CoCo และ ดอยช์แบงก์พลวัต 2016

หัวเรื่องมีนัยถึงวิกฤตของธนาคารพาณิชย์ใหญ่สุดของเยอรมนี ดอยช์แบงก์ ที่ทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกสั่นสะเทือนมาตั้งแต่สัปดาห์ที่ผ่านมา และหากทำความเข้าใจเรื่องนี้ จะเข้าใจว่าทำไมดอยช์แบงก์มาถึงทางตันจนเข้าข่ายจะต้องถูกเทกโอเวอร์กิจการในไม่ช้านี้


วิษณุ โชลิตกุล

 

หัวเรื่องมีนัยถึงวิกฤตของธนาคารพาณิชย์ใหญ่สุดของเยอรมนี ดอยช์แบงก์ ที่ทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกสั่นสะเทือนมาตั้งแต่สัปดาห์ที่ผ่านมา และหากทำความเข้าใจเรื่องนี้ จะเข้าใจว่าทำไมดอยช์แบงก์มาถึงทางตันจนเข้าข่ายจะต้องถูกเทกโอเวอร์กิจการในไม่ช้านี้

CoCo (เรียกให้ใกล้เคียงกับ โคโค่ ชาเนล เจ้าของแบรนด์เครื่องสำอางชื่อดัง) เป็นชื่อย่อของตราสารหนี้ลูกผสมที่เรียกว่า  contingent convertible bond  หรือเรียกอีกอย่างว่า  enhanced capital note (ECN)ที่ดัดแปลงมาจากธุรกิจประกันภัย แต่ได้นำเอามาโยงเข้ากับตราสารอนุพันธ์และตราสารหนี้

ดอยช์แบงก์ ในอดีต ถือว่าเป็นธนาคารยุโรปที่ข้ามฟากไปยุ่งเกี่ยวกับการลงทุนในตลาดระหว่างประเทศค่อนข้างมาก

ก่อนวิกฤตซับไพรม์ในสหรัฐฯ มีข้อมูลของธนาคารเองระบุว่า เป็นนักเก็งกำไรค่าเงินรายใหญ่อันดับหนึ่งของโลก มีส่วนแบ่งการตลาดมากถึง 21% นอกจากนั้น ยังเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในตลาดวาณิชธนกิจข้ามชาติระดับหัวแถว โดยมีสัดส่วนสูงมากถึง 50%  ของส่วนผู้ถือหุ้น 75% ของสินทรัพย์ที่ธนาคารกู้เงินผ่าน CoCo ทั้งหมด และ ทำกำไรมากถึง 50% ของกำไรสุทธิรวม

วิกฤตซับไพรม์ที่ทำให้อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำทั่วโลกตกต่ำยาวนาน ทำให้ดอยช์แบงก์ ตกอยู่ในสภาพถดถอยในการทำกำไรรุนแรง แต่มาปรากฏชัดนับแต่งบการเงินสิ้นงวดปี ค.ศ. 2014 ที่มี EBITDA ติดลบมากถึง 1.2 พันล้านยูโร หรือ 1.6 พันล้านดอลลาร์ จากรายได้ที่ดลลง 16% ในปีนั้น และขาดทุนต่อเนื่องมา ในขณะที่สถานการณ์เลวร้ายลงจนถึงขั้นผู้บริหารจำต้องทยอยลาออกคนแล้วคนเล่า สังเวยความผิดพลาด

ปัญหาของดอยช์แบงก์ถูกหมักหมมในปี 2015 เมื่อธนาคารกลางยุโรปตัดสินใจผิดพลาด โดยให้ยกเลิกการทดสอบมาตรฐานกำกับความเสี่ยงหรือ Stress Test สำหรับธนาคารพาณิชย์ในยุโรปไป 1 ปี จึงทำให้มองไม่เห็นภาพที่ชัดเจน โดยเฉพาะในช่วงที่หลายแบงก์ในยุโรปเริ่มทำธุรกิจที่เสี่ยงมากขึ้น

งบสิ้นงวดปี ค.ศ. 2015 ของธนาคาร เลวร้ายลงไปอีก เมื่อตัวเลข EBITDA ขาดทุนอีก 6.1 พันล้านยูโร และขาดทุนสุทธิ 6.7 พันล้านยูโร ทำให้สถานการณ์เลวร้ายหนักขึ้น เมื่อปีนี้ก็กลับมาสอบไม่ผ่านมาตรฐานกำกับความเสี่ยงหรือ stress test ของ BIS ที่กลับมาทำการทดสอบใหม่อีกครั้ง และถูกปลดจากกระดานซื้อขายในดัชนี STOXX Europe 50stock market index เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

ฟางเส้นสุดท้ายเกิดขึ้นเมื่อ มีข่าวสัปดาห์ก่อนว่า จะต้องจ่ายค่าปรับมหาศาลจากการละเมิดกฎกติกาในการซื้อขายตราสารอนุพันธ์ในตลาดสหรัฐฯเรียกค่าปรับจากกรณี Sub Prime ที่เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 2008 เป็นจำนวนสูงถึง 1.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้คนที่ถือ CoCo ที่ออกโดยดอยช์แบงก์ ถอดใจขายทิ้งกันระนาว ส่งผลต่อการขาดความเชื่อมั่นในราคาหุ้นทั้งในตลาดยุโรปและสหรัฐฯ

รากเหง้าของปัญหาเรื้อรังของดอยช์แบงก์ เกิดจาก การเข้าไปพัวกันในตลาดตราสารอนุพันธ์ในสหรัฐฯ และเมื่อเกิดวิกฤตซับไพรม์เมื่อหลายปีก่อน ก็ตกเป็นข่าวลือว่า อาจจะตกในสถานการณ์ยากลำบาก แต่มาปรากฏในภายหลังเมื่อค่อนข้างสายว่า วงเงินที่ดอยช์แบงก์พัวพันในตลาดตราสารอนุพันธ์สหรัฐฯ มีมูลค่ามหาศาลถึง 64 ล้านล้านดอลลาร์ หรือเท่ากับ 5 เท่าของจีดีพีกลุ่มยูโรโซน หรือ 16 เท่าของจีดีพีประเทศเยอรมนี

สถานการณ์ยากลำบากของดอยช์แบงก์ถูกเปิดโปงหนักขึ้นเมื่อ ยูโรโซนเริ่มใช้มาตรฐานการกำกับความเสี่ยงหรือ stress test ทำให้ดอยช์แบงก์ต้องหันไปหาวิธีการเพิ่มเงินกองทุนเพื่อกลบเกลื่อนความเสียหายจากการขาดทุน ด้วยการกู้เงินจาก หุ้นกู้สายพันธุ์ CoCo ซึ่งมีเงื่อนไขว่าจะจ่ายดอกเบี้ยในสถานการณ์ปกติ ทว่าจะแปลงสภาพเป็นหุ้นสามัญได้เมื่อเกิดเหตุการณ์ต่างๆ ที่ระบุเช่น อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงต่ำกว่าค่าค่าหนึ่ง

การพึ่งพา CoCo ซึ่งเป็นตราสารหนี้ที่มีต้นทุนถูกกว่าหุ้นกู้ปกติ แต่เนื่องจากเงื่อนไข Basel 3 ระบุว่า หากจะนำมาเป็นเงินกองทุน จะมีคุณภาพที่ต่ำกว่าหุ้นสามัญซึ่งมีศักดิ์ศรีเป็นเงินกองทุนขั้นที่ 1 ทว่า CoCo เป็นเพียงเงินกองทุนขั้นที่ 1 แบบส่วนเพิ่มหรือ Additional Tier 1  พูดให้แรง คือ เท่ากับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 3 เท่านั้น

ตามข้อมูลทั่วไป ดอยช์แบงก์ จะไม่สามารถจ่ายดอกเบี้ยให้นักลงทุนที่ถือ CoCo ภายใต้กฎหมาย CRD 4 ของสหภาพยุโรป จากการดูที่ปริมาณของ Maximum Distributable Amount (MDA) ซึ่งเป็นนิยามทางบัญชีของธนาคารกลางยุโรปว่าด้วยเงินสำรองที่พร้อมจ่ายเป็นดอกเบี้ยให้นักลงทุน ที่เน้นหนักไปทาง Accrual Basis แต่ในระบบบัญชีของเยอรมนี แบงก์ของเยอรมนีจะมีเงื่อนไขเพิ่มเติมว่า ให้ดูที่ปริมาณ Available Distributable Items หรือ ADI ซึ่งเป็นเงินสำรองที่พร้อมจ่ายเป็นดอกเบี้ยให้นักลงทุน ที่อยู่ภายใต้ระเบียบบัญชีของเยอรมนีเอง ลงบัญชีเป็นแบบ Cash Basis

ล่าสุดนักวิเคราะห์พบว่า โดยค่า ADI ของดอยช์แบงก์ ต่ำกว่าปริมาณ MDA ทำให้โอกาสที่จะไม่สามารถชำระหนี้ CoCo ได้ สูงขึ้น แม้ว่าทางดอยช์แบงก์จะประกาศว่า มีปริมาณเงิน ADI จ่ายถึง 1 พันล้านยูโร ซึ่งเพียงพอที่จะจ่ายดอกเบี้ยแบบเหลือเฟือ

ที่สำคัญความเสี่ยงของการที่กฎหมายในยุโรปอนุญาตให้  ผู้กำกับสถาบันการเงินสามารถระงับไม่ให้ดอยช์แบงก์สามารถจ่ายคูปองของตราสาร CoCo ได้ทุกเมื่อ เมื่อราคาหุ้นดอยช์แบงก์ตกมากๆ จึงมีคนเริ่มสงสัยว่า หากหน่วยงานกำกับสถาบันการเงินของเยอรมนี ประกาศให้ดอยช์แบงก์งดจ่ายดอกเบี้ย ห่วงโซ่จะลุกลามไกลแค่ไหน

จุดเสี่ยงของดอยช์แบงก์ยามนี้  จึงอยู่ที่ว่า ไม่มีใครพูดความจริงอย่างหมดเปลือกออกมา

 

Back to top button