ไอแซคนิวตันกับปอนด์สเตอร์ลิงพลวัต 2016
วันศุกร์ที่ผ่านมาเกิดปรากฏการณ์ "พังชั่ววูบ" (flash crash) ของค่าเงินปอนด์สเตอร์ลิงของอังกฤษจนกระทั่งหลุดที่ระดับต่ำสุดในรอบ 31 ปีใกล้เคียงกับระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในปีค.ศ. 1978 แต่ก็รีบาวด์กลับมาได้แม้จะไม่ได้ดีขึ้นมากมาย
วิษณุ โชลิตกุล
วันศุกร์ที่ผ่านมาเกิดปรากฏการณ์ “พังชั่ววูบ” (flash crash) ของค่าเงินปอนด์สเตอร์ลิงของอังกฤษจนกระทั่งหลุดที่ระดับต่ำสุดในรอบ 31 ปีใกล้เคียงกับระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในปีค.ศ. 1978 แต่ก็รีบาวด์กลับมาได้แม้จะไม่ได้ดีขึ้นมากมาย
คำอธิบายง่ายสุดคือการ ตกต่ำชั่ววูบเป็นปฏิกิริยาเกินจริงของนักค้าเงินในลอนดอนที่มีต่อการประกาศปฏิทินเวลาเพื่อนับถอยหลังถอนตัวจากสหภาพยุโรปตามเงื่อนไขลงประชามติของประชาชนสหราชอาณาจักรที่ผ่านมาเมื่อกลางปีนี้โดยการเริ่มต้นจะนับตั้งแต่มีนาคมปีหน้าเป็นต้นไป
คำถามก็คือหากออกจากสหภาพยุโรปจริงค่าเงินปอนด์ควรอยู่ที่เท่าใดจึงจะเป็นมูลค่าที่เหมาะสม (fair vallue) ที่เป็นรูปธรรม
คำตอบยากจะชี้ชัดแต่ที่แน่นอนคือการเสื่อมถอยของค่าเงินปอนด์ยังต้องเกิดขึ้นต่อไประดับราคาปอนด์สเตอร์ลิงที่ย่ำแย่ยามนี้ 43 บาทเศษต่อปอนด์ถือว่ายังไม่ใช่ค่าจริงเพราะอาจจะมีต่ำกว่า 40 บาทต่อปอนด์ให้เห็น
โดยข้อเท็จจริงการเสื่อมค่าของเงินปอนด์ซึ่งถูกกำหนดมาตรฐานให้มั่นคงโดยเซอร์ไอแซคนิวตันนักวิทยาศาสตร์ชื่อดังมาตั้งแต่คริส์ตศตวรรษที่ 18 มีมาแล้วหลายครั้งแม้กระทั่งยุคที่อังกฤษเป็นมหาอำนาจครองโลกมีอาณานิคมทั่วโลกจนมีฉายาดินแดนที่พระอาทิตย์ไม่เคยตกดินมาแล้ว
พลวัตที่เสื่อมค่าของเงินปอนด์สเตอร์ลิงที่เคยถูกถือว่าเป็นดัชนีชี้วัดความยิ่งใหญ่ของอังกฤษมาแต่ไหนแต่ไรเป็นแค่มายาคติเท่านั้นแม้กระทั่งชื่อเรียกคำว่าปอนด์สเตอร์ลิงก็เป็นมายาคติเช่นกัน
สัญลักษณ์ค่าเงินปอนด์ปัจจุบันคือ £ เป็นมาตราวัดน้ำหนักของโรมันในอดีตสำหรับน้ำหนักที่ตีค่า 1 ปอนด์ (ปัจจุบันเทียบเคียงได้ 2.208 ปอนด์เท่ากับ 1 กิโลกรัมของระบบเมตริก) ที่คนอังกฤษยุคกลางเอาใช้เป็นค่าเงินโดยแยกย่อยออกไปเป็น 20 ชิลลิงต่อปอนด์และ 240 เพนนีเป็น 1 ชิลลิง (ดัดแปลงมาจากระบบเงินย่อยของอาณาจักรโรมันอันศักดิ์สิทธิ์โดยกษัตริย์ชาร์เลอมาญน์) โดยระบบเงินย่อยนี้เรียกว่าสเตอร์ลิงจึงเป็นที่มาว่าทำไมเรียกว่าปอนด์สเตอร์ลิงมาจนถึงปัจจุบัน
ค่าเงินปอนด์สเตอร์ลิงยุคเริ่มแรกตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 8 โดยกษัตริย์ไวกิ้งที่มายึดครองอังกฤษระบุค่าเอาไว้สูงลิ่วเพราะหายากตีค่าเอาไว้ที่ 1 ปอนด์มีค่าเท่ากับวัวตัวผู้ 15 ตัวทำให้ไม่มีคนนิยมใช้ยังคงใช้ระบบแลกเปลี่ยนสินค้าแทนเงินมาอีกยาวนานจนกระทั่งปลายคริสต์ศตวรรษที่ 15 จึงเริ่มมีการผลิตเหรียญ 1 ปอนด์ขึ้นมาใช้เพื่อให้การค้าคล่องตัวผลของการใช้แพร่หลายและความสามารถผลิตเหรียญมากขึ้นโดยอิงเข้ากับโลหะหลายชนิด (แล้วแต่แหล่งผลิตเพราะในยุคนั้นรัฐบาลไม่ได้ผูกขาดผลิตเหรียญเองเหมือนยุคต่อมาทำให้เงินปอนด์มีฐานะเสื่อมค่าลงจากมาตรฐานที่ไม่คงที่
ความพยายามสร้างมาตรฐานค่าเงินปอนด์ในท้องตลาดสินค้าและตลาดเงินทำให้มีการเริ่มสร้างมาตรฐานเงินเหรียญปอนด์ขึ้นมาตั้งแต่ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 16 เริ่มต้นด้วยการอิงค่าโลหะเงินตามอย่างสเปนที่เป็นผู้ผลิตโลหะเงินรายใหญ่สุดของโลกในยามนั้นจากอาณานิคมในโลกใหม่อเมริกากลางและใต้และรัฐบาลอังกฤษทำการรวบอำนาจการผลิตเหรียญเองทั้งหมดกับออกกฎหมายกำจัดพวกผลิตเหรียญปอนด์เอง
ปัญหาเรื่องมาตรฐานของความบริสุทธิ์ของค่าเงินเหรียญปอนด์เป็นปัญหาใหญ่ของระบบเงินในอังกฤษจนถึงยุคอลิซาเบธที่ 1 เมื่ออังกฤษเข้าทำสงครามกับสเปนเพื่อชิงความเป็นใหญ่ทางทหารและการค้าในมหาสมุทรแอตแลนติกแนวคิดใหม่เรื่องเปลี่ยนจากมาตรฐานเงินของสเปนมาเป็นมาตรฐานทองคำจึงเริ่มต้นขึ้นและมีถึงที่สุดด้วยฝีมือของเซอร์ไอแซคนิวตันในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 17 สามารถสร้างมาตรฐานค่าเงินเหรียญ 1 ปอนด์ขึ้นมาโดยอิงเข้ากับมาตรฐานทองคำ
มาตรฐานทองคำที่ใช้กับปอนด์สเตอร์ลิงไม่แพร่หลายในระยะแรกแต่เมื่ออังกฤษครองโลกทางทะเลเหนือชาติอื่นใดในคริสต์ศตวรรษที่ 18 อังกฤษก็ประกาศสร้างมาตรฐานทองคำขึ้นมาใช้ให้ทั่วโลกยอมรับเด็ดขาด โดยนับแต่เมื่อปีค.ศ. 1821 (7 ปีหลังสงครามวอเตอร์ลู) ทำให้เงินปอนด์ของอังกฤษกลายเป็นเงินตราสกุลหลักที่มีเสถียรภาพมากที่สุดในยุคนั้นเนื่องจากหนุนไว้ด้วยทองคำบริสุทธิ์ ทำลายมาตรฐานเงินสเปนที่ใช้มายาวนาน 3 ศตวรรษลงไปเบ็ดเสร็จ ดำรงความยิ่งใหญ่มานานเกือบ 100 ปีจนถึงสิ้นสุดสงครามโลกครั้งแรก
ระบบมาตรฐานทองคำที่ลงตัวจากมาตรฐานที่กำหนดโดยอังกฤษในช่วงปีค.ศ. 1876 กำหนดให้แต่ละประเทศประกาศค่าเสมอภาค (Par Value) โดยการเทียบค่าเงินสกุลของประเทศตนต่อน้ำหนักทองคำหนึ่งทรอยเอานซ์ (28.349 กรัม) เพื่อเป็นมาตรฐานในการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินสกุลต่างๆเช่นประเทศสหรัฐฯประกาศค่าเสมอภาคเท่ากับ 20.67 ดอลลาร์/ทรอยเอานซ์ประเทศอังกฤษประกาศค่าเสมอภาคเท่ากับ 4.2474 ดอลลาร์/ทรอยเอานซ์ เป็นต้น
ระหว่างนั้นค่าเงินปอนด์สเตอร์ลิงที่ยิ่งใหญ่ก็มีแนวโน้มเสื่อมค่าลงต่อเนื่องเพราะการแพร่หลายของเงินตามกลไกการค้าทุนนิยมโลกที่แพร่กระจายและเทคโนโลยีพิมพ์ธนบัตรที่ทำได้ดีกว่าผลิตเหรียญรวมทั้งสงครามในอาณานิคมและในท้องทะเลหลายครั้งส่งผลให้การรักษามาตรฐานค่าเงินปอนด์สเตอร์ลิงที่กำหนดโดยเซอร์ไอแซคนิวตันง่อนแง่นลงไปทุกขณะ
ต้นทุนทางเศรษฐกิจมหาศาลที่ต้องจ่ายไปในสงครามโลกครั้งแรกทำให้อังกฤษตัดสินใจออกจากมาตรฐานทองคำระหว่างที่สงครามโลกยังดำเนินอยู่ในปีค.ศ. 1914 ปล่อยค่าเงินปอนด์ให้ตกต่ำลงจนกระทั่งดอลลาร์สหรัฐสถาปนาตนเองเหนือโลกได้ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา
สงครามเย็นที่ตึงเครียดและความชาญฉลาดของผู้นำนโยบายเศรษฐกิจของอังกฤษฉกฉวยโอกาสจากเสถียรภาพตลาดเงินภายใต้ข้อตกลงเบรตันวูดค.ศ.1944 ดัดแปลงลอนดอนให้กลายเป็นสูนย์กลางการเงินของโลกด้วยเงื่อนไขเปิดกว้างกว่านิวยอร์กรวมทั้งนวัตกรรมของตลาดเงินยูโรดอลลาร์และเปโตรดอลลาร์มีส่วนประคองให้ค่าเงินปอนด์สเตอร์ลิงของอังกฤษมีค่าเหนือจริงเอาไว้ได้ยาวนานก่อนที่จะเริ่มเสียศูนย์ครั้งใหม่เมื่อสหรัฐฯฉีกข้อตกลงเบรตันวูดหันมาใช้อัตราแลกเปลี่ยนลอยตัวและทำให้อังกฤษจำต้องสมัครเข้าเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมเศรษฐกิจยุโรปแบบมีเงื่อนไขในปีค.ศ.1975 ที่เปิดจุดอ่อนทางเศรษฐกิจและค่าเงินปอนด์ออกมาโล่งโจ้ง
การโจมตีค่าเงินของกองทุนเฮดจ์ฟันด์ต่อค่าเงินปอนด์นำโดยจอร์จโซรอสในปีค.ศ.1978 อันเป็นที่มาของคำว่า Black Wednesday ทำให้ค่าเงินปอนด์เกือบพังพินาศจนกระทั่งรัฐบาลอังกฤษในยุคมาร์กาเรตแธทเชอร์จำต้องตัดสินใจกอบกู้เศรษฐกิจอย่างถอนรากถอนโคนด้วยการนำเอานโยบายการเงินเข้มข้นมาใช้ยกเลิกระบบรัฐสวัสดิการที่ดำเนินมายาวนานเกือบหมดสิ้น
เงินปอนด์สเตอร์ลิงยุคหลังแธตเชอร์กลับมาแข็งแกร่งอีกครั้งภายใต้โครงสร้างเศรษฐกิจที่ไม่เหมือนเดิมจนกระทั่งเมื่อคนอังกฤษเกิดความเชื่อมั่นใหม่ขึ้นมาว่าการดำรงอยู่ในฐานะ “สมาชิกในเงื่อนไขพิเศษ” ของสหภาพยุโรปนั้นไม่มีความจำเป็นอีกต่อไปเมื่อเทียบกับอหังการของคนอังกฤษที่ (เคย) ยิ่งใหญ่
ผลการลงประมติถอนตัวออกจากสมาชิกยุโรปสั่นคลอนความเชื่อมั่นของค่าปอนด์สเตอร์ลิงมาตั้งแต่เริ่มรู้ผลการประกาศอย่างเป็นทางการของรัฐบาลอังกฤษที่จะเริ่มการดำเนินการตามสนธิสัญญาลิสบอนด์ภายใต้เงื่อนเวลา 2 ปีนับแต่การลงประชามติสั่นไหวความเชื่อของฝ่ายที่อยากถอนตัวจากความเชื่อว่าการที่ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ต้องเข้าอยู่ใต้อำนาจบงการของธนาคารกลางยุโรปหรือ ECB เป็นการทำผิดรัฐธรรมนูญว่าด้วยหลักการสูญเสียอธิปไตยทางเศรษฐกิจให้กับเทคโนแครตที่ไม่ได้มาจากประชาชนอย่างรุนแรง
เสรีภาพ ที่เดียวดาย ท่ามกลางความสูญเสียที่คาดเดาได้ไม่ยาก เป็นแรงกดดันให้ความเชื่อมั่นต่อค่าเงินปอนด์สเตอร์ลิงเสื่อมถอยในอัตราเร่ง
คำถามที่ท้าทายคือ ความเชื่อมั่นจะพลิกกลับมาได้อย่างไร และด้วยเงื่อนเวลายาวนานแค่ไหน
คำตอบยังล่องลอยในสายลม
เอาเป็นแค่รู้ว่า จากนี้ไป ปอนด์สเตอร์ลิงของ เซอร์ไอแซค นิวตัน กับปอนด์สเตอร์ลิงในอนาคต คงจะต่างกันอย่างสิ้นเชิง ทั้งโดยสาระและอรรถะ ก็ทำให้วุ่นวายมากพอแล้ว