VNG บนพื้นฐานที่แข็งแกร่ง

มีการวิเคราะห์กันว่า VNG มีปริมาณการขายสินค้าช่วงไตรมาส 3 ปี 59 มีโมเมนตัมดีต่อเนื่องมาตั้งแต่ไตรมาส 2 ปี 59 โดยเฉพาะการส่งออก MDF ไปภูมิภาคตะวันออกกลาง ที่มีคำสั่งซื้อเข้ามาหนาแน่น เช่นเดียวกับการส่งออก Particle Board ไปเกาหลีใต้ แม้เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นจะกดดันอัตรากำไรไตรมาสนี้ลง เนื่องจาก VNG มีรายได้จากการส่งออกสูงถึง 70% ของยอดขายรวม


—คุณค่าบริษัท—

 

มีการวิเคราะห์กันว่า บริษัท วนชัย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ VNG มีปริมาณการขายสินค้าช่วงไตรมาส 3 ปี 59 มีโมเมนตัมดีต่อเนื่องมาตั้งแต่ไตรมาส 2 ปี 59 โดยเฉพาะการส่งออก MDF ไปภูมิภาคตะวันออกกลาง ที่มีคำสั่งซื้อเข้ามาหนาแน่น เช่นเดียวกับการส่งออก Particle Board ไปเกาหลีใต้ แม้เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นจะกดดันอัตรากำไรไตรมาสนี้ลง เนื่องจาก VNG มีรายได้จากการส่งออกสูงถึง 70% ของยอดขายรวม

ขณะที่ต้นทุนที่ต้องนำเข้ามีเพียง 40% แต่เชื่อว่าความประหยัดต่อขนาดจากการใช้กำลังการผลิตในระดับสูง น่าจะทำให้ VNG ยังรักษาอัตรากำไรขั้นต้นได้ในระดับใกล้เคียง 30% จึงประเมินกำไรไตรมาส 3 ปี 59 ในช่วง 400-450 ล้านบาท ใกล้เคียงกำไรที่ทำได้ในงวดไตรมาส 2 ปี 59

นอกจากนี้ VNG ขยายกำลังการผลิตต่อเนื่อง โดยการใช้กำลังการผลิตในระดับสูงกว่า 80% ทำให้ VNG มีโครงการ Debottleneck ขยายกำลังการผลิตโรงงาน 3 แห่ง ที่สระบุรี สุราษฏร์ธานี และชลบุรี โดยจะเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นอีก 15% ภายในปี 2560 และพิจารณาการลงทุน 2 โครงการใหญ่ คือโรงงาน MDF และโรงงานผลิตแผ่นไม้อัด OSB ซึ่งเป็นสินค้าที่มี margin สูง ขนาด 2 แสน ลบม.ต่อปีต่อโรง ด้วยมูลค่าเงินลงทุนรวม 4.5 พันล้านบาท ถือเป็นการลงทุนครั้งใหญ่ หลังการขยายกำลังการผลิตโรงงาน Particle Board ครั้งล่าสุดในปี 2555

สิ่งสำคัญ ต้องจับตาจุดเปลี่ยนธุรกิจของ VNG จะเกิดขึ้นในปี 2560 ซึ่งภาครัฐจะเปิดให้เอกชนเข้าประมูลโรงไฟฟ้าชีวมวล  400-500 เมกะวัตต์ โดย VNG มีความพร้อมอย่างมากที่จะเข้าแข่งขัน ทั้งด้านเงินทุน เทคโนโลยี รวมไปถึงความได้เปรียบเรื่องต้นทุนที่สามารถนำเศษไม้ที่เหลือจากกระบวนการผลิตไปใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับโรงไฟฟ้าขนาด 20 เมกะวัตต์ ซึ่งมีการประเมินว่าหาก VNG ลงทุนโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาด 20 เมกะวัตต์ จะช่วยเพิ่มกำไรได้ถึง 200 ล้านบาทต่อปี และช่วยเพิ่มมูลค่าหุ้นได้อีกราว 2 บาทต่อหุ้น

ส่วนผลการดำเนินงานช่วงที่ผ่านมา อย่างไตรมาส 2 สิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2559 บริษัทก็ยังรักษาประสิทธิ์ภาพได้เป็นอย่างดี โดยบริษัทมีรายได้จากการขายทั้งสิ้น 2,822.59 ล้านบาท จากงวดเดียวกันของปีก่อน 2,828.40 ล้านบาท ขณะที่กำไรของบริษัทขยับขึ้นมาอยู่ที่ 455.09 ล้านบาท หรือ 0.29 บาทต่อหุ้น จากงวดเดียวกันของปีก่อน 417.39 ล้านบาท หรือ 0.27 บาทต่อหุ้น

           

ขณะที่ผลการดำเนินงานงวดหกเดือน สิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2559 บริษัทมีรายได้จากการขายขยับขึ้นมาอยู่ที่ 5,411.29 ล้านบาท จากงวดเดียวกันของปีก่อน 5,359.93 ล้านบาท ส่งผลให้บริษัทมีกำไรขยับขึ้นมาอยู่ที่ 763.09 ล้านบาท หรือ 0.49 บาทต่อหุ้น จากงวดเดียวกันของปีก่อน 696.62 ล้านบาท หรือ 0.44 บาทต่อหุ้น ซึ่งแสดงให้เห็นถึงพื้นฐานของบริษัทยังแข็งแกร่ง

ในขณะที่นักวิเคราะห์ บล.เอเซีย พลัส มองว่าราคาหุ้นที่ผ่านการปรับฐานลงมาในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา โดยพื้นฐานของบริษัทไม่ได้เปลี่ยนแปลง ช่วยเปิด Upside ให้ VNG กลับมาน่าสนใจลงทุนอีกครั้ง จากแนวโน้มผลประกอบการไตรมาส 3 ปี 59 ที่โดดเด่น และ Outlook ในระยะยาวที่สดใส แนะนำ “ซื้อ” ประเมิน Fair Value อิง PER 15 เท่า ให้ราคาเหมาะสม 16.25 บาท (ไม่รวมโรงไฟฟ้าชีวมวลอีก 2 บาทต่อหุ้น)

 

ผู้ถือหุ้นรายใหญ่

1. บริษัท เดอะ วนชัย กรุ๊ป อ๊อฟ คอมปานีส์ จำกัด 840,212,699 หุ้น 53.62%

2. ธนาคาร กรุงเทพ จำกัด (มหาชน) 92,764,585 หุ้น 5.92%

3. บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด 31,075,776 หุ้น 1.98%

4. น.ส.ภัทรา สหวัฒน์ 27,597,100 หุ้น 1.76%

5. นายสมประสงค์ สหวัฒน์ 27,589,100 หุ้น 1.76%

 

รายชื่อกรรมการ

1.นาย สมภพ สหวัฒน์ ประธานกรรมการ

2.นาย สมภพ สหวัฒน์ ประธานกรรมการบริหาร

3.นาย สืบตระกูล สุนทรธรรม รองประธานกรรมการ

4.นาย สืบตระกูล สุนทรธรรม กรรมการอิสระ

5.น.ส. ยุพาพร บุญเกตุ รองประธานกรรมการ

 

Back to top button