พาราสาวะถี อรชุน
ฟอกขาวให้เรียบร้อย กับถ้อยแถลงของ พิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าฯสตง. ต่อกรณีการตรวจสอบงบประมาณ 20.9 ล้านบาท ของคณะ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่เดินทางไปร่วมประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน-สหรัฐฯ ที่ฮาวาย พร้อมยืนยันการันตีว่างบประมาณค่าอาหาร 6 แสนบาทต่อ 4 มื้อบนเครื่องบินนั้นเหมาะสม
ฟอกขาวให้เรียบร้อย กับถ้อยแถลงของ พิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าฯสตง. ต่อกรณีการตรวจสอบงบประมาณ 20.9 ล้านบาท ของคณะ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่เดินทางไปร่วมประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน-สหรัฐฯ ที่ฮาวาย พร้อมยืนยันการันตีว่างบประมาณค่าอาหาร 6 แสนบาทต่อ 4 มื้อบนเครื่องบินนั้นเหมาะสม
ไม่เพียงเท่านั้น ยังช่วยตรวจสอบต่อไปอีกว่าไม่มีรายชื่อของผู้ประกาศสาวทางช่อง 5 เดินทางร่วมคณะดังกล่าวไปด้วย แม้จะออกตัวว่าเพื่อความโปร่งใสจะส่งให้คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินหรือคตง.ตรวจสอบอีกครั้ง รวมทั้งจะหาคู่เปรียบเทียบกรณีราคากลางการเช่าเหมาลำเครื่องของการบินไทยไปต่างประเทศก็ตาม
คำถามที่ตามมาคือ กรณีนี้มันสามารถสรุปได้รวดเร็วและรับรองกันได้ในเวลาแค่ไม่กี่วันอย่างนั้นหรือ สำหรับรายชื่อ 38 คนที่ร่วมคณะไปนั้น ในเมื่อไม่มีคนที่เป็นปัญหา ถามว่าข้ออ้างของผู้ว่าฯสตง.ที่บอกว่าเป็นเรื่องความมั่นคงเปิดเผยไม่ได้ ยอมถูกตำหนิจากสังคม มันเหมาะสมหรือไม่ เพราะรายชื่อหากเป็นเรื่องความมั่นคงถือว่าบุคคลเหล่านั้นต้องได้รับการสดุดีเนื่องจากไปร่วมสร้างประโยชน์ให้บ้านเมือง
ไม่ใช่เรื่องที่จะต้องปกปิดอะไร การเปิดเผยชื่อไม่ได้เปิดเผยเนื้อหาสาระของการไปร่วมหารือ จึงไม่เข้าใจว่าผู้ว่าฯสตง.มองประเด็นอะไรผิดพลาดไปหรือไม่ ส่วนที่หลายคนยังสงสัยกันอยู่กับการรับรองของสตง.ก็คือ ค่าอาหารมื้อละ 150,000 บาทสำหรับคน 38 คนเป็นราคาที่เหมาะสมแล้วอย่างนั้นใช่หรือไม่ หากยืนยันเช่นนั้น ก็ช่วยรบกวนแสดงรายการอาหารให้ดูอย่างละเอียดด้วยว่าแต่ละมื้อนั้นมีอาหารประเภทไหนบ้าง
ในยามที่ประชาชนยังเผชิญกับภาวะฝืดเคือง เราจะได้รู้ว่า คนแค่ 38 คนเขารับประทานอาหารธรรมดาอะไรกันถึงมีราคาถึงมื้อละ 1.5 แสนบาท หากเป็นไปตามอย่างที่พลเอกประวิตรบอกตัวเองเลือกกินแต่ก๋วยเตี๋ยว ก็ต้องย้อนกลับไปถามผู้ว่าฯสตง.ว่าก๋วยเตี๋ยวกลางอากาศมันแพงหูฉี่ขนาดนั้นเลยหรือ หรือเพราะมันเป็นก๋วยเตี๋ยวลอยฟ้า
กลายเป็นว่า ความตั้งใจที่จะรับรองเพื่อให้ทุกอย่างไม่ต้องไปกระทบกับภาพลักษณ์ของผู้มีอำนาจ กลับสร้างความสงสัยเพิ่มเข้าไปอีก กรณีของคนที่ตกเป็นข่าว มีเสียงเรียกร้องมาจาก สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล หากมั่นใจในความบริสุทธิ์และลดแรงเสียดทานที่ถาโถมเข้าใส่ ก็นำพาสปอร์ตของตัวเองมาแสดงให้สาธารณชนได้สิ้นสงสัยไปเสียเลยว่าระหว่างวันที่ 29 กันยายน ถึง 2 ตุลาคมนั้น ตนไม่ได้เดินทางไปไหนทั้งสิ้น
ไม่เพียงแค่เอกสารที่หลุดลอดออกมาเป็นข่าวเท่านั้น แต่ในทางลับยังมีการระบุด้วยว่า เที่ยวบินดังกล่าวนั้นจากกำหนดการเดิมที่จะออกบินในเวลา 7 โมงเช้า ทว่าได้เกิดความล่าช้าหรือดีเลย์ออกไป โดยเดินทางกันในช่วงเวลาประมาณบ่ายโมง ตรงนี้จึงอดสงสัยกันไม่ได้ว่า ไหนบอกต้องการความรวดเร็วจึงเลือกเช่าเหมาลำและบินตรงไปฮาวาย ทำไมจึงเกิดการล่าช้าได้นานขนาดนั้น ฝาก จรัมพร โชติกเสถียร ดีดีบินไทยช่วยชี้แจงอีกประการว่าเป็นความจริงหรือเปล่า
สำหรับประเด็นความคุ้มค่าในการลงทุนนั้น มีคนใกล้ชิด ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เล่าให้ฟังว่า ถ้าจำกันได้ในยุคอดีตนายกฯหญิง มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างหนักถึงเม็ดเงินที่ใช้ในการเดินทางและประโยชน์ที่จะได้รับ ซึ่งพบว่าหลังการเดินทางทุกครั้งนักธุรกิจไทยและมิตรประเทศ มีโอกาสได้เปิดธุรกิจใหม่และทำให้การค้าระหว่างประเทศเฟื่องฟูขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
ส่วนเรื่องงบประมาณที่ใช้ในการเดินทางนั้น การเดินทางไปเยือนต่างประเทศรวมไปถึงการร่วมประชุมเวทีต่างๆ จะมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยประมาณ 6 ล้านบาท ต่างจากผู้มีอำนาจในปัจจุบัน โดยเฉพาะท่านรองนายกฯด้านความมั่นคง ที่ปกติไม่ค่อยจะบินสักเท่าไหร่ ไปฮาวายหนนี้รอบเดียวใช้งบประมาณไปเกือบ 21 ล้านบาท
ไม่เพียงเท่านั้น ในยุคของยิ่งลักษณ์จะเห็นได้ว่ามีกระบวนการตรวจสอบกันถี่ยิบทั้งจากภาคเอกชน สื่อมวลชน รวมไปถึงพรรคฝ่ายค้าน ขณะที่รัฐบาลเวลานี้ ไม่ต้องไปหวังพึ่งอำนาจจากฝ่ายนิติบัญญัติเพราะถือเป็นองค์กรที่ช่วยรองรับความชอบธรรมให้กับผู้มีอำนาจเท่านั้น ไม่แตกต่างจากภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบทุจริตทำตัวเป็นพวกใบ้รับประทาน
ทางด้านองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้องกับการสอบทุจริตโดยตรงอย่างป.ป.ช. ก็ออกลูกเงื้อง่าราคาแพง ล่าสุด พลตำรวจเอกวัชรพล ประสารราชกิจ ประธานป.ป.ช.ก็ออกมาโยนลูกว่า เรื่องนี้เป็นหน้าที่ขององค์กรตรวจสอบที่มีอยู่ทั้งสตง.หรือป.ป.ท. หากสอบพบความผิดปกติจึงจะส่งเรื่องให้ป.ป.ช.สอบต่อ แต่กรณีถ้าที่มีคนมายื่นร้องป.ป.ช.ก็ต้องดำเนินการ แต่ให้คำตอบไม่ได้ว่ามันช้าหรือเร็ว
นี่แหละคือสิ่งที่คนจำนวนไม่น้อยแสดงข้อกังขา ตั้งคำถามถึงมาตรฐานในกระบวนการตรวจสอบ เพราะสิ่งที่เป็นอยู่มันสะท้อนภาพของการเลือกปฏิบัติอย่างชัดเจน คำพูดของ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา จึงเป็นเรื่องที่น่าขีดเส้นใต้ เพราะมีการระบุถึงการคอร์รัปชั่นเป็นการปล้นชาติและระบบอุปถัมภ์นำไปสู่การคอร์รัปชั่น
แต่สิ่งที่น่ากลัวมากไปกว่านั้นคือ การคอร์รัปชั่นในปัจจุบันไม่ได้หมดไป มิหนำซ้ำ กระบวนการตรวจสอบยังอ่อนแอ ราวกับเป็นเครื่องมือฟอกขาวให้ผู้มีอำนาจ และยังพยายามกลบรอยการทุจริตในหลายๆ เรื่องที่สังคมเกิดความเคลือบแคลงอีกต่างหาก กระบวนการตรวจสอบ จึงไม่ได้ทำหน้าที่อันควรจะเป็น
ความเห็นของ จตุพร พรหมพันธุ์ ประธานนปช.ต่อสิ่งที่เกิดขึ้น จึงชวนให้คิด แม้มีการใช้อำนาจตาม มาตรา 44 แต่ทำหน้าที่เหมือนการอธิบายแก้ต่างให้ผู้มีอำนาจ ซึ่งเป็นผลจากการคอร์รัปชั่นอำนาจ อันเป็นยิ่งกว่าชาติที่ถูกปล้น เพราะได้ทำลายหลักนิติรัฐ นิติธรรมและหลักความถูกต้องทั้งปวงที่จะทำหน้าที่ปราบปรามการคอร์รัปชั่นอย่างจริงจัง
หลายกรณีการทุจริตที่เกิดขึ้น ทั้งการจดทะเบียนตั้งบริษัทในค่ายทหาร แล้วไปประมูลงานจากกองทัพภาคที่ 3 สะท้อนปัญหาการคอร์รัปชั่นที่ใหญ่ที่สุด คือเป็นการคอร์รัปชั่นความรู้สึกประชาชน แม้ไม่ผิดตามกระบวนการตรวจสอบ แต่เป็นการทุจริตความรู้สึก ผู้มีอำนาจสามารถชี้แจงข้อมูลตามความจริงให้ประชาชนมีความรู้สึกดีขึ้นได้กลับไม่กระทำ มีความพยายามตะแบงว่าไม่ผิดกฎหมาย แต่สร้างให้เป็นปัญหาทางการเมือง ยิ่งสร้างความสงสัยต่อประชาชนมากขึ้น