน และมีปริมาณสินค้า 13,331 ตัน ในปี พ.ศ. 2568  มีเที่ยวบินประมาณ  44,735 เที่ยวบิน มีผู้โดยสาร 6.6 ล้านคน และมีปริมาณสินค้า 14,886 ตัน ในปี พ.ศ. 2573  มีเที่ยวบินประมาณ  56,444 เที่ยวบิน มีผู้โดยสาร 8.4 ล้านคน และมีปริมาณสินค้า 16,504 ตัน และในปี 2578 จะมีเที่ยวบิน 66,636 เที่ยวบิน มีผู้โดยสาร 9.9 ล้านคน และมีปริมาณสินค้า 18,237 ตัน ได้แก่ ระบบทางวิ่งทางขับ ซึ่งปัจจุบันมีทางวิ่ง 1 เส้น ความยาว 3,050 เมตร กว้าง 45 เมตร มีขีดความสามารถในการรองรับเที่ยวบินได้ 18 เที่ยวบินต่อชั่วโมง (แต่ในการบริหารจัดการการจราจรทางอากาศ ปัจจุบันประกาศที่12 เที่ยวบินต่อชั่วโมง) มีหลุมจอดอากาศยานทั้งสิ้น 7 หลุมจอด สำหรับอาคารผู้โดยสารเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กมีความสูง 2 ชั้น รองรับผู้โดยสารได้ 2.5 ล้านคนต่อปี

ทั้งนี้ ในระหว่างที่ ทอท.ยังไม่ได้ดำเนินตามโครงการพัฒนา ทอท.ได้จัดทำแนวทางแก้ไขปัญหาความแออัดภายในอาคารผู้โดยสาร ณ ท่าอากาศยานหาดใหญ่ไว้แล้ว โดยในปี 2560 จะมีการก่อสร้างอาคารสำนักงานท่าอากาศยานหาดใหญ่ บริเวณด้านทิศเหนือของอาคารผู้โดยสาร และจะย้ายสำนักงานปัจจุบันซึ่งอยู่ภายในอาคารผู้โดยสารไปยังอาคารที่ก่อสร้างใหม่ รวมทั้งจะปรับปรุงเพิ่มพื้นที่ห้องโถงผู้โดยสารขาเข้าและขาออก ซึ่งการย้ายสำนักงาน ทหญ.และการปรับปรุงห้องโถงผู้โดยสารดังกล่าวจะทำให้มีพื้นที่ในการให้บริการผู้โดยสารเพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยลดปัญหาความแออัดได้

ทอท.มีแผนลงทุนสำหรับพัฒนาท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่งในวงเงินประมาณ 1.95 แสนล้านบาท มากกว่าสินทรัพย์รวมทั้งหมดของ ทอท.ที่มีอยู่ ณ สิ้นปีงบประมาณ 2558 ในวงเงินประมาณ 1.60 แสนล้านบาท ในการลงทุนดังกล่าว คณะกรรมการ ทอท.ได้ให้ความเห็นชอบแผนแม่บทการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานเชียงใหม่ และท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย ไปแล้ว 4 แห่ง ในวงเงินประมาณ 1.69 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ เมื่อรวมวงเงินตามแผนแม่บทการพัฒนาท่าอากาศยานทั้ง 5 แห่งที่ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการ ทอท.แล้ว รวมเป็นเงินประมาณ 1.84 แสนล้านบาท

Back to top button