เงินเฟ้อ กับ เฟดพลวัต 2016

สายเหยี่ยวในคณะกรรมการเฟด มักจะเคลื่อนไหวกดดันให้เฟดต้องขึ้นดอกเบี้ย เพราะข้ออ้างว่าการจ้างงานและอัตราเงินเฟ้อใกล้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้เต็มที โดยการพยายามย้อนไปถึงฝันร้ายจากวิกฤตซับไพรม์เมื่อ 8 ปีก่อน ที่เกิดขึ้นเนื่องจากความผิดพลาดของเฟดยุคปลายของนายอลัน กรีนสแปน ที่ยืนหยัดใช้อัตราดอกเบี้ยต่ำนานเกินไป จนกระทั่งวิศวกรรมการเงินของตลาดตราสารอนุพันธ์ได้ทำให้เกิดมายาคติขึ้นมา ว่า ตลาดเงินจะปลอดภัยจากวิศวกรรมการเงินที่เล่นกับความเสี่ยง จนเชื่อว่าตลาดสามารถมีความเสี่ยงได้


สายเหยี่ยวในคณะกรรมการเฟด มักจะเคลื่อนไหวกดดันให้เฟดต้องขึ้นดอกเบี้ย เพราะข้ออ้างว่าการจ้างงานและอัตราเงินเฟ้อใกล้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้เต็มที โดยการพยายามย้อนไปถึงฝันร้ายจากวิกฤตซับไพรม์เมื่อ 8 ปีก่อน ที่เกิดขึ้นเนื่องจากความผิดพลาดของเฟดยุคปลายของนายอลัน กรีนสแปน ที่ยืนหยัดใช้อัตราดอกเบี้ยต่ำนานเกินไป จนกระทั่งวิศวกรรมการเงินของตลาดตราสารอนุพันธ์ได้ทำให้เกิดมายาคติขึ้นมา ว่า ตลาดเงินจะปลอดภัยจากวิศวกรรมการเงินที่เล่นกับความเสี่ยง จนเชื่อว่าตลาดสามารถมีความเสี่ยงได้

ความพยายามที่ล้มเหลวครั้งแล้วครั้งเล่าในปีนี้ ถูกสกัดด้วยข้อเท็จจริง เพราะล่าสุด มีตัวเลขที่ทำให้บรรดาสายเหยี่ยวในคณะกรรมการเฟดไม่สบอารมณ์มากขึ้น ได้แก่ ราคาสินค้าจำพวกอาหารในร้านค่าโชห่วยทุกรูปแบบของสหรัฐ

ผลสำรวจล่าสุดในรายการอาหารที่ร้านค้าปลีกทั่วสหรัฐ ระบุว่า ราคาสินค้าอาหารลดลงต่อเนื่องนับแต่เดือนมกราคมจนถึงเดือนนี้เป็นเดือนที่ 9 ติดต่อกัน

การร่วงลงต่อเนื่องยาวนานเช่นนี้ ไม่เคยเกิดขึ้นมานานแล้ว นับแต่ ค.ศ. 1960 หรือ 56 ปีก่อน โดยที่นักสำรวจระบุว่าเป็นผลโยงใยมาจากการร่วงลงของต้นทุนการผลิตเพราะราคาน้ำมัน และราคาธัญพืชที่ตกต่ำนานนับปี รวมทั้งการแข่งขันใน “สงครามราคา” ระหว่างร้านค้าปลีกทั้งหลาย ที่เจอคู่แข่งรายสำคัญทั้งจากต่างประเทศ และจากธุรกิจซื้อขายบนสื่อออนไลน์ ที่มาแรงขึ้นเรื่อยๆ

ราคาขายปลีกและเนื้อวัวชำแหละ มีราคาถดถอยลงอย่างชัดเจน ราคาไข่ 1 โหล ลดลงเหลือเพียงแค่ 1.14 ดอลลาร์สหรัฐ  แต่ที่ร้านค้าปลีกแบบดิสเคาท์สโตร์หลายแห่งอาจจะลดราคาลงเหลือเพียง 99 เซนต์เท่านั้น ต่างจากระยะเดียวกันนี้เมื่อปีก่อนที่ต้องมากกว่า 3.5 ดอลลาร์ขึ้นไป

ส่วนราคาเนื้อวัวไร้กระดูกในร้านค้าปลีกโมเดิร์นเทรดอย่าง Randall มีราคาต่ำเพียงแค่ปอนด์ละ 3.99 ดอลลาร์เท่านั้น แต่ในร้านค้าปลีกข้างถนน กลับต่ำลงไปอีก ที่ระดับ 1 ดอลลาร์เท่านั้น แต่บางร้านไม่ลดราคาลงไป หากเลือกเอาการซื้อ 1 แถม 1 ไปเลย

ราคาอาหารที่ร่วงลงอย่างมากจากทั้งต้นทุนการผลิตที่ต่ำลง และการแข่งขันที่รุนแรงเช่นนี้ เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคอย่างปราศจากข้อกังขาใด อย่างน้อยก็ทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคสูงขึ้นโดยปริยาย แต่ราคาอาหารที่ต่ำลงเช่นนี้ ทำให้มีคำถามไปถึงอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่วัดโดยดัชนีราคาสินค้าบริโภคหรือ CPI ที่ยากจะกระเตื้องขึ้นมา ตามเป้าหมายที่เฟดได้กำหนดเอาไว้ว่าหากเงินเฟ้อเข้าใกล้ระดับเป้าหมายเงินเฟ้อ 2% ที่วางเอาไว้ล่วงหน้าเมื่อใด ก็เป็นช่วงเวลาที่จะต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดได้เสียที

การร่วงลงของราคาอาหารในตลาดค้าปลีกของสหรัฐเช่นนี้ แม้จะไม่กระทบกับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ไม่รวมเอาสินค้า ราคาอ่อนไหว” เข้ามารวมด้วย ก็เป็นการส่งสัญญาณว่าโอกาสที่เฟดจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งต่อไปในเดือนธันวาคมที่จะถึงอาจจะถูกเลื่อนออกไปอีกก็ได้ แม้ว่าอาจจะมีตัวเลขการจ้างงานที่ดีขึ้นเพียงใดก็ตาม

การที่เงินเฟ้อไม่ยอมกระเตื้องเข้าใกล้เป้าหมายที่กำหนดเอาไว้เสียที ทำให้ข้ออ้างของสายพิราบในเฟดที่ไม่ต้องการขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ยังคงมีอำนาจต่อรองต่อไปอีก ต่อสู้กับข้ออ้างของพวกสายเหยี่ยวที่ว่า การที่เฟดยอมให้ตลาดมึนชากับอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำติดพื้นนานเกินไป จะยิ่งทำให้เกิดความเสี่ยงที่จะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจรุนแรงมากเพียงนั้น

ข้ออ้างที่เคยเป็นสูตรสำเร็จของสายเหยี่ยวที่ว่า เมื่อใดก็ตามที่อัตราการจ้างงาน และเงินเฟ้อ เข้าใกล้เป้าหมายที่กำหนด เฟดต้องใช้ความกล้าหาญเพื่อปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เว้นเสียแต่ว่า จะมีข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐย่ำแย่อย่างรุนแรงมาก จึงไม่สามารถสร้างน้ำหนักได้มากเพียงพอต่อไป

หลายเดือนที่ผ่านมา รวมทั้งในการประชุมเดือนกันยายนที่ผ่านมา คณะกรรมการเฟดที่เป็นสายพิราบ นำโดยนางเยลเลน พยายามยื้อเวลาเพื่อให้มั่นใจว่า การจ้างงานและเป้าหมายเงินเฟ้อจะบรรลุเป้า ท่ามกลางแรงกดดันของคนที่รู้สึกว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ต่ำติดพื้นระดับ 0% ของเฟดนานเกิน ฝืนธรรมชาติของกลไกตลาด อาจนำไปสู่สภาวะฟองสบู่ของเศรษฐกิจ ทำนองเดียวกับที่เฟดยุคนายอลัน กรีนสแปน เคยกดดอกเบี้ยต่ำนานเกิน จนเป็นรากเหง้าของวิกฤตซับไพรม์มาแล้ว

มุมมองของตลาดเงินและตลาดทุนในสหรัฐปัจจุบัน ถือว่าค่าดอลลาร์ที่อ่อนเกินจริงหลายเดือนมานี้  ไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจ เพราะแม้ดอลลาร์ต่ำจะช่วยให้การส่งออกสินค้าของสหรัฐดีขึ้น แต่ขีดจำกัดในการแข่งขันของภาคการผลิตสินค้า มีคุณูปการต่อเศรษฐกิจน้อยกว่าความได้เปรียบในสินค้าบริการทางการเงินในตลาดโลก

ค่าดอลลาร์ที่ต่ำเกิน เปิดช่องให้ธุรกิจและชาติต่างๆ ในโลก โดยเฉพาะญี่ปุ่น และจีน อาศัยประโยชน์จากอัตราดอกเบี้ยสหรัฐต่ำ กู้ยืมเงินจากตลาดในรูปดอลลาร์ทำกำไรผ่านแคร์รี่ เทรด และลดต้นทุนการเงินต่อเนื่องตลอดหลายปีนี้

ข้อเท็จจริงที่ลักลั่นกับทฤษฎีเช่นนี้ ไม่ใช่เรื่องแปลกพิสดารอะไรเลย เพราะว่าในยามที่เศรษฐกิจยังอยู่ในช่วงเวลาของผลผลิตล้นเกินความต้องการ การลงทุนใหม่ยังไม่เกิดขึ้น ทำให้มีปริมาณเงินท่วมโลก โอกาสที่จะทำให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น ย่อมเป็นไปได้ยาก เพราะปริมาณเงินส่วนเกิน ยังไม่สามารถแปรเปลี่ยนเป็นการจ้างงานและเพิ่มกำลังซื้อทีแท้จริงในตลาดได้เต็มที่

ราคาอาหารที่ร่วงลงในสหรัฐ จึงเป็นภาพสะท้อนความยากลำบากในการตัดสินใจของเฟดในช่วงผ่านมาได้ดี

ช่วงเวลาเช่นนี้ ทำให้ราคาหุ้นทั่วโลก จำต้องแกว่งไกวไร้ทิศทางตามไปด้วยอย่างเลี่ยงไม่พ้น

Back to top button