เข้าทาง ‘รายใหญ่-กองทุน’ลูบคมตลาดทุน
นัยสำคัญของพ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ฉบับแก้ไข เฉพาะในประเด็นการเปิดเผยข้อมูลของ บจ.นั้น
ธนะชัย ณ นคร
นัยสำคัญของพ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ฉบับแก้ไข เฉพาะในประเด็นการเปิดเผยข้อมูลของ บจ.นั้น
บ้างก็ว่า เพื่อปราบปรามพวกส่งข้อมูลทางสังคมออนไลน์ต่างๆ
ทว่า อีกด้าน ก็มีความคิดเห็นต่างไป นั่นคือ อาจยิ่งจะทำให้ข้อมูลที่ถูกปล่อยผ่านสังคมออนไลน์มีมากขึ้น
มีคำถามว่าเพราะอะไร
คำตอบคือ เพราะข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริง ที่ออกมาจากปากของผู้บริหาร “บจ.” โดยตรง หรือผ่านกระบวนการตกผลึกจากนักวิเคราะห์ (ที่ได้รับใบอนุญาต) นั้น ทำได้ยากขึ้น จนกว่าข้อมูลที่มีสาระสำคัญ หรือมีนัยต่อราคาหุ้น จะต้องแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ เสียก่อน
ผ่านมาถึงตอนนี้ ผู้บริหาร บจ.หลายแห่ง ก็มีความกังวลในการให้ข้อมูล
พวกเขาไม่แน่ใจว่า ข้อมูลใดที่ตนเองสามารถพูดได้ หรือไม่ได้บ้าง
นักวิเคราะห์หลักทรัพย์เองก็มีมุมมองที่แตกต่างกันไป พร้อมกับมีคำถามกกลับไปยังก.ล.ต.ว่า ข้อมูลที่ได้มานั้น แล้วอะไรบ้างล่ะที่เปิดเผยได้ และไม่ได้
ดูเหมือนหลายๆ ฝ่ายที่เกี่ยวกับกำลังสับสนพอสมควร
สื่อมวลชนเองก็สับสนเช่นกัน เพราะบ้างก็ว่า กฎหมายแก้ไขใหม่นี้ บังคับใช้ถึงสื่อมวลชนด้วย
ที่ผ่านมานั้น การเปิดเผยข้อมูลของผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน หรือ บจ. ส่วนใหญ่จะเผยแพร่ผ่านทางสื่อต่างๆ ครับ
หรือไม่ก็งาน Company visit ของนักวิเคราะห์จาก บล.ต่างๆ
ส่วนการเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นบทวิเคราะห์ของนักวิเคราะห์นั้น ก็จะได้ข้อมูลหลักๆ มาจาก 2 ทาง คือ ข้อมูลที่ได้รับจากสื่อต่างๆ และได้รับจาก Company visit
ส่วนช่องทางอื่นๆ ก็มีบ้าง เช่น เป็น Exclusive ของโบรกฯ นั้น
หรือเป็นข้อมูลใหม่ที่ได้มาจากการนำ บจ.ไปโรดโชว์
ความเข้าใจส่วนตัวของผมนั้น ก.ล.ต.น่าจะต้องการ “จัดระเบียบ” การเปิดเผยข้อมูลที่เป็นสาระสำคัญต่างๆ เหล่านั้น โดยก่อนที่ผู้บริหาร บจ.จะไปเปิดเผย ก็จะต้องแจ้งข้อมูลนั้นๆ ต่อตลาดหลักทรัพย์เสียก่อน
หรือหากมีการเปิดเผยไปแล้วต่อบุคคลภายนอก ซึ่งบุคคลนั้น ก็ยังไม่สามารถนำข้อมูลไปเปิดเผยได้ จนกว่า บจ.จะแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์
นัยสำคัญว่า ต้องการลดผลกระทบด้านการ “ชี้นำราคา”
โดยเฉพาะข้อมูลที่กลุ่มนักลงทุนรายย่อยได้รับมานั้น จะได้อยู่บนพื้นฐานข้อมูลเดียวกัน
แต่อย่างว่าครับ กฎหมายที่แก้ไขใหม่ฉบับนี้ ก็ใช่ว่าจะไม่มีจุดอ่อนเลย
เพราะในทางกลับกัน ก็มีความเห็นจากนักวิเคราะห์หลายคนว่า เมื่อข้อมูลของ บจ.ถูกจำกัดในช่องทางที่ควรเผยแพร่ ก็อาจจะทำให้ข้อมูล บจ.ออกมาอาละวาดมากขึ้นในสังคมออนไลน์
และในสังคมออนไลน์นั้น ถูกตรวจสอบยากด้วย
ผิดกับที่นักวิเคราะห์นำมาเผยแพร่ เพราะจะระบุซื้อ หมายเลขทะเบียนนักวิเคราะห์มีที่มาชัดเจน
นอกจากนี้ ที่ผ่านมากลุ่มนักลงทุนรายใหญ่ และกองทุนต่างๆ ก็มักจะมีการพบปะผู้บริหารของ บจ. อยู่เป็นประจำ ก็มีโอกาสที่จะได้ข้อมูลมาก่อนที่ “รายย่อย” จะได้รับ
สมมุติว่าหากผู้บริหาร บจ.มีการเปิดเผยข้อมูลกับกลุ่มนักลงทุนรายใหญ่
แต่กลุ่มนักลงทุนรายใหญ่ และกองทุนต่างๆ ไม่ได้มีการไปเผยแพร่ต่อ แต่กลับเข้าไปลงทุนก่อน
ถามว่ามีความผิดไหม
และจะดำเนินการตรวจสอบกันอย่างไร
สำหรับพ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ ฉบับแก้ไขใหม่นั้น คงจะไปแก้ไขอะไรอีกไม่ได้แล้ว เพราะผ่าน สนช.ไปแล้ว
และขณะนี้ก็รอประกาศในราชกิจจานุเบกษาเท่านั้น
ซึ่งจริงๆ ก็ไม่ได้มีแค่เรื่องของการเปิดเผยข้อมูลของ บจ.เท่านั้น ที่ถูก “ตีกรอบ” ให้มากขึ้น
แต่ยังมีเรื่องอื่นๆ อีกที่มีความเข้มงวด
ซึ่งเจตนาของการแก้ไข เหมือนจะบอกว่า ต้องการพัฒนาตลาดทุน แต่ในทางกลับกัน หรือในทางปฏิบัตินั้น ไม่รู้เป็นการ “ขวาง” หรือเปล่า