“ไพบูลย์” ชี้บจ.ต้นเรื่องข่าวอินไซด์ มั่นใจพ.ร.บ.ใหม่ยกระดับรีเซิร์ช

"ไพบูลย์" ชี้บจ.ต้นเรื่องข่าวอินไซด์ มั่นใจพ.ร.บ.ใหม่ยกระดับรีเซิร์ช


นายไพบูลย์ นลินทรางกูร นายกสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน เปิดเผยผ่านรายการ ข่าวหุ้นเจาะตลาด ออนเรดิโอ ทาง FM 98.5 MHz สถานีข่าวจริง สปริงเรดิโอ ช่วงเวลา 9.30-11.00 น. ว่า พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ฉบับใหม่ จะสามารถสร้างความเท่าเทียมในเรื่องข้อมูลให้แก่นักลงทุนทุกกลุ่ม และทำให้บทวิเคราะห์มีคุณภาพและมีมาตรฐานมากขึ้น โดยมีการให้สัมภาษณ์ไว้ดังนี้

เบื้องต้น พ.ร.บ.ฉบับใหม่ ไม่ได้ทำให้การออกบทวิเคราะห์ยากขึ้น แต่ในแง่ของคุณภาพของบทวิเคราะห์ ซึ่งมีผลต่อการตัดสินใจต่อการลงทุนของนักลงทุนทั่วไป จะเป็นบวกหรือเป็นลบมากน้อยขนาดไหนครับ ?

“ถ้าทุกคนเข้าใจกฏกติกาแล้ว คุณภาพของบทวิเคราะห์ก็จะออกมาดีเช่นเดิมครับ และน่าจะสร้างความเท่าเทียมด้วย หรือถ้าทุกคนเข้าใจดีแล้วว่าห้ามใช้ข้อมูลที่ยังไม่ได้เปิดเผยต่อสาธารณะหรือข้อมูลภายใน ตรงนี้ก็น่าจะนำไปสู่บทวิเคราะห์ที่มีคุณภาพ และมีมาตรฐานที่เท่าเทียมกัน และโดยเฉพาะในเรื่องความถูกต้องของข้อมูล การไปตรวจสอบแหล่งที่มาของข้อมูล ซึ่งน่าจะเป็นข้อดีของการที่มีกติกาที่ระบุชัดเจนว่าต้องให้คำนึงถึงคุณภาพ”

การที่ต้องรอให้ข้อมูลถูกเปิดเผยต่อตลาดหลักทรัพย์ก่อน ถือเป็นอุปสรรคสำหรับการออกบทวิเคราะห์ไหม ?

“ตรงนี้ต้องมาคุยให้ชัดเจน สมมุติข้อมูลภายในไม่ได้เปิดเผยต่อสาธารณะจะนำข้อมูลใดมาเปิดเผยได้บ้าง แต่คงไม่ใช่ข้อมูลทุกชนิดที่อยู่ในบริษัท เพราะไม่อย่างงั้นก็ทำอะไรไม่ได้ คงจะต้องระบุกันชัดๆว่าอาจจะมีข้อมูลสาระสำคัญมากๆที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของราคา เช่นข้อมูลบริษัทไปเทคโอเวอร์อีกบริษัทนึง อันนี้แน่นอนถ้าข่าวหลุดไปหรือใครได้ยินข่าวนี้หุ้นต้องขึ้นแน่นอน อันนี้ก็เป็นข้อมูลภายในที่ห้ามใช้แน่นอน แต่ถ้าเป็นข้อมูลทั่วไปแค่นักวิเคราะห์ไปเยี่ยมบริษัทแล้วพูดคุยกัน ว่าโรงงานเป็นยังไงปกติไหม อันนี้คือไม่นัยอะไรสำคัญ

แต่ว่าตรงนี้เมื่อในอดีตที่เราก็ทำกันมาโดยไม่ได้เคร่งเรื่องนี้ ในแง่ของสมาคมนักวิเคราะห์เราก็จะมีการไปเจอกับก.ล.ต.อีกและจะพยายามไปกำหนดให้ชัดเจนมากขึ้นว่าอะไรเขียนได้หรืออะไรเขียนไม่ได้ และนักวิเคราะห์ต้องทำตัวยังไง จากนั้นจึงมาคุยกับนักวิเคราะห์อีกครั้งนึงว่าการทำงานควรจะเป็นอย่างไร”

โปรเจคหรือแผนทั่วๆไปที่นักวิเคราะห์เอามาทำการวิเคราะห์และคิดราคาเป้าหมายออกมา ตรงนี้จะส่งผลกระทบอย่างไรบ้าง ?

“ปกติเขาก็น่าจะมีการบอกอยู่แล้วนะครับ หรือเป็นแผนประจำปีทั่วไป ซึ่งผมยกตัวอย่างธนาคารพาณิชย์หลายแห่ง พอมีการเจอนักวิเคราะห์เขาก็จะบอกแค่ปีหน้าสินเชื่อเขาจะโต 5% ต่อปี แล้ว NPL อยู่ที่ 1.5 อะไรแบบนี้ ซึ่งมันก็ไม่ได้มีนัยสำคัญที่จะเปลี่ยนแปลงไปมาก ถึงแม้มันเป็นข้อมูลภายใน แต่มันก็ไม่ได้เป็นข้อมูลภายในที่มีสาระสำคัญมากๆ”

แต่ในเรื่องของข้อมูลยอดขายกำไร หรือข้อมูลดีลต่างๆที่ห้ามอินไซด์ จริงๆกฏหมายเดิมก็ครอบคลุมตรงนี้อยู่แล้วนะครับ ?

“ครอบคลุมอยู่แล้วครับ มันก็ไม่ได้มีอะไรแต่เหมือนถูกหยิบมาเล่นประเด็นใหม่อีกครั้งนึง ซึ่งที่ผ่านมาอาจจะไม่ได้คุยกันในเรื่องนี้มากนัก เพราะก.ล.ต.ก็ไม่ได้เข้ามาให้รายละเอียดมากนักกับบทวิเคราะห์อะไรต่างๆ ผมคิดว่าจริงๆในอดีตนักวิเคราะห์ก็คงไม่ได้เขียนเรื่องข้อมูลภายในอยู่แล้ว”

ที่มีการหยิบยกมาเป็นประเด็นใหม่เพราะมีการเพิ่มเติมกำหนดบทลงโทษในพระราชบัญญัติฉบับใหม่หรือเปล่า ?

“ผมคิดว่ากลุ่มที่จะปลอดภัยที่สุดต่อกฎหมายฉบับนี้ก็คือนักวิเคราะห์ที่เป็นนักวิเคราะห์ในสังกัดของโบรกเกอร์ เพราะนักวิเคราะห์เหล่านี้ปฏิบัติตามกรอบตามเกณฑ์มาตลอด ผมว่ากลุ่มที่จะได้รับผลกระทบมากต่อกฏหมายนี้ก็คือ นักวิเคราะห์ที่ไม่ได้อยู่ในโบรกเกอร์ คนที่ทำตัวเป็นนักวิเคราะห์แต่ไม่ได้สังกัดหลักทรัพย์ คนเหล่านี้ในอดีตไม่ได้มีคนไปดูเขาว่าเขาทำอะไรแต่ว่ากฏหมายฉบับใหม่นี้เขียนเพิ่มเติมว่า ผู้ใดนำข้อมูลไปวิเคราะห์ เขาไม่ได้เขียนว่านักวิเคราะห์ เขาเขียนว่าผู้ใดนำข้อมูลเท็จหรือข้อมูลไม่ครบถ้วนไปวิเคราะห์ก็จะมีความผิด เพราะฉะนั้นผมคิดว่าคนที่น่าจะระวังที่สุดก็คือนักวิเคราะห์ที่ตอนนี้ไม่ได้ปฏิบัติตามกรอบ”

ในแง่ของการรับรู้ข้อมูลของนักลงทุนรายย่อย โดยพื้นฐานของกฎหมายฉบับเดิมที่เรากำลังใช้กันอยู่ ดุลยภาพของการรับรู้ข้อมูลระหว่างนักลงทุนรายย่อยกับกลุ่มอื่นๆ สถานการณ์ ณ ตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง ?

“ข้อมูลที่ได้รับน่าจะเท่ากับข้อมูลที่ถูกนำไปวิเคราะห์เพื่อมองอนาคต แน่นอนว่าราคาหุ้นไม่ได้เคลื่อนไหวด้วยอดีต เราต้องตั้งสมมุติฐานก่อนว่าเราไม่ได้ใช้ข้อมูลภายใน ซึ่งถ้านักวิเคราะห์ที่เขาเก่งๆเขาจะสามารถคาดการณ์ได้ และแน่นอนนักวิเคราะห์ก็ต้องให้ความสำคัญกับลูกค้ารายใหญ่ของเขา ซึ่งไม่ถือว่าผิดนะครับ แต่ในแง่ของข้อมูลที่ได้ผมว่าเท่ากัน แต่ข้อมูลที่ผ่านการวิเคราะห์แล้วจะต้องจ่ายเงิน เพราะว่าบริษัทหลักทรัพย์เขาก็มีต้นทุนในการวิเคราะห์อยู่แล้ว อันนี้ก็ต้องแล้วแต่ว่าคุณใช้บริการที่ไหน หรือคุณจะวิเคราะห์เอง”

ดูแล้วดุลยภาพของนักลงทุนรายย่อยก็เหมือนจะเป็นหางแถวตลอด เพราะว่าอย่างที่คุณไพบูลย์บอกว่าบางโบรกเกอร์ก็ต้องเอาใจขาใหญ่ของตัวเอง ?

“ไม่หรอกครับ ผมคิดว่าถ้าคุณเป็นลูกค้าของโบรกเกอร์ ที่เขาให้ความสำคัญกับบทวิจัย เขาก็ให้ทุกคนเท่ากัน คือตอนนี้มีนักลงทุนรายย่อยที่บางคนบอกว่าจะจ่ายค่าคอมต่ำๆ แน่นอนว่าถ้าค่าคอมต่ำคุณก็ต้องใช้บริการกับบริษัทหลักทรัพย์ที่เขาไม่มีข้อมูลดีๆที่ผ่านการวิเคราะห์ออกมา คือคุณต้องไปแอบใช้ของที่อื่น ฉะนั้นผมก็เลยอยากจะให้นักลงทุนอย่าไปเน้นว่าจะซื้อขายด้วยการจ่ายค่าคอมต่ำที่สุด แล้วพอค่าคอมต่ำที่สุดแล้วคุณก็ได้ข้อมูลที่ต่ำที่สุดเหมือนกัน เพราะนักลงทุนที่เขาได้ข้อมูลเยอะๆเป็นเพราะเขาจ่ายค่าคอม”

ต่อไปในแง่ของข้อมูลอะไรต่างๆที่จะนำมาวิเคราะห์หรือนำมาเขียนผ่านหน้าหนังสือพิมพ์ อาจจะช้าลงไป เนื่องจากต้องรอให้มีการเปิดเผยข้อมูลต่อตลาดหลักทรัพย์ก่อน พอจะมีแนวทางอย่างไรบ้างที่จะตอบโจทย์ความรวดเร็วของการซื้อขายหุ้นในตลาด ?

“ผมคิดว่าอยู่ที่ก.ล.ต. ว่าพอมีกฎหมายฉบับนี้ออกมาแล้วก.ล.ต. ก็ต้องไปคิดต่อด้วยว่าจะทำยังไงให้ข้อมูลไปสู่สาธารณะชนและสามารถเอาไปเสพต่อได้ สมมุติเป็นข้อมูลบริษัท เพื่อความรวดเร็วถ้าเขาประกาศบนเว็ปไซต์เขา เราถือว่าเป็นสาธารณะได้ไหม คือใครจะเข้าก็ได้ อันนี้ก็น่าจะได้นะครับ ผมคิดว่าถ้าทำอย่างนี้ก็เป็นการช่วยให้ข้อมูลออกมาเร็วได้ แต่ถ้าก.ล.ต.ยังเป็นห่วงว่าเดี๋ยวเข้าเว็ปไม่พร้อมกัน อันนี้ก็คงยากแล้วแหละ แต่มันก็มีหลายวิธียิ่งตอนนี้กระบวนการสื่อสารมันเร็วมาก มีช่องทางเยอะที่จะทำให้ข้อมูลมันควรจะเร็วขึ้นกว่าเดิม ถ้าตลาดหลักทรัพย์สามารถมีวิธีให้บริษัทจดทะเบียนสามารถมาเปิดเผยข้อมูลได้รวดเร็วขึ้น ก็ต้องไปคุยกับตลาดหลักทรัพย์ว่ามีวิธีใดบ้าง”

กรณีที่ออกไปทำโรดโชว์ต่างประเทศจะเกิดความเหลื่อมล้ำในแง่ของนักลงทุนไทยกับนักลงทุนต่างชาติไหมครับ ?

“ไม่ครับ ผมคิดว่าถ้าเกิดคุยกันชัดเจนแล้วว่าข้อมูลอะไรพูดได้ข้อมูลอะไรพูดไม่ได้ก็จบ แต่ก็อยู่ที่คนพูด ผมถึงบอกว่ากลุ่มที่สำคัญที่สุดก็คือกลุ่มบริษัทจดทะเบียน เพราะเขาเป็นคนพูด ถ้าเขามีจริยธรรมด้านนี้ในประเทศหรือนอกประเทศก็พูดเหมือนกันมันก็ไม่มีปัญหาอะไร จริงๆเวลาไปโรดโชว์ฝรั่งเวลาเค้าจะถาม ส่วนใหญ่เค้าถามอะไรที่ไม่ใช่ข้อมูลภายใน เขาถามถึงวิสัยทัศน์ยาวๆ เพราะเขาลงทุนระยะยาวเขาไม่ได้เกาะติดวันต่อวันฉะนั้นข้อมูลที่ผู้บริหารไปโรดโชว์ แทบไม่มีผลเลยต่อการเคลื่อนไหวระยะสั้น เพราะเขาพูดแต่เรื่องระยะยาว”

ถ้า พ.ร.บ.ฉบับใหม่ประกาศใช้ จะช่วยแก้ปัญหาในเรื่องทุบหุ้นปั่นหุ้นได้จริงหรือเปล่า เพราะมีบางคนว่ากันว่าหากไม่มองในเชิงบวกจนเกินไป จะเห็นได้ว่ากลุ่มที่จะรู้ข้อมูลเป็นกลุ่มสุดท้ายมักจะเป็นนักลงทุนรายย่อยเสมอ ในขณะที่มักจะมีนักลงทุนรายใหญ่ที่เรียกว่ามีสายสัมพันธ์จะเข้าไปถามผู้บริหารได้โดยตรง ตรงนี้ยังเกิดความเหลื่อมล้ำอยู่หรือเปล่าครับ ?

“ประเด็นก็อยู่ที่การบังคับใช้กฎหมาย ถ้าการบังคับใช้เข้มงวดจริงผมคิดว่ากลุ่มแรกที่จะต้องไปทำความเข้าใจก็คือกลุ่มบริษัทจดทะเบียน คือถ้าข้อมูลไม่หลุดออกจากบริษัทจดทะเบียนไม่ว่าจะเป็นระดับกรรมการ หรือระดับผู้บริหาร ข้อมูลก็ไม่มีทางหลุดออกมาสู่สาธารณะชนได้ ซึ่งกลุ่มที่ก.ล.ต.ควรจะทำความเข้าใจมากที่สุดคือกลุ่มคนที่ให้ข่าว ซึ่งถ้าเขาให้ข่าวที่เท่าเทียมไม่อินไซด์ นักวิเคราะห์ สื่อมวลชน หรือนักวิเคราะห์นอกกรอบเหล่านี้ก็ไม่มีข้อมูลที่จะมาทำอะไรได้ มันก็จะเท่าเทียมกัน”

Back to top button