เอเชียกับปอนด์สเตอร์ลิงพลวัต 2016
หลังจากการลงประชามติถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษผ่านไป คำถามที่นักการเงินในเอเชียส่วนใหญ่ตอบมักจะซ้ำซากคล้ายกันคือ จะไม่มีผลกระทบอะไรเลย เพราะมีผลน้อยมาก ต่อมาถึงวันนี้ วันที่เงินปอนด์สเตอร์ลิงถดถอยรุนแรง คำตอบเริ่มเปลี่ยนไปว่า น่าสยดสยองเพราะผลสะเทือนในอนาคตนั้นอาจจะเลวร้ายเกินคาด
วิษณุ โชลิตกุล
หลังจากการลงประชามติถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษผ่านไป คำถามที่นักการเงินในเอเชียส่วนใหญ่ตอบมักจะซ้ำซากคล้ายกันคือ จะไม่มีผลกระทบอะไรเลย เพราะมีผลน้อยมาก ต่อมาถึงวันนี้ วันที่เงินปอนด์สเตอร์ลิงถดถอยรุนแรง คำตอบเริ่มเปลี่ยนไปว่า น่าสยดสยองเพราะผลสะเทือนในอนาคตนั้นอาจจะเลวร้ายเกินคาด
กลุ่มนักการเงินกลุ่มแรกมาจากญี่ปุ่นที่ระบุว่า การลงทุนของญี่ปุ่นในอังกฤษเพื่อจะส่งผ่านต่อไปยังสหภาพยุโรปในอดีต ที่ทำให้เกิดการจ้างงานคนในอังกฤษมากกว่า 1.4 หมื่นคนนั้น จะได้รับผลกระทบที่รุนแรง เพราะนักลงทุนและนักการเงินญี่ปุ่น มีสองทางเลือก คือ ย้ายทำเลที่ตั้งสำนักงานไปยังสหภาพยุโรป หรือไม่ก็ถอนกำลังกลับมายังเอเชียเพื่อบริหารจากทางไกลผ่านเครือข่ายออนไลน์ที่มีประโยชน์มากกว่า
เหตุผลคือ การสูญเสีย “สิทธิประโยชน์จากประตูทางเข้า” เพราะในอดีตนั้น การเข้าลงทุนในยุโรปของญี่ปุ่น มักจะเลือกเอาลอนดอนเป็นแกนกลางของการตั้งสำนักงานเป็นหลัก ด้วยเหตุผลหลายประการ แต่จากนี้ไป จะทำไม่ได้อีกต่อไป หรือยากลำบากมากขึ้นเพราะต้นทุนสูงขึ้นจนกระทั่งไม่คุ้มที่จะอยู่ในลอนดอนอีกต่อไป
ความรู้สึกของนักลงทุนและนักการเงินญี่ปุ่นนี้ ได้เคยถูกเสนอผ่านไปยังนายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ มาแล้ว แต่ก็ไม่มีคำตอบจากรัฐบาลอังกฤษในปัจจุบัน ที่กำลังเริ่มกระบวนการนับถอยหลังเพื่อถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป ภายในเวลาที่สนธิสัญญาลิสบอน
เหตุผลของนักลงทุนและนักการเงินญี่ปุ่นนั้น เป็นเหตุผลที่นักลงทุนและนักการเงินในเอเชียรับรองและให้น้ำหนักทำนองเดียวกัน เพราะว่าลำพังของอังกฤษนั้น ไม่ได้มีเหตุผลเพียงพอที่จะเข้าไปตั้งสำนักงานเพื่อทำการลงทุน หากไม่มีเป้าหมายในสหภาพยุโรป
ตลาดสินค้าและอุตสาหกรรมภายในอังกฤษนั้น ไม่ได้มีเสน่ห์น่าสนใจสำหรับนักลงทุนจากเอเชียเอาเสียเลย แต่บรรยากาศของตลาดเงินและการเข้าออกที่สะดวกในลอนดอนและเมืองใหญ่ของอังกฤษ เหมาะสำหรับการเป็นสำนักงานสาขาที่ดีเลิศ แต่หากความสัมพันธ์ของสหภาพยุโรปและอังกฤษเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม การย้ายสำนักงานและโรงงานไปจากอังกฤษ จึงเป็นความจำเป็นที่เลี่ยงไม่พ้น
แม้รัฐบาลอังกฤษจะพยายามปลอบขวัญนักลงทุนและนักการเงินจากเอเชียว่า ขอให้ใจเย็นๆ เพราะขั้นตอนของการถอนตัวยังอีกยาวไกล แต่ความคลุมเครือที่เกิดขึ้น ไม่ใช่เรื่องที่น่าพึงพอใจ เพราะไม่ได้ให้หลักประกันชัดเจนอะไรเลย
ในทางกลับกัน รัฐมนตรีคลังอังกฤษ กลับจับเครื่องบินด่วนไปปลอบโยนนักลงทุนในวอลล์สตรีทที่นิวยอร์กว่า ธุรกิจของอเมริกันที่มีการจ้างงานคนอังกฤษมากกว่า 2.5 หมื่นคน จะไม่ได้รับความกระทบกระเทือนในการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป
ความกังวลของนักลงทุนและนักการเงินจากญี่ปุ่นและเอเชียที่ดำรงอยู่ท่ามกลางค่าเงินปอนด์สเตอร์ลิงถดถอยลงรุนแรงยามนี้ ไม่ได้กังวลจนเกินเลย เพราะว่าอังกฤษในยุคที่มีการพึ่งพาอุตสาหกรรมการเงินเป็นหลักมากกว่าภาคบริการและอุตสาหกรรมอื่นๆ นั้น จะเหลือแต่เพียงอดีตที่เคยหอมหวาน แต่ไร้อนาคต หากว่าไม่สามารถเชื่อมโยงธุรกิจให้บริการทางการเงินเข้ากับธุรกิจอื่นๆ ในสหภาพยุโรปที่มีขนาดใหญ่กว่ามาก และมีเครื่องมือที่เริ่มพร้อมกว่า แม้ว่าจะไม่มีสภาพบรรยากาศดีเหมือนลอนดอนก็ตาม
ความกังวลของนักลงทุนและนักการเงินเอเชีย อาจจะไม่เหมือนกับปรากฏการณ์เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา เมื่อเกิดภาวะ “พังชั่ววูบ”(flash crash) ของค่าเงินปอนด์สเตอร์ลิงของอังกฤษ จนกระทั่งหลุดไปที่ระดับต่ำสุดในรอบ 31 ปี ใกล้เคียงกับระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในปี ค.ศ. 1978 แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่จะไม่เกิดขึ้นหรือดูดายได้ เพราะว่าไม่มีใครต้องการที่จะผูกติดกับความไม่แน่นอนของอนาคตอังกฤษที่ไม่มียุโรปอีกต่อไป
คำถามที่ว่าค่าเงินปอนด์ควรอยู่ที่เท่าใด จึงจะเป็นมูลค่าที่เหมาะสม (fair value) ที่เป็นรูปธรรม ไม่สำคัญเท่ากับว่า อังกฤษในฐานะสะพานเชื่อมสู่ยุโรปของธุรกิจในเอเชียที่ต้องการรุกเข้าสู่ยุโรปเพื่อไขว่คว้าโอกาสนั้น นับวันจะเลือนหายไป หลังจากที่ได้เคยฟื้นคืนมาหลังจากยุคของนางสิงห์ มาร์กาเรต แทตเชอร์ หลายทศวรรษก่อน
พลวัตที่เสื่อมค่าของเงินปอนด์สเตอร์ลิง ที่เคยถูกถือว่าเป็นดัชนีชี้วัดความยิ่งใหญ่ของอังกฤษมาแต่ไหนแต่ไร มีความหมายที่สำคัญในแง่ที่ว่ามันเป็นภาพสะท้อนความสัมพันธ์ที่ขาดสะบั้นของทุนนิยมเอเชียเข้ากับทุนนิยมในยุโรป เพื่อสร้างความมั่งคั่งร่วมกัน
ความมั่งคั่งของสหภาพยุโรป คือความมั่งคั่งของเอเชียที่พึ่งพากันและกัน รวมทั้งแข่งขันกัน แต่หากอังกฤษไม่ยอมร่วมในความมั่งคั่งของยุโรปอีกต่อไป เอเชียก็พร้อมที่จะสลัดทิ้งอังกฤษได้เช่นกัน เปรียบได้กับเส้นทางสายไหมทางบกที่เคยรุ่งเรืองในอดีตที่ถูกเลิกใช้มาแล้วนั่นเอง
ในอดีต อังกฤษเคยจ่ายต้นทุนทางเศรษฐกิจมหาศาล ในการปกป้องและรักษาความแข็งแกร่งของค่าเงินปอนด์จนกระทั่งถึงล่าสุด แต่จากนี้ไป ก็ไม่สามารถที่จะสร้างความมั่นใจได้ว่า ความแข็งแกร่งดังกล่าว จะยังดำรงอยู่ในอนาคต
หลายยุคที่ผ่านมา ความชาญฉลาดของผู้นำนโยบายเศรษฐกิจของอังกฤษ ทำให้สามารถฉกฉวยโอกาสจากเสถียรภาพตลาดเงินภายใต้บรรยากาศที่แตกต่างกันออกไปได้อย่างตลอดรอดฝั่ง ด้วยนวัตกรรมใหม่ๆ สารพัดรูป จนมีส่วนประคองให้ค่าเงินปอนด์สเตอร์ลิงของอังกฤษมีค่าเหนือจริงเอาไว้ได้ยาวนาน จนกระทั่งเมื่อคนอังกฤษเชื่อว่าการดำรงอยู่ในฐานะ “สมาชิกในเงื่อนไขพิเศษ” ของสหภาพยุโรปไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป
ท่าทีดังกล่าว นักลงทุนและนักการเงินเอเชียมีสิทธิ์ที่จะมองต่าง