ดุลยภาพทางข้อมูลข่าวสารขี่พายุ ทะลุฟ้า
ตลาดหุ้นไทยกำลังเดินทางมาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญ นั่นคือการเตรียมการบังคับใช้ พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งเสนอผ่านสนช.มาโดยก.ล.ต.และก็ได้รับเห็นชอบ
ชาญชัย สงวนวงศ์
ตลาดหุ้นไทยกำลังเดินทางมาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญ นั่นคือการเตรียมการบังคับใช้ พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งเสนอผ่านสนช.มาโดยก.ล.ต.และก็ได้รับเห็นชอบ
รอประกาศในราชกิจจานุเบกษา ก็จะมีผลบังคับใช้เป็นกฎหมายทันที
แน่นอน ในแง่ของผู้ออกกฎหมายคือ ก.ล.ต. ก็ต้องอ้างเหตุสนับสนุนให้ตัวเองในการทำให้ตลาดหุ้นโปร่งใสและมีบรรษัทภิบาลมากยิ่งขึ้น
โดยเพิ่มมาตรการที่เข้มงวดทั้งการป้องกันการซื้อขายโดยใช้ข้อมูลวงใน (อินไซเดอร์ เทรดดิ้ง) และการให้รวมทั้งเผยแพร่ข้อมูลอันไม่เป็นเท็จ และยังต้องเป็นข้อมูลที่ครบถ้วนอีกด้วย
อะไร ถือเป็นการซื้อขายวงใน กฎหมายเดิมจะต้องมีพยานหลักฐานชัดแจ้งว่า ผู้นั้นเป็นผู้ล่วงรู้ข้อมูลวงใน และมีการนำเอาข้อมูลนั้นไปทำการซื้อขายหุ้น เพื่อผลประโยชน์แห่งตนเอง
แต่กฎหมายใหม่ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า คนที่เกี่ยวข้องทุกคนซึ่งมีข้อมูลวงใน หากได้ไปทำการซื้อขายหุ้นอย่างผิดปกติ ก็ให้ถือว่ามีความผิดตาม พ.ร.บ.นี้แล้ว
กฎหมายใหม่นี้ยังครอบคลุมบุคคลวงในที่ซื้อขายหุ้นอย่างผิดปกติไปยังบุพการ ีสามีภรรยา พี่น้องและบุตรด้วย
ผมว่า ความในกฎหมายข้อนี้ น่าสนับสนุนนะ ยิ่งการเพิ่มโทษอินไซเดอร์ เทรดดิ้ง ให้ครอบคุลมไปถึงนอมินีทั้งบุพการี คู่สมรส พี่น้องและบุตรด้วย ก็ถือเป็นการปิดช่องโหว่ซึ่งมีมาช้านานแล้ว
แต่ในส่วนของการเผยแพร่ข้อมูล ซึ่งจะต้องเป็นข้อมูลที่ถูกต้อง ไม่เป็นเท็จ และต้องเป็นข้อมูลที่ครบถ้วนนี่สิ…
จะเอาอะไรมาวัดกันว่า เป็นข้อมูลที่ถูกต้อง ไม่เป็นเท็จ และครบถ้วนในขณะนั้น
นี่จะเป็นการแก้ไขกฎหมายให้ต้องพึ่งพา“ดุลยพินิจ” อย่างรุนแรงขึ้นเลยเชียวล่ะ
ไพบูลย์ นลินทรางกูล นายกสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุนและซีอีโอ บล.ทิสโก้ ตั้งข้อสังเกตในส่วนความถูกต้องของข้อมูลไว้น่าคิดว่า ถ้าบริษัทแห่งหนึ่งบอกว่าจะไปขยายกำลังการผลิตที่อินเดีย นักวิเคราะห์จะเชื่อได้เลยหรือไม่
หรือจะต้องบินไปดูที่อินเดียว่ามีจริงหรือไม่
ในส่วนความครบถ้วนของข้อมูล ไพบูลย์บอกว่า ต้องครบแค่ไหน ถึงจะออกบทวิเคราะห์และคาดการณ์ได้ นอกจากนี้ การได้มาซึ่งข้อมูลที่ครบถ้วน ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายดายนัก
ไพบูลย์บอกว่า ส่วนที่นักวิเคราะห์กังวลมากที่สุดก็คือในส่วนของข้อมูลภายใน เพราะไม่แน่ใจว่าสิ่งไหนคือข้อมูลภายใน และสิ่งไหนคือข้อมูลภายนอก
เช่น ข้อมูลที่ปรากฏบนเว็บไซต์ของบริษัท โดยทั่วไปก็น่าจะถือว่าเป็นข้อมูลภายนอกแล้ว เพราะบุคคลภายนอกสามารถเข้าไปดูได้ แต่ทางก.ล.ต.อาจจะยังถือเป็นข้อมูลภายในอยู่ก็ได้ เนื่องจากบริษัทมิได้แจ้งตลาดหลักทรัพย์
ครับ มันก็จริงของคุณไพบูลย์เขานะครับ เพราะกฎหมายใหม่ สร้างกรอบใหญ่ในการเผยแพร่ข้อมูลว่า จะต้องเป็นข้อมูลที่ผ่านการแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ไว้ก่อนเท่านั้น
บางทีก็อาจจะเป็นเรื่อง “ปัญญาอ่อน” ได้เหมือนกันนะครับ เช่น นักข่าวข่าวหุ้นธุรกิจหรือนักวิเคราะห์ เกิดไปเห็นน้ำมันพืชทิพย์ถูกกวาดเหี้ยนออกจากเชลฟ์ในเซเว่นเนื่องในเทศกาลกินเจ แล้วกลับมารายงานหุ้น TVO จะดีอย่างโน้นอย่างนี้
ก็อาจจะมีความผิดเพราะเป็นข้อมูลที่ยังไม่ผ่านการแจ้งตลาดฯ มาก่อน
ต่อไปเรื่องการรายงานข่าวโดยใช้“แหล่งข่าว” โดยไม่เผยชื่อตัวตนแน่นอน ก็เป็นข้อห้ามเด็ดขาด
ครั้นเผยตัวตนขึ้นมาก็อย่างว่า จะเป็นข้อมูลจริง ไม่เป็นเรื่องเท็จ มีความครบถ้วน และอย่างว่า คือแจ้งตลาดฯ มาก่อนแล้วหรือยัง
เรื่องการคาดการณ์ผลประกอบการของบจ.ทั้งหลาย ก็ทำไม่ได้อีกต่อไปแล้ว
ปกติปัญหาของนักลงทุนรายย่อยเราก็ไม่สามารถจะเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้ง่ายอยู่แล้ว
มีนักวิเคราะห์บ้าง สื่อรายงานบ้าง มาแจ้งข่าวสารข้อมูล ก็ยังพอเป็นที่พึงพาอาศัยให้อยู่รอดได้ในตลาดการลงทุนอันสลับซับซ้อนทุกวันนี้
แต่อยู่ๆ จะมีการตัดรอน ”ห้าม” การเผยแพร่ไปหมด นักลงทุนรายย่อยก็หมดที่พึ่งสิครับ
ก.ล.ต.อาจจะนึก (เอาเอง) ว่า นักลงทุนจะได้ข้อมูลที่มันจริง ไม่เป็นเท็จ และครบถ้วน แต่ก็อย่าลืมว่า การจะได้มาซึ่งข้อมูลอันบริสุทธิ์เหล่านั้น มันต้องช้าแน่นอน
ระหว่างที่รอการกลั่นข้อมูลอันบริสุทธิ์ “เม่า” ทั้งหลาย ก็อาจจะเสร็จรายใหญ่ พวกกองทุน หรือพอร์ตโบรกเกอร์ที่ไป ”วิสิท” ลูกค้าแล้วไม่ต้องบอกใครก็ได้
ดุลยภาพทางข้อมูลข่าวสาร ซึ่งปกตินักลงทุนรายย่อยก็เข้าถึงได้น้อยอยู่แล้ว ก็ยิ่งเอนเอียงน้ำหนักไปที่นักลงทุนรายใหญ่ กองทุน และพอร์ตโบรกเกอร์เข้าไปใหญ่
นี่เป็นการปรับกฎกติกาเพื่อให้รายย่อยเสียเปรียบมากยิ่งขึ้นไปอีก ใช่หรือไม่ใช่
####################