TIPPEES และ ก.ล.ต.พลวัต 2016

คำว่า Tippees อาจเป็นคำไม่เคยคุ้นหูนักลงทุนในบ้านเรา แต่จากนี้ไป จะต้องคุ้นเคยมากขึ้น


วิษณุ โชลิตกุล

 

คำว่า Tippees อาจเป็นคำไม่เคยคุ้นหูนักลงทุนในบ้านเรา แต่จากนี้ไป จะต้องคุ้นเคยมากขึ้น

พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ฉบับแก้ไขใหม่ที่จะมีผลใช้บังคับอีกไม่นาน ถือว่า กลุ่มคนที่เรียกว่า Tippees นี้คือ ผู้ร้ายตัวจริงที่เป็นเป้าหมายของการแก้ไขกฎหมายโดยตรง

ดังที่เคยบอกเอาไว้ในวันที่ 23 กันยายน 2559 แล้วว่า สาระสำคัญของกฎหมายหลักทรัพย์ฯ แก้ไขใหม่ มี 2 ส่วนคือ การกระทำความผิดเกี่ยวกับพฤติกรรมในตลาด หรือ Market Misconduct กับที่ว่าด้วยการลงโทษผู้ที่กระทำความผิด

สาระในส่วนแรกนั้น ได้รับความสนใจมากที่สุด บางส่วนเป็นเรื่องใหม่ส่งผลกระทบในหลายจุด เพราะครอบคลุมถึงความผิด 4 เรื่องด้วยกัน

1)ความผิดเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลที่อาจทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ลงทุนและตลาดทุน

2)ความผิดเกี่ยวกับการเอาเปรียบผู้ลงทุนรายอื่น โดยการใช้ประโยชน์จากข้อมูลตนรู้มา

3)ความผิดเกี่ยวกับการสร้างราคาหลักทรัพย์ 2 ระดับ ได้แก่  1) การส่งคำสั่งซื้อขายหลักทรัพย์ที่ทำให้บุคคลทั่วไปเข้าใจผิดเกี่ยวกับราคา หรือปริมาณการซื้อขาย และ 2) การส่งคำสั่งซื้อขายหลักทรัพย์ในลักษณะต่อเนื่องจนทำให้ราคา/ปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ผิดไปจากสภาพปกติของตลาด

4)ความผิดตามกฎหมายอื่นๆ ที่ดูแลความต่อเนื่องและความน่าเชื่อถือของการซื้อขายหลักทรัพย์

หัวข้อที่เป็นที่วิพากษ์รุนแรง คือ ว่าด้วยการเปิดเผยข้อมูลที่ยังไม่ได้เปิดเผยต่อสาธารณะ (คือ ตลาดหลักทรัพย์ฯ) หรือ Non-public Information ที่ทำให้เกิดความหวาดวิตกในบรรดานักวิเคราะห์ สื่อมวลชน และผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนทั้งหลาย ว่าจะกระทำตนอย่างไร จึงจะไม่ถือว่าผิดกฎหมายที่กำหนด

ความสนใจที่มุ่งไปสู่ประเด็นการเปิดเผยข้อมูล ทำให้ความสนใจเรื่องที่สำคัญกว่า ถูกมองข้ามไป เพราะกฎหมายใหม่นี้ ต้องการที่ขยายความถึงกลุ่มคนในวงกว้างขึ้นจากเดิม ที่หาประโยชน์จาก Non-public Information ที่เป็นการเอาเปรียบนักลงทุนอื่นๆ อย่างไม่ชอบธรรม

ในอดีตเมื่อมีการนำข้อมูล Non-public Information ถือเป็นข้อมูลวงในไปใช้ ผู้ที่ถูกกล่าวโทษว่ากระทำผิดจึงมักเป็นบุคคลภายในบริษัทที่ครอบครองข้อมูลดังกล่าว ในข้อหา insider trading แต่ไม่มีบทลงโทษครอบคลุมถึงบุคคลภายนอกที่ใช้ประโยชน์จากการข้อมูลวงในนั้นๆ

การแก้ไขกฎหมายหลักทรัพย์ฯ ใหม่ จึงมีคำว่า Tippees เข้ามาเกี่ยวข้อง เพื่อให้ครอบคลุมว่า ผู้ที่ร่วมใช้ข้อมูลวงในไปหาประโยชน์อันไม่ชอบทุกคน ล้วนต้องถูกกล่าวโทษทั้งสิ้น

Tippees ในนิยามของเว็บไซต์ทางการเงิน www.investopedia.org ที่มีชื่อเสียง ระบุว่า หมายถึง ผู้ร่วมกระทำความผิด ในการนำ non-public information ไปให้กับบุคคลที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ครอบครองหรือใช้ข้อมูลดังกล่าว เป็นการกระทำที่ละเมิดกฎหมาย เนื่องจากข้อมูลดังกล่าว จะต้องไม่ได้รับการเผยแพร่จนกว่าจะถึงเวลา เพื่อให้ตลาดทำการย่อยถึงผลกระทบต่อราคาหลักทรัพย์ของข้อมูลนั้นๆ

Tippees จึงกินความรวมถึงบุคคลที่ ก.ล.ต.ระบุว่า มีส่วนร่วมในการเอาเปรียบผู้ลงทุนอื่นๆ ประกอบด้วย…บุคคลวงในที่รู้หรือครอบครองข้อมูลภายใน (สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นบุคคลวงใน เช่น กรรมการ ผู้บริหาร) หรือ ผู้ใกล้ชิดกับบุคคลวงใน (เช่น ญาติที่ใกล้ชิด)  หรือบริษัทหลักทรัพย์และบริษัทจัดการกองทุน (รวมทั้งพนักงานหรือลูกจ้างของบริษัท) ที่นำข้อมูลคำสั่งซื้อขายหลักทรัพย์ หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้าของลูกค้าไปใช้ โดยการซื้อขายหลักทรัพย์ตัดหน้าลูกค้า หรือเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวให้แก่บุคคลอื่น ซึ่งอาจอาศัยข้อมูลนั้นไปซื้อขายหลักทรัพย์ตัดหน้าลูกค้า

มุมมองของ ก.ล.ต.และผู้ร่างกฎหมายนี้ ถือว่าสาระใหม่นี้จะสามารถ “กำจัดจุดอ่อน” ของกฎหมายเดิมที่ใช้กันมาเกือบ 30 ปีอย่างครอบคลุม เพราะนับตั้งแต่กฎหมายใหม่มีผลใช้บังคับ Tippees จะไม่ได้มีเฉพาะ ”บุคคลวงใน” อีกต่อไป แต่จะขยายวงนับรวมถึง ใครก็ตามที่มีส่วนกระทำและหาประโยชน์จากการใช้ข้อมูลวงในที่เป็น non-public information 

นอกจากนั้น ยังมีคำจำกัดความชัดเจนมากขึ้นว่า ข้อมูลวงในนั้น ไม่ได้หมายความแค่ข้อมูลที่เป็นของบริษัทจดทะเบียนอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงข้อมูลส่วนตัวของลูกค้าที่ออกคำสั่งซื้อขายอีกด้วย

แน่ใจได้เลยว่า คำนิยามว่าด้วย Tippees หรือคนที่เอาเปรียบผู้ลงทุนรายอื่น โดยการใช้ประโยชน์จากข้อมูลตนรู้มา จะเป็นที่คุ้นเคยมากขึ้นในตลาดทุน ไม่ว่าจะชื่นชอบ หรือต่อต้าน เพราะมันได้ถูกตราเป็นกฎหมาย ที่จะส่งผลให้มีข้อกำหนดที่เป็นรูปธรรมอื่นๆ ตามมาอีกมากมายในอนาคต

ท่าทีของตัวแทนบริษัทหลักทรัพย์ที่เข้าประชุมหารือกับ ก.ล.ต. เมื่อวานนี้  ซึ่งปรากฏผลออกมาในลักษณะ “ยอมสยบราบคาบ” ถึงขั้นที่ยอมรับว่า “มีความเข้าใจตรงกัน และไม่ได้มีข้อเสนอแนะใดๆ เพิ่มเติม พร้อมให้ความร่วมมือกับ ก.ล.ต. ที่จะปฏิบัติตามไปในทิศทางเดียวกัน” จึงเป็นฉันทามติโดยปริยายที่ ”เปิดไปเขียว” ให้กับการเดินหน้าไล่ล่า Tippees ในอนาคตอย่างจริงจังต่อไป

ส่วนจะทำได้ดีมากน้อยแค่ไหน คงต้องรอผลว่า ก.ล.ต. จะมีประสิทธิผลเข้มข้นตามที่กฎหมายกำหนดมากน้อยเพียงใด

ตอนนี้ ใครที่ยังไม่รู้ว่าว่าตนเองเป็น Tippees (ทั้งโดยนิตินัย หรือพฤตินัย) ตามนิยามของกฎหมายหลักทรัพย์แก้ไขใหม่หรือไม่ คงต้องถึงเวลาทบทวนตัวเองกันอีกครั้ง

ในกรณีนี้ อาจจะต้องรวมความถึงคนที่ยอมตนเป็นนอมินี หรือยอมให้คนอื่นใช้ชื่อตนเองในการซื้อขายหลักทรัพย์ เพราะกฎหมายแก้ไขใหม่ กำหนดความผิดเกี่ยวกับการใช้หรือยอมให้ใช้บัญชีนอมินีเป็นความผิดด้วย

Back to top button