ปิดปาก-ปิดตลาด?ขี่พายุ ทะลุฟ้า
มันช่างย้อนแย้งสิ้นดีเสียจริงๆ นะครับ กับการที่ “พญาน้อยชมตลาด” ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เดินทางไปให้นโยบายส่งเสริมธุรกิจสตาร์ท-อัพที่สำนักงาน ก.ล.ต.
ชาญชัย สงวนวงศ์
มันช่างย้อนแย้งสิ้นดีเสียจริงๆ นะครับ กับการที่ “พญาน้อยชมตลาด” ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เดินทางไปให้นโยบายส่งเสริมธุรกิจสตาร์ท-อัพที่สำนักงาน ก.ล.ต.
ถึงกับจะให้หาทางเปิดเป็น “ตลาดสตาร์ท-อัพ” ขึ้นมาอีกตลาดหนึ่ง เพื่อส่งเสริมให้ธุรกิจดังกล่าวเข้าถึงแหล่งเงินทุน
หลังมอบนโยบายแล้ว พญาน้อยก็เดินทางออกจากสำนักงาน ก.ล.ต.ไป ท่านเลขาฯ รพี สุจริตกุล รับนโยบายแล้ว ก็รีบรุดนำเรื่องมาหารือในที่ประชุมอีกวงหนึ่ง ซึ่งตั้งสำรับรอท่าไว้แล้ว
อันมีตลาดหลักทรัพย์ฯ และหน่วยงานเอกชนด้านตลาดทุน อาทิ สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย มาประชุมร่วม 3 ฝ่ายกับก.ล.ต.
ผลประชุมที่ออกมาก็คือ เห็นด้วยกับการช่วยเหลือสตาร์ท-อัพ แต่ยังไม่เห็นความจำเป็นจะตั้งเป็นกระดานซื้อขายใหม่ขึ้นมา
แต่ก็ไม่ถือว่าเป็นบทสรุปทางการอะไรนะครับ เพราะวงการตลาดทุนไทยเราก็เป็นอย่างนี้แหละ เวลาคนใหญ่กว่าสั่งการอะไรลงไป ก็ยอมหยวนกันไปก่อน แล้วค่อยกล้อมแกล้มไปหาเรื่องเคลียร์กันในภายหลัง
หันมาดูทางฝั่งคนสั่งนโยบายส่งเสริมสตาร์ท-อัพ นี่ก็ตลกร้ายเลยเชียวแหละ
ในขณะที่ลูกพี่ใหญ่ออกไปประกาศนโยบายปาวๆ อธิบดีสรรพากร คุณประสงค์ พูนธเนศ ท่านก็ประกาศนโยบายจะไล่ล่าเก็บภาษีพวกธุรกิจซื้อขายทางเพจดังออนไลน์ทั้งหลาย
พวกทำธุรกิจเกี่ยวพันเช่น “เน็ต ไอดอล” รับจ้างโปรโมชั่นสินค้า และพวก “บล็อกเกอร์” รับจ้างเชียร์สินค้า ที่มีรายได้เข้าเกณฑ์ขึ้นมา ก็ต้องถูกเรียกเข้ามาจัดระเบียบภาษีทั้งหมด
รองนายกฯ สมคิด ลืมสั่งการอธิบดีสรรพากรไว้ก่อนหรือไง ถึงข้ามไปสั่งการเอาก.ล.ต.โน่น
ปัญหาสำคัญยิ่งยวดของสำนักงานกำกับดูแลตลาดทุนแห่งนี้ ไม่ใช่การจัดตั้งตลาดสตาร์ท-อัพ ที่โปรโมทกันมาแบบเกินจริง
หากแต่อยู่ที่ร่างพ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ที่กำลังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์เซ็งแซ่ทั้งในที่ลับและที่แจ้งในเวลานี้
ความท้าทายสำคัญก็อยู่ที่ว่า จะเป็นทั้งกฎหมายปิดปากทุกฝ่ายและปิดตลาดหุ้นไทย ที่ผ่านการพัฒนามาจนแซงหน้าตลาดสิงคโปร์ไปแล้วด้วยหรือเปล่า
ข้อใหญ่ใจความของการออกกฎหมายฉบับนี้ ก็เพื่อป้องกันการเผยแพร่ข้อมูลอันเป็นข้อมูลภายใน (อินไซเดอร์ เทรดดิ้ง), ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง, ข้อมูลอันเป็นเท็จ, ข้อมูลที่บิดเบือน และข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน
อันที่จริง กฎหมายเก่าก็มีบทป้องกันการกระทำ “ต้องห้าม” ทั้งหลายแหล่ดังกล่าวแล้วล่ะ แต่ก็อาจจะมีความยากตรงการต้องหาหลักฐานให้ได้ว่า เป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ตนเองหรือผู้อื่น หรือเอารัดเอาเปรียบผู้อื่น
แนวทางแก้ไขกฎหมายจึงออกมาในทางให้มีการใช้ “ดุลพินิจ” มากขึ้น และอีกทางหนึ่งก็คือขจัดข้อคลุมเครือ โดยใช้เกณฑ์ว่าได้แจ้งข้อมูลผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯ มาแล้วหรือยัง
อันใดที่จะเป็นข้อสงสัยว่า อินไซด์หรือเปล่า ไม่ถูกต้อง เป็นเท็จ บิดเบือน หรือไม่ครอบคลุมหรือเปล่า ก็อาจจะใช้เครื่องมือชี้วัดกันง่ายๆ
นั่นคือ เกณฑ์แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ มาก่อนหรือไม่
ถ้าแจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ก่อนก็เป็น “ข้อมูลสาธารณะ” ถ้าไม่แจ้งก่อนก็เป็น “ข้อมูลภายใน” ใครเอาไปใช้ก็จะมีความผิดตามพ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ
เท่าที่ผมนั่งศึกษาดูข้อถาม-ตอบ 13 ข้อ ที่เผยแพร่ออกมาจากสำนักงานก.ล.ต. แม้กระทั่งการทำบทวิเคราะห์ต่างๆ ก็ยังยากเลย ขืนเอาข้อมูลที่ยังไม่แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ไปใช้ประกอบ ก็จะมีความผิด
สื่อที่เอาไปเผยแพร่ต่อก็จะมีความผิดตามไปด้วย
ต่อไปการหาข่าววันๆ ของสื่อ จะให้รอแต่ข่าวที่แจ้งตลาดหลักทรัพย์เข้ามาหรือครับ ซึ่งวันๆ ก็มีน้อยนิด แค่ 3 ข่าว-5 ข่าวอยู่แล้ว มาเจอกฎหมายโหดๆ แบบนี้ ผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนยิ่งขี้หดตดหายเข้าไปใหญ่ ข่าวสารก็ยิ่งจะมีน้อยลง
นักลงทุนรายย่อย จะมีข่าวสารข้อมูลเพียงพอต่อการตัดสินใจลงทุนได้อย่างไร
ต่อไป งาน “ออปเดย์” ของตลท.ซึ่งให้ผู้บริหาร บจ. มาพบปะพูดคุยกับนักลงทุน ผมก็ยังสงสัยว่าจะสามารถจัดงานต่อไปได้หรือเปล่า เพราะข้อมูลจากปากผู้บริหาร บจ. ต้องผ่านการแจ้งตลาดฯ มาก่อนแล้วเท่านั้น
เผลอไผลไป อาจจะติดคุกติดตะราง หรือโดนกล่าวโทษจนขาดคุณสมบัติที่จะนั่งบริหารบริษัทของตัวเองต่อไปก็ได้
ก.ล.ต.อาจจะเจตนาดีเกินจนลืมไปว่านี่กลายเป็นกฎหมายปิดปาก และอาจบั่นทอนทำลายตลาดในที่สุด
############## “ออปเดย์” OPPDAY ################