“บ้านปู เพาเวอร์” คาดเข้าเทรด SET 28 ต.ค.นี้
"บ้านปู เพาเวอร์" หรือ BPP ผู้ประกอบธุรกิจการลงทุนในบริษัทอื่นที่ประกอบธุรกิจหลักด้านการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า คาดเข้าเทรด SET 28 ต.ค.นี้ โดยมี บล.ธนชาต, บล.บัวหลวงและบริษัท เดอะ ควอนท์ กรุ๊ป จำกัดเป็นที่ปรึกษาการเงิน
นางสมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) หรือ BANPU และกรรมการ บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ เปิดเผยว่า คาดว่าหุ้น BPP จะเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ราววันที่ 28 ต.ค.นี้ หลังจากการเสนอขายหุ้นให้กับประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) ระหว่างวันที่ 18-20 ต.ค.59
สำหรับเงินระดมทุนที่ได้จากการขายหุ้น IPO ครั้งนี้ จะนำมาใช้ชำระคืนเงินกู้ยืม และลงทุนขยายธุรกิจทั้งในและต่างประเทศต่อไป โดย BPP มีแผนจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัดส่วนร่วมทุนเป็นราว 2,400 เมกะวัตต์ (MW) ในปี 61 และเพิ่มเป็น 4,300 MW ในปี 68 จากปัจจุบันที่มีกำลังการผลิตที่เดินเครื่องผลิต (COD) แล้ว 1,913 MW
“ประโยชน์ที่บ้านปูจะได้รับจากการขายหุ้น IPO ของ BPP ครั้งนี้ คือจะมีการดำเนินงานที่ชัดเจนของธุรกิจไฟฟ้าอยู่ในบ้านปู เพาเวอร์ ส่วนบ้านปูก็จะเป็นธุรกิจถ่านหินและเทคโนโลยีพลังงานอื่น ๆ จะทำให้มูลค่าหุ้นของ BANPU และ BPP มีความชัดเจนมากขึ้น”นางสมฤดี กล่าว
นางสมฤดี กล่าวอีกว่า การขายหุ้น IPO ครั้งนี้ จัดสรรให้กับนักลงทุนสถาบันที่เป็น Cornerstone Investors จำนวน 2 ราย จำนวน 110 ล้านหุ้นที่ได้จองซื้อหุ้นเข้ามา ได้แก่ 1. Capital Research and Management Company (CRMC) 2. Credit Suisse AG สาขาสิงคโปร์ และ Credit Suisse AG สาขาเขตการปกครองพิเศษฮ่องกง (รวมเรียกว่า CS Cornerstone Investors) ซึ่งนับว่าเป็นนักลงทุนที่มีคุณภาพก็จะช่วยเสริมความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนที่จะเข้ามาจองซื้อหุ้น IPO ของ BPP ในครั้งนี้ด้วย
ทั้งนี้ BPP จะเสนอขายหุ้น IPO จำนวนไม่เกิน 648.49 ล้านหุ้น พาร์หุ้นละ 10 บาท กำหนดช่วงราคาที่ 18-21 บาท/หุ้น และจะเคาะราคาสุดท้ายภายในวันที่ 17 ต.ค.นี้ โดยบริษัทจัดสรรหุ้น IPO จำนวนไม่เกิน 210 ล้านหุ้นให้กับผู้ถือหุ้นเดิมของ BANPU ตามสัดส่วน ขณะที่ส่วนที่เหลือไม่เกิน 438.49 ล้านหุ้นจะเสนอขายให้นักลงทุนทั่วไป ซึ่งรวมถึงนักลงทุนสถาบัน 2 รายที่ได้จองซื้อหุ้นดังกล่าวแล้ว 110 ล้านหุ้นด้วย คาดว่าจะระดมทุนได้ราว 1.17-1.36 หมื่นล้านบาท ขณะที่ BANPU จะลดสัดส่วนการถือหุ้นใน BPP เหลือราว 78% จากเดิมที่ถือหุ้นอยู่ทั้งหมด
ด้านนายวรวุฒิ ลีนานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการ ของ BPP กล่าวว่า บริษัทจะนำเงินที่ได้จากการขายหุ้น IPO ไปใช้คืนหนี้ BANPU ในวงเงินกว่า 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะทำให้บริษัทเกือบจะไม่มีภาระหนี้เลย ส่วนที่เหลือจะใช้ลงทุนขยายงานและใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน โดยตามแผนจะใช้เงินอีกราว 700-750 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อใช้ขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าตามเป้าหมายเป็น 4,300 MW ภายในปี 68
อย่างไรก็ตาม ในช่วงจากนี้จนถึงปี 61 ที่จะขยายกำลังการผลิตไฟฟ้ามาที่ระดับ 2,400 MW นั้น บริษัทจะใช้เงินจาก IPO และกระแสเงินสดจากการดำเนินงานในการลงทุนดังกล่าว และหลังจากนั้นการขยายกำลังการผลิตเพิ่มเป็น 4,300 MW นั้นจะมาจากการกู้ยืมเงิน
สำหรับแผนการขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าเป็นระดับ 2,400 MW ในปี 61 นั้น จะมาจากกำลังการผลิตไฟฟ้าที่มีอยู่ในมือและอยู่ระหว่างการพัฒนา ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในจีน 90 เมกะวัตต์ ,โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในญี่ปุ่น 88 เมกะวัตต์ ในส่วนนี้คิดเป็นสัดส่วนการผลิตตามสัดส่วนร่วมทุน 67.8 เมกะวัตต์ ,โรงไฟฟ้าถ่านหินซานซีลู่กวง ในจีน ขนาด 1,320 MW ซึ่งในส่วนนี้คิดเป็นกำลังการผลิตตามสัดส่วนร่วมทุน 396 เมกะวัตต์ ,โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ประเภทโซลาร์รูฟ ในไทย ราว 1.5 เมกะวัตต์
ขณะที่บริษัทยังมองหาโอกาสการลงทุนใหม่เพื่อเพิ่มกำลังผลิตให้ได้ตามเป้าหมายระยะยาว 4,300 MW ในปี 68 นั้น จะกระจายอยู่ในภูมิภาคเอเซีย เช่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เมียนมา และเวียดนาม นอกเหนือจากปัจจุบันที่มีการผลิตอยู่แล้วในไทย ,ลาว ,จีน และญี่ปุ่น โดยในไทยนั้น สนใจลงทุนทั้งพลังงานชีวมวล ,พลังลม ,พลังงานแสงอาทิตย์ รวมถึงโอกาสขยายโรงไฟฟ้าถ่านหินบีแอลซีพี แห่งที่ 2 ขนาด 1,000 MW ซึ่งจะมีการเจรจาเพื่อผลักดันให้รัฐบาลรับซื้อไฟฟ้าต่อไป
ส่วนโครงการในเวียดนามนั้น ล่าสุดบริษัทได้ลงนามบันทึกความเข้าใจเบื้องต้น (MOU) กับรัฐบาลท้องถิ่นเวียดนาม เพื่อศึกษาพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 1,300 MW ทางตอนกลางของประเทศ เบื้องต้นคาดว่าจะถือหุ้นราว 50% ร่วมกับเวียดนามและอาจจะมีพันธมิตรระดับสากลเข้ามาร่วมด้วย โดยโครงการคาดว่าจะใช้เวลาศึกษาราว 6 เดือนจากนี้เพื่อนำผลการศึกษาเสนอต่อรัฐบาลเวียดนาม เพื่อพิจารณาและผลักดันให้โครงการถูกบรรจุในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ โดยคาดว่ารัฐบาลเวียดนามจะใช้เวลาพิจารณาและอนุมัติโครงการคงจะใช้เวลาอีก 5 ปี ซึ่งจะทำให้โครงการแล้วเสร็จได้ภายในปี 68
สำหรับโครงการในลาวนั้น นอกเหนือจากโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินหงสาที่บริษัทดำเนินการอยู่แล้ว ก็จะยังให้ความสนใจโครงการพลังน้ำขนาดเล็ก มีกำลังผลิตน้อยกว่า 100 MW และไม่ได้อยู่ตามลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งจะสามารถทำให้พัฒนาโครงการได้เร็วและน่าจะเห็นผลได้ก่อนปี 63 ขณะเดียวกันยังพิจารณาโครงการผลิตไฟฟ้าทั้งในเมียนมา,กัมพูชา ,ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซียด้วย แต่จะเน้นโฟกัสไปที่ลาวและเวียดนามเป็นหลักก่อน ซึ่งบริษัทให้ความสนใจโครงการทุกรูปแบบ ทั้งพลังงานแสงอาทิตย์ ,พลังความร้อนใต้พิภพ ,พลังงานลม ,พลังน้ำ รวมถึงโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงหลัก เป็นต้น
นายวรวุฒิ กล่าวอีกว่า ขณะที่ในจีนนอกเหนือจากโรงไฟฟ้าถ่านหินแล้ว บริษัทจะเน้นโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เป็นหลัก โดยมีเป้าหมายจะมีกำลังการผลิตจากพลังงานแสงอาทิตย์ราว 400-500 MW จากปัจจุบันที่มีอยู่ 140 MW และ ในญี่ปุ่น มีเป้าหมายจะมีการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เป็นระดับ 200 MW จากปัจจุบันที่มีราว 100 MW และยังสนใจผลิตไฟฟ้าจากชีวมวลในญี่ปุ่นอีกราว 40 MW ด้วย ซึ่งโดยรวมน่าจะทำให้สามารถมีกำลังการผลิตไฟฟ้าบรรลุเป้าหมายที่ 4,300 MW ในปี 68 ได้ โดยในส่วนนี้จะเป็นพลังงานหมุนเวียนไม่น้อยกว่า 20%
ทั้งนี้ พอร์ตทรัพย์สินของบริษัทราว 1 ใน 3 จะอยู่ในประเทศไทย ขณะที่อีก 1 ใน 3 จะอยู่ในจีน ส่วนที่เหลือจะกระจายอยู่ในประเทศต่าง ๆ ทั้งลาว อินโดนีเซีย เวียดนาม และอื่น ๆ