ตาบอดคลำช้างพลวัต 2016

การออกระเบียบเพื่อกำกับดูแลพฤติกรรมของผู้ที่มีส่วนได้เสียในตลาดหุ้น หรือตลาดเก็งกำไรนั้น ไม่ต่างอะไรกับการจับปูใส่กระด้ง จึงไม่น่าประหลาดใจที่ กฎหมายหลักทรัพย์ฉบับแก้ไขบางส่วนใหม่ที่ผ่าน สนช.มาแล้ว และอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าจะมีผลบังคับใช้ เพื่อให้ปฏิบัติโดยทั่วถึงกัน ภายหลังการนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย และลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา จึงมีคำถามตามมาเป็นเรื่องปกติ


วิษณุ โชลิกุล

 

การออกระเบียบเพื่อกำกับดูแลพฤติกรรมของผู้ที่มีส่วนได้เสียในตลาดหุ้น หรือตลาดเก็งกำไรนั้น ไม่ต่างอะไรกับการจับปูใส่กระด้ง  จึงไม่น่าประหลาดใจที่ กฎหมายหลักทรัพย์ฉบับแก้ไขบางส่วนใหม่ที่ผ่าน สนช.มาแล้ว และอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าจะมีผลบังคับใช้ เพื่อให้ปฏิบัติโดยทั่วถึงกัน ภายหลังการนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย และลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา จึงมีคำถามตามมาเป็นเรื่องปกติ

การสร้างระเบียบให้ปูเดิน จึงต้องการระบบการสื่อสารที่มีลักษณะ 2 ด้านมากกว่าด้านเดียว ซึ่งดูเหมือนว่า หน่วยงานอย่าง ก.ล.ต. ค่อนข้างมีปัญหามาโดยตลอด และไม่เคยแก้ตก ครั้งนี้ ได้แต่หวังว่าปัญหาจะบรรเทาลงไป

 เริ่มต้นตั้งแต่การทำความเข้าใจกับคนที่เกี่ยวข้อง ดูเหมือนก.ล.ต. จะมุ่งเป้าไปที่การทำความเข้าใจกับธุรกิจหลักทรัพย์ที่มีสภาพเป็น ”กันชน” ระหว่างผู้ที่มีส่วนได้เสียกลุ่มอื่นๆ ที่มีผลประโยชน์ขัดกันโดยธรรมชาติ

เรื่องที่สะเทือนนักวิเคราะห์มากที่สุด ดูเหมือนจะเป็นเรื่องของการเปิดเผยข้อมูล เพราะกติกาใหม่นี้ ระบุว่า การเขียนบทวิเคราะห์ต่างๆ ยังสามารถทำได้ตามเดิม แต่ไม่สามารถนำข้อมูลภายในที่รู้มา และยังไม่ได้เปิดเผยต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ มาใส่ในบทวิเคราะห์ได้ ซึ่งหากนำเข้ามาใส่จนทำให้เป็นผลกระทบต่อราคาก็อาจจะมีความผิดได้ จากที่ก่อนหน้านี้ไม่มีความผิด

ความจริงแล้วเรื่องนี้ เป็นเพียงเศษเสี้ยวของกรอบกติกาใหม่ที่มีการครอบคลุมอย่างบูรณาการเท่านั้น

ข้อมูลที่ผู้ช่วยเลขาธิการ ก.ล.ต. นายศักรินทร์ ร่วมรังสี เปิดเผยมานั้น มีเป้าหมายว่า ”เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและมีความเป็นสากล” คือ ประกอบด้วย 2 ส่วนคือ ส่วนว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับพฤติกรรมในตลาด (หรือ Market misconduct) และส่วนว่าด้วยการลงโทษทางแพ่งต่อผู้ที่กระทำความผิด

ส่วนที่ว่าด้วยความผิดนั้น แบ่งละเอียดเป็น 4 กลุ่มความผิด ได้แก่

ความผิดเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลที่อาจทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ลงทุนและตลาดทุน ครอบคลุมการบอกกล่าวหรือเผยแพร่ข้อมูลเท็จหรือที่จะทำให้เข้าใจผิด รวมถึงการวิเคราะห์หรือคาดการณ์ที่ใช้ข้อมูลเท็จหรือบิดเบือน ซึ่งจะทำให้ผู้ให้ข้อมูลหรือความเห็นต่อประชาชนต้องใช้ความระมัดระวังและความรับผิดชอบในการกระทำดังกล่าว อย่างไรก็ดี ในการคาดการณ์ สามารถทำได้หากตั้งอยู่บนฐานของข้อมูลที่เป็นจริง ไม่บิดเบือน แม้ในภายหลังจะไม่เป็นไปอย่างที่คาดการณ์ไว้ก็ไม่เป็นความผิด

ความผิดเกี่ยวกับการเอาเปรียบผู้ลงทุนรายอื่น โดยการใช้ประโยชน์จากข้อมูลตนรู้มา โดยกฎหมายที่แก้ไขกำหนดให้บุคคลที่รู้หรือครอบครองข้อมูลภายใน ต้องไม่นำข้อมูลไปหาประโยชน์หรือไปเปิดเผยแก่บุคคลอื่น และผู้รับข้อมูลก็ต้องไม่นำไปหาประโยชน์หรือไปเปิดเผยต่อบุคคลอื่นต่อๆ ไป โดยกฎหมายจะสันนิษฐานไว้ก่อนว่า บุคคลวงใน เช่น กรรมการ ผู้บริหาร ที่ซื้อขายหุ้นในช่วงที่มีข้อมูลสำคัญและยังไม่เปิดเผย ถือว่าเป็นผู้ซื้อขายที่รู้หรือครอบครองข้อมูลภายใน และในกรณีผู้ใกล้ชิดกับบุคคลวงใน เช่น ญาติที่ใกล้ชิด หากมีการซื้อขายที่ผิดปกติในช่วงเวลาดังกล่าว ก็จะถือเป็นผู้ซื้อขายที่รู้หรือครอบครองข้อมูลภายในเช่นกัน

นอกจากนี้ กฎหมายยังครอบคลุมถึงบริษัทหลักทรัพย์และบริษัทจัดการกองทุน รวมทั้งพนักงานหรือลูกจ้างของบริษัทดังกล่าว ที่นำข้อมูลคำสั่งซื้อขายหลักทรัพย์หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้าของลูกค้าไปใช้ประโยชน์โดยการซื้อขายหลักทรัพย์ตัดหน้าลูกค้า หรือเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวให้แก่บุคคลอื่นซึ่งอาจอาศัยข้อมูลที่ได้มานั้นไปซื้อขายหลักทรัพย์ตัดหน้าลูกค้า จะมีความผิดตามกฎหมาย

ความผิดเกี่ยวกับการสร้างราคาหลักทรัพย์ กฎหมายที่แก้ไขแบ่งความผิดเกี่ยวกับการสร้างราคาหลักทรัพย์ออกเป็น 2 ระดับ ได้แก่ 1) การส่งคำสั่งซื้อขายหลักทรัพย์ที่ทำให้บุคคลทั่วไปเข้าใจผิดเกี่ยวกับราคา หรือปริมาณการซื้อขาย และ 2) การส่งคำสั่งซื้อขายหลักทรัพย์ในลักษณะต่อเนื่องจนทำให้ราคา/ปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ผิดไปจากสภาพปกติของตลาด ความผิดกลุ่มนี้มักมีการกระทำร่วมกันเป็นกลุ่ม กฎหมายจึงมีการกำหนดให้การพิสูจน์การกระทำร่วมกันง่ายขึ้น

กฎหมายอื่นๆ ที่ดูแลความต่อเนื่องและความน่าเชื่อถือของการซื้อขายหลักทรัพย์ ด้วยระบบซื้อขายของตลาดหลักทรัพย์ โดยกำหนดให้การส่งคำสั่งซื้อขายที่อาจจะเป็นเหตุให้ระบบการซื้อขายดังกล่าว สะดุดหรือหยุดชะงักลงเป็นความผิด

นอกจากความผิดทั้ง 4 กลุ่มนี้แล้ว ยังมีรายละเอียดเพิ่มเติม กำหนดความผิดเกี่ยวกับการใช้หรือยอมให้ใช้บัญชี Nominee ที่นำไปใช้ในการกระทำความผิดเป็นความผิดของ Market misconduct ด้วย

สำหรับกติกาว่าด้วยบทลงโทษทางแพ่งนั้น ไม่มีสาระอะไรใหม่นัก เพราะเคยเอ่ยถึงมาโดยตลอดหลายครั้งตลอด 5 ปีนี้ มีรายละเอียดมากขึ้นในเชิงปริมาณที่เข้มงวดและรัดกุม เกี่ยวกับการเพิ่มมาตรการลงโทษทางแพ่ง ซึ่งจะเป็นทางเลือกในการบังคับใช้กฎหมายได้รวดเร็วขึ้น โดยความผิดที่สามารถบังคับใช้กฎหมายด้วยมาตรการลงโทษทางแพ่ง

หากพิจารณาแล้ว แม้ดูเหมือนว่า ข้อกังวลของหลายคนว่า การออกกติกาใหม่นี้ จะทำให้ตลาดหุ้นมีลักษณะ “ตายซาก” หรือ “ตาบอดคลำช้าง” หรือไม่ก็ทำให้มีการเลี่ยงหลบไปใช้ช่องทางอื่นในการแพร่กระจายข้อมูลข่าวสารที่ทำให้เกิดปัญหายากต่อการควบคุม เช่น ผ่านช่องทางเครือข่ายออนไลน์ทั้งหลาย แต่หากพิจารณาจากมุมของตลาดที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน หากมีการสื่อสารที่ชัดเจน และโปร่งใสมากเพียงพอ น่าจะทำให้เกิดความเข้าใจร่วมกันมากขึ้น

เพียงแต่ว่า ภายใต้กติกาใหม่นี้ ผู้ที่ควบคุม หรือกำกับดูแล ซึ่งปัจจุบัน มีทั้ง ก.ล.ต. และตลาดฯ จะการันตีให้สังคมตลาดทุนเข้าใจได้อย่างไรว่า จะไม่ทำตัวเป็น “เด็กเส้น” เสียเอง

หากเป็นเป็นอย่างนั้นอยู่ ก็ยากจะให้ใครเชื่อว่า กรอบที่กำหนดมาใหม่นี้ ไม่ได้มีขึ้นเพื่อ ”ปิดปาก” คนที่เห็นตรงกันข้ามเท่านั้น             

Back to top button