พาราสาวะถี อรชุน

ทำเอาฮือฮากันอีกรอบกับคำสั่งมาตรายาวิเศษ เที่ยวนี้หัวหน้าคสช.งัดเอาม. 44 มาใช้ในสองเรื่องคือ ตั้ง สรรเสริญ แก้วกำเนิด นั่งรักษาการอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ แทน อภินันท์ จันทรังษี ที่จะเกษียณอายุราชการสิ้นเดือนนี้ อีกรายคือ ย้าย พลตำรวจเอกวุฒิ ลิปตพัลลภ รองผบ.ตร.ให้ขาดจากตำแหน่งเดิมแล้วไปเป็นผู้ตรวจราชการพิเศษ ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี


ทำเอาฮือฮากันอีกรอบกับคำสั่งมาตรายาวิเศษ เที่ยวนี้หัวหน้าคสช.งัดเอาม. 44 มาใช้ในสองเรื่องคือ ตั้ง สรรเสริญ แก้วกำเนิด นั่งรักษาการอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ แทน อภินันท์ จันทรังษี ที่จะเกษียณอายุราชการสิ้นเดือนนี้ อีกรายคือ ย้าย พลตำรวจเอกวุฒิ ลิปตพัลลภ รองผบ.ตร.ให้ขาดจากตำแหน่งเดิมแล้วไปเป็นผู้ตรวจราชการพิเศษ ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

กรณีแรกเข้าใจได้ว่าในการเกษียณของอธิบดีกรมกร๊วก จะมีรองอธิบดีอีก 2 คนเกษียณตามไปด้วย ทำให้เหลือตัวเลือกในตำแหน่งรองอธิบดีแค่ 1 คน ซึ่งคงยังไม่ใช่ตัวเลือกที่ใช่สำหรับผู้มีอำนาจ ดังนั้น จึงต้องให้เสธ.ไก่อูไปปฏิบัติหน้าที่เป็นการชั่วคราวก่อน เพื่อสรรหาคนที่เหมาะสมมารับเก้าอี้ต่อไป หากเป็นไปตามนี้และใช้เวลาไม่นานบรรดาข้าราชการในสังกัดคงพอรับได้

แต่หากปล่อยให้เวลาเนิ่นช้าโดยไม่มีทีท่าว่าจะหาคนใหม่มาเป็นอธิบดีที่ถาวรได้ ก็จะเกิดคำถามตามมาว่า มีความพยายามที่จะใช้ทหารเข้าไปควบคุมกรมประชาสัมพันธ์แบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเลยหรือไม่ จึงใช้วิธีการเช่นนี้เพื่อไม่ให้น่าเกลียด ซึ่งเรื่องเงื่อนเวลาจะเป็นบทพิสูจน์ว่า องค์รัฏฐาธิปัตย์มีความจริงใจในการสรรหาคนที่ใช่มากุมบังเหียนกรมกร๊วกหรือใช้วิชาอันแยบยลเพื่อให้คนของตัวเองไปนั่งบัญชาการในองค์กรแห่งนี้

ส่วนกรณีของพลตำรวจเอกวุฒินั้น ตามเหตุผลที่ให้มาโดยอ้างว่าเจ้าตัวนั่งเก้าอี้รองผบ.ตร.มานาน 5 ปีแล้ว ทำให้ไม่สามารถก้าวขึ้นไปสู่ตำแหน่งที่สูงกว่านั่นก็คือผบ.ตร. จึงต้องเยียวยาด้วยการมอบเก้าอี้ซี 11 ให้เป็นการตอบแทน พร้อมกับอ้างอีกว่าผู้ที่ถูกย้ายมีความเต็มใจที่จะมารับตำแหน่งใหม่ด้วยความสมัครใจ คงไม่มีใครไปคัดค้านท่านผู้นำได้

สิ่งที่น่าสนใจคือ หากนำเอากรณีการแต่งตั้งโยกย้ายโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 44 มาเป็นตัวค้ำยันแล้ว ชวนให้นึกถึงการย้าย ถวิล เปลี่ยนศรี จากเลขาธิการสมช.ไปประจำสำนักนายกรัฐมนตรีสมัย ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่เป็นคดีความจนถึงขั้นถูกองค์กรอิสระสอยอดีตนายกฯหญิงตกจากเก้าอี้ ตรงนี้จึงต้องมีคำถามไปยังบรรดาคนดีทั้งหลายแหล่ว่า ไม่สนใจเรื่องธรรมาภิบาลกันบ้างเลยหรืออย่างไร

เรียกได้ว่าหากใครมายืนขวางหรือถูกมองเป็นคนของอำนาจเก่าใช้มาตรายาวิเศษเสกให้ทุกอย่างเป็นดั่งใจได้ทันที แล้วเช่นนี้มันจะทำให้การบริหารราชการโดยเฉพาะอย่างยิ่งการแก้ไขปัญหาที่สำคัญเช่น ปัญหาด้านเศรษฐกิจที่ว่าด้วยการลงทุนขนาดใหญ่มันจะรวดเร็วทันใจได้เชียวหรือ เพราะสิ่งที่ได้เสียงสะท้อนมาจากบรรดาข้าราชการทั้งหลายส่วนใหญ่ไม่กล้าเซ็นสุ่มสี่สุ่มห้า เนื่องจากกลัวติดคุกตอนแก่

จะเห็นได้ว่าหลายโครงการท่านผู้นำกระทุ้งแล้วกระทุ้งอีกแต่ก็ยังไร้ความคืบหน้า นั่นเป็นเพราะข้าราชการที่จะลงนามเกรงว่า ถ้าเซ็นแกร็กเดียวแล้วทำให้ทุกอย่างเป็นไปตามท่านผู้นำ แต่ภายหลังจากท่านหมดอำนาจไปแล้ว มีสิทธิที่จะถูกเล่นงานจากผู้ที่เสียประโยชน์หรือคู่กรณี ในยามที่มาตราวิเศษยังคงอยู่ก็ไร้ปัญหา แต่อนาคตใครจะรับประกัน

การยืนยันการันตีเรื่องความปลอดภัยในการลงนามต่างๆ นั้น ท่านผู้นำไม่ได้ยืดอกปกป้องเหมือนกรณีน้องชายของตัวเอง การที่บอกว่าให้ทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการนั้น ถามว่าองค์กรอิสระที่ตรวจสอบกรณีทุจริตอย่างป.ป.ช.จะกล้าเข้าไปดำเนินการต่อความไม่ชอบมาพากลในการกล่าวหาลูกชายของ พลเอกปรีชา จันทร์โอชา อย่างนั้นหรือ

อีแค่จีที 200 ที่หลักฐานทนโท่ยังทำตัวแกล้งโง่เป็นเตมีย์ใบ้มาจนถึงวันนี้ เคยบอกไว้เมื่อสองสัปดาห์ก่อนจะมีความชัดเจนในเรื่องดังว่า แต่ผ่านมาจนถึงนาทีนี้เรื่องยังเงียบฉี่ แค่เท่านี้ก็ทำให้เห็นแล้วว่า องค์กรมีมาตรฐานในการตรวจสอบอย่างเท่าเทียมและตรงไปตรงมาขนาดไหน ขณะที่เรื่องบ้องตื้นอย่างน้ำท่วมกลับจะเร่งดำเนินการ

ประเด็นห้างหุ้นส่วนจำกัด คอนเทมโพรารี คอนสตรัคชั่น ของลูกชายพลเอกปรีชาเรื่องการไปรับงานในพื้นที่กองทัพภาคที่ 3 นั้นกลายเป็นเรื่องเล็กทันที แต่การที่บริษัทไปตั้งอยู่ในค่ายสมเด็จพระเอกาทศรถ จังหวัดพิษณุโลกนั้น จะอธิบายกันอย่างไร จะอ้างว่าเป็นบ้านพักของปลัดกระทรวงกลาโหมก็รับฟังได้ แต่ถามว่าเหมาะสมที่จะไปใช้ตั้งเป็นบริษัทหรือไม่

เรื่องนี้คงไม่ต้องรอให้ป.ป.ช.เข้าไปตรวจสอบ เบื้องต้น พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ จะต้องสั่งให้มีการตรวจสอบตั้งแต่ระดับกองทัพภาคที่ 3 ขึ้นมาจนถึงระดับกระทรวงกลาโหม การกระทำดังกล่าวเข้าข่ายผิดกฎ ระเบียบของการใช้สถานที่ราชการในการประกอบกิจการของภาคเอกชนหรือเปล่า ถึงแม้จะไม่มีการขึ้นป้ายตั้งบริษัท แต่การระบุสถานที่ตั้งในเวลาประมูลงานและเป็นงานของกองทัพด้วย ถามว่ามันสมควรไหม

เรื่องในลักษณะเช่นนี้ มันก็ไม่แตกต่างจากกรณีที่อดีตผู้บัญชาการทหารหลายๆ รายซึ่งเกษียณอายุราชการไปแล้ว ยังใช้บ้านพักของทางราชการเป็นที่อยู่อาศัยของตัวเองและครอบครัว จะด้วยระบบเกรงใจหรือให้เกียรติ ในฐานะที่สู้รบเสี่ยงชีวิตเพื่อชาติอะไรก็ตาม ถ้าเช่นนั้นถามว่า ทหารระดับล่างที่เขาก็เสี่ยงชีวิตมาเหมือนกันสมควรได้รับสิทธิพิเศษเหล่านั้นด้วยหรือไม่

ตรงนี้แหละที่เป็นประเด็นคำถามสำคัญต่อกระบวนการปราบโกงของท่านผู้นำที่ลั่นวาจาอย่างแข็งกร้าว บวกเข้ากับกฎหมาย 7 ชั่วโคตรที่ วิษณุ เครืองาม อธิบายอย่างให้เห็นภาพ ชาร์ตแบตเตอรี่มือถือส่วนตัวในสถานที่ราชการก็ผิด ใช้ซองตราครุฑใส่เงินไปร่วมงานส่วนตัวก็ไม่ถูกต้อง นี่เล่นตั้งบริษัททำมาหารับประทานกันในค่ายทหารเลยทีเดียว จะให้เรียกว่าอะไรและควรมีความผิดแบบไหน ก็อยากจะฟังเนติบริกรประจำรัฐบาลอธิบายเหมือนกัน

วันนี้กรธ.จัดสัมมนารับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายโดยเฉพาะนักการเมือง ว่าด้วยกฎหมายลูกเกี่ยวกับการเลือกตั้งส.ส.และพรรคการเมือง แน่นอนว่าจะเป็นเวทีให้บรรดาคนช่างจ้อทั้งหลายได้แสดงออกกันอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะพวกนักสร้างวาทกรรม แต่คำถามคือ เสียงสะท้อนเหล่านั้นจะได้รับการตอบสนองจากคนเขียนกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญหรือไม่ คำตอบอยู่ในเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติ ก็เขาตั้งธงกันไว้หมดแล้ว จะไปเรียกร้องหาอะไร

Back to top button