หยวนอ่อนรอบที่ 3พลวัต 2016
เมื่อวานนี้ ค่าเงินหยวนอ่อนค่าแตะระดับต่ำสุดในรอบ 15 เดือน ที่ระดับ 6.7098 ต่อดอลลาร์ถือเป็นการทำนิวโลว์ครั้งที่สามนับตั้งแต่เข้าคำนวณในตะกร้าเงินของกองทุนการเงินระหว่างประเทศเมื่อปลายปีที่แล้ว
วิษณุ โชลิตกุล
เมื่อวานนี้ ค่าเงินหยวนอ่อนค่าแตะระดับต่ำสุดในรอบ 15 เดือน ที่ระดับ 6.7098 ต่อดอลลาร์ถือเป็นการทำนิวโลว์ครั้งที่สามนับตั้งแต่เข้าคำนวณในตะกร้าเงินของกองทุนการเงินระหว่างประเทศเมื่อปลายปีที่แล้ว
ความน่าสนใจตรงที่ว่า หยวนที่อ่อนค่า เกิดจากเจตนาของธนาคารกลางจีน
การอ่อนของค่าหยวน เกิดขึ้นสวนทางกับคำแถลงของนายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีของจีน ที่ระบุว่า สภาพเศรษฐกิจของประเทศในปีนี้ดีกว่าที่คาดการณ์ไว้มาก เนื่องจากปริมาณการจ้างงานใหม่ที่สูงขึ้นในตลาด และปัจจัยสนับสนุนจากอุตสาหกรรมการบริโภคและบริการที่มีต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโดยรวม
ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ จีนสามารถสร้างงานได้กว่า 10 ล้านตำแหน่งในเมืองต่างๆ โดยอัตราการว่างงานที่ได้มีการสำรวจในเมืองต่างๆ 31 แห่งนั้นอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 5% ในเดือนก.ย. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 2-3 ปีที่ผ่านมา
การอ่อนค่าของหยวนเกิดขึ้นภายใต้กรอบการบริหารของธนาคารกลางจีนโดยตรง เพราะจีนนั้น แม้จะยอมปล่อยหยวนลอยตัว แต่ก็ไม่ได้ปล่อยเสรี เนื่องจากในตลาดปริวรรตเงินตราต่างประเทศของจีนนั้น เงินหยวนได้รับอนุญาตให้ปรับตัวขึ้นหรือลงไม่เกิน 2% จากอัตราค่ากลางของการซื้อขายแต่ละวันเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ อิงกับราคาเฉลี่ยแบบถ่วงน้ำหนัก ก่อนที่ตลาดจะเปิดทำการซื้อขายในแต่ละวัน
ที่น่าตลกตรงที่ขณะที่ทำการปรับลดค่าหยวนโดยเจตนานั้น ธนาคารกลางจีนยังให้ตัวแทนออกมาแถลงหน้าตาเฉยว่า พร้อมที่จะรักษาเสถียรภาพของค่าหยวนต่อไป ไม่ให้เกิดการเสื่อมค่า จนกระทั่งทุนไหลออกรุนแรง ซึ่งใครๆ ก็รู้ดีว่า ไม่ได้เป็นความจริงเอาเสียเลย
ในแวดวงตลาดปริวรรตเงินตรายามนี้ การอ่อนค่าของหยวนจึงเป็นแค่การบริหารให้อ่อนค่าลงอย่างผิดธรรมชาติ (managed devaluation)
ในความเป็นจริงนับแต่เงินหยวนจีน ได้รับการนำเข้าคำนวณในตะกร้าเงิน SDRs ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา เงินหยวนของจีนเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลงค่าในทางขาลงรุนแรงมาแล้ว 2 ครั้งแต่ครั้งล่าสุดคือครั้งที่ 3 ถือว่ารุนแรงสุด
แต่ละครั้งของเงินหยวนที่อ่อนค่าลง มีเหตุผลต่างกันไป แต่มีลักษณะร่วมกันคือ สะท้อนให้เห็นว่าภาระหรือต้นทุนของจีนในการทำให้เงินหยวนฝ่าวงจรระบบทุนนิยมเพื่อเป็นสกุลเงินสากลในอนาคตแบบเดียวกับเงินเยน หรือยูโร หรือดอลลาร์สหรัฐ ค่อนข้างสูงไม่น้อย แต่ที่สำคัญคือ ยากจะบอกได้ชัดเจนว่า ต้นทุนจะมากน้อยแค่ไหน และต้องจ่ายอีกนานแค่ไหน รวมทั้งคุ้มค่าหรือไม่
ตัวอย่างเช่นการอ่อนค่าครั้งแรก ในวันที่ 7 มกราคมปีนี้ ค่าเงินหยวนของจีนร่วงลงแตะระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 5 ปี จากแรงเทขายออกมา ทำให้ราคาตลาดจากราคาทางการ 3.32% แตะที่ 6.5646 หยวนต่อดอลลาร์ ส่งผลรุนแรงให้ตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้ที่ไม่คุ้นเคยกับปรากฏการณ์ มีแรงเทขายหุ้นอย่างหนักจนถึงขั้นต้องระงับการซื้อขายทั้งวัน หลังดัชนีร่วงมากกว่า 7% เป็นการใช้มาตรการเซอร์กิต เบรกเกอร์ ครั้งที่ 2 ในรอบสัปดาห์ ถัดจากวันที่ 4 มกราคม ที่ใช้ไปแล้ว เพราะหุ้นตกหนักในวันนั้น 7.32%
การห้ามซื้อขายดังกล่าวของตลาดหุ้น ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์รุนแรง จนกระทั่งผู้บริหารตลาดหุ้นจีนต้องออกมาประกาศว่าจะยกเลิก ไม่มีการใช้มาตรการเซอร์กิต เบรกเกอร์อีกต่อไป
ครั้งนั้น ทางการจีนต้องหาทางใช้มาตรการสารพัดมายับยั้งการไหลออกของเงินทุนจากต่างประเทศ ทั้งทางกฎหมายและทางมาตรการอื่นๆ เพราะทุนในประเทศเกรงกลัวที่จะมีมูลค่าลดลงในอนาคต จึงหาทางหลบหนีไปหาทรัพย์สินที่เป็นเงินสกุลหลักของโลก แต่มาตรการที่นำออกมาใช้อย่างลองผิดลองถูกของหน่วยงานรัฐจีนคราวนั้น ก็ยังทำให้มีการประเมินว่า ความเสียหายต่อตลาดหุ้นและตลาดเก็งกำไรทั่วโลกช่วงนั้น มีมากถึง 1.44 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ
ครั้งที่สองเกิดขึ้นหลังจากวิกฤตตลาดเก็งกำไร หลังรับทราบผลการลงประชามติอังกฤษถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป ปรากฏว่าค่าเงินหยวนลดต่ำลงอย่างหนัก โดยอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 6.6857 หยวนต่อดอลลาร์ ซึ่งถือว่าแตะระดับต่ำที่สุดในรอบ 5 ปีครึ่งเลยทีเดียว
ส่วนครั้งนี้ เกิดขึ้นเพราะจีนปล่อยให้เกิดขึ้นเองเพื่อให้กลไกตลาดทำงานตามธรรมชาติมากกว่าการแทรกแซงด้วย “มือที่มองเห็น”
ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นแต่ละครั้ง ถือเป็นส่วนหนึ่งของ “เส้นโค้งการเรียนรู้” (learning curve) ของนักลงทุนทั้งในจีนและทั่วโลก ถือเป็นระยะเปลี่ยนผ่านที่สำคัญเป็นรูปธรรม แต่ที่สำคัญคือ ทุกครั้งจะเห็นพัฒนาการของการเรียนรู้เพิ่มขึ้นของทางการจีนอย่างมีนัยสำคัญ สะท้อนถึงวุฒิภาวะที่สูงขึ้นของทางการจีน และรวมทั้งนักลงทุนจีนด้วย
หลายเดือนมานี้ บรรดาผู้บริหารของธนาคารกลางและกระทรวงการคลังจีน มีความชำนาญและเรียนรู้วิธีการสื่อสารกับนักลงทุน “ขาใหญ่” ทั้งหลายทั่วโลก เพื่อทำความเข้าใจว่าแต่ละย่างก้าวของสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับค่าเงินหยวนหรือนโยบายทางการเงินที่โยงเข้ากับอัตราแลกเปลี่ยน มีที่มา หรือทิศทางอย่างไรบ้าง
เช่นเดียวกัน นักลงทุนในตลาดหุ้นทั่วโลก ก็เรียนรู้ที่จะแยกแยะความสัมพันธ์ที่เริ่มไม่ไปด้วยกันระหว่างตลาดหุ้นกับค่าเงินหยวนชัดเจนยิ่งขึ้น ไม่มีการขายหลักทรัพย์ทิ้งเพื่อมาซื้อทองคำอย่างตื่นตระหนก แบบที่เคยเกิดขึ้นในเดือนมกราคมอีกต่อไป แต่กลับซื้อขายหุ้นด้วยอารมณ์สงบนิ่ง และปรับสภาพของการลงทุนไปตามภาวะอย่างมีจังหวะก้าว ไม่ลนลานเหมือนในหลายเดือนก่อน
การอ่อนค่ารุนแรงของหยวน 3 ครั้งที่ผ่านมา จึงกลายเป็นกรณีศึกษาที่ดีเกี่ยวกับการบริหารจัดการตลาดเงินตราและตลาดทุนของจีนที่น่าจับตา