พระราชประวัติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดชฯ

พระราชประวัติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดชฯ


พระราชประวัติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดชฯ

 

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร พระมหากษัตริย์ลำดับที่เก้าแห่งราชวงศ์จักรี พระราชสมภพ วันจันทร์ที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2470 (89 ปี) เคมบริดจ์ รัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา เป็นพระโอรสองค์ที่สามในสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์ (สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก กับ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี) ทรงมีพระเชษฐภคินีและสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช 2 พระองค์ คือ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล

ด้านการศึกษา พ.ศ. 2475 เมื่อเจริญพระชนมายุได้ 5 พรรษา เสด็จเข้าศึกษาที่โรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัยจนถึงเดือนพฤษภาคม 2476 จึงเสด็จพระราชดำเนินไปประทับ ณ เมืองโลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ พร้อมด้วยพระบรมราชชนนี พระเชษฐภคินี และสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช เพื่อการศึกษาและพระพลานามัยของสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช ทรงเข้าศึกษาต่อชั้นประถมศึกษา ณ โรงเรียนเมียร์มองต์ เมืองโลซาน ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2477 ทรงศึกษาวิชาภาษาฝรั่งเศส ภาษาเยอรมัน และภาษาอังกฤษ แล้วทรงเข้าชั้นมัธยมศึกษา ณ “โรงเรียนแห่งใหม่ของซืออีสโรมองด์” (ฝรั่งเศส: École Nouvelle de la Suisse Romande, เอกอล นูแวล เดอ ลา ซืออีส โรมองด์) เมืองแชลลี-ซูร์-โลซาน (ฝรั่งเศส: Chailly-sur-Lausanne)

เมื่อพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล สมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช เสด็จขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 8 แห่งราชวงศ์จักรี พระองค์ก็ได้รับการสถาปนาฐานันดรศักดิ์เป็น “สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลเดช” เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2478

เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2481 ได้โดยเสด็จฯ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเสด็จนิวัตประเทศไทยเป็นเวลา 2 เดือน โดยประทับที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต จากนั้นเสด็จกลับไปศึกษาต่อที่สวิตเซอร์แลนด์จนถึง พ.ศ. 2488 ทรงรับประกาศนียบัตรทางอักษรศาสตร์ จากโรงเรียนยิมนาส คลาซีค กังโตนาล แล้วทรงเข้าศึกษาต่อ ณ มหาวิทยาลัยโลซาน แผนกวิทยาศาสตร์ โดยเสด็จนิวัตประเทศไทยเป็นครั้งที่สอง ประทับ ณ พระที่นั่งบรมพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง

วันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลเสด็จสวรรคต ณ พระที่นั่งบรมพิมาน ภายในพระบรมมหาราชวัง ในวันเดียวกัน รัฐสภาลงมติเป็นเอกฉันท์อัญเชิญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชขึ้นทรงราชย์สืบราชสันตติวงศ์ต่อไป แต่เนื่องจากยังมีพระราชกิจด้านการศึกษา จึงเสด็จพระราชดำเนินไปศึกษาต่อ ณ มหาวิทยาลัยแห่งเดิม แต่เปลี่ยนสาขาจากวิทยาศาสตร์ ไปเป็นสาขาสังคมศาสตร์ นิติศาสตร์ และรัฐศาสตร์

วันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกตามแบบอย่างโบราณราชประเพณีขึ้น ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ เฉลิมพระปรมาภิไธยตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามมินทราธิราช บรมนาถบพิตร พระราชทานพระปฐมบรมราชโองการว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”

นับแต่นั้นมาไม่มีวันใดเลยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งเปรียบเสมือนพระบิดาแห่งมหาชนชาวสยาม จะทรงว่างเว้นจากการปฏิบัติพระราชกรณียกิจต่างๆ  เพื่อให้ราษฎรในทั่วทุกภูมิภาคของประเทศได้ยกระดับคุณภาพชีวิตและสภาพความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้นในทุกด้าน ทั้งด้านการเกษตร ดิน ป่าไม้ น้ำ รวมถึงการพัฒนาทรัพยากรสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสร้างพื้นฐานหลักที่จำเป็นต่อการผลิตให้แก่ราษฎรเหล่านั้น ทรงส่งเสริมให้ชาวชนบทมีความรู้ในการประกอบอาชีพตามแต่ละท้องถิ่น นอกจากนี้ยังทรงนำเอาวิทยาการสมัยใหม่มาประยุกต์กับภูมิปัญญาชาวบ้าน

ตลอดการทรงงานยาวนาน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงอุทิศพระราชทรัพย์และทุ่มเทพระวรกายและพระราชหฤทัยในโครงการพัฒนาประเทศไทยหลายต่อหลายโครงการ โดยเฉพาะในทางเกษตรกรรม สิ่งแวดล้อม สาธารณสุข การส่งเสริมอาชีพ ทรัพยากรน้ำ สวัสดิการทางคมนาคม และสวัสดิการสาธารณะ นอกจากนี้ทรงริเริ่มและได้พระราชทานแนวพระราชดำริดำเนินโครงการต่าง ๆ ไว้ในพื้นที่ทั่วประเทศ อย่างต่อเนื่อง โดยมีหน่วยงานต่าง ๆ ช่วยกันดำเนินโครงการสนองพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนในพื้นที่อย่างแท้จริง

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ผู้เสวยราชย์ยาวนานที่สุดในประเทศไทยและในโลก ทรงเป็นที่สรรเสริญในประเทศไทยเกี่ยวกับพระราชดำริในเรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โคฟี แอนนัน เลขาธิการสหประชาชาติ ได้ถวายรางวัลความสำเร็จสูงสุดด้านการพัฒนามนุษย์แด่พระองค์กับทั้งพระองค์ยังทรงเป็นเจ้าของสิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์ งานพระราชนิพนธ์ และงานดนตรีจำนวนหนึ่งด้วย 

Back to top button