IOD เผย 200 บจ.ผ่านเกณฑ์ต่อต้านการทุจริต
IOD เผย 200 บจ.ผ่านเกณฑ์ต่อต้านการทุจริต
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (17 ต.ค.59) ดร.บัณฑิต นิจถาวร เลขาธิการ แนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต (Collective Action Coalition Against Corruption หรือ CAC) เปิดเผยว่า คณะกรรมการ CAC ได้มีมติให้การรับรองบริษัทที่ผ่านกระบวนการประเมินตนเองว่ามีนโยบายและมีแนวปฏิบัติป้องกันการทุจริตภายในองค์กรครบถ้วนตามเกณฑ์ที่ CAC กำหนดในไตรมาสนี้เพิ่มขึ้นอีก 23 บริษัท รวมเป็น 200 บริษัท ในขณะที่ CAC จะจัดสัมมนาใหญ่ประจำปีในหัวข้อ “Ethical Leadership: Combating Corruption Together” ในวันที่ 18 ตุลาคม 2559 ซึ่งจะมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากทั้งในประเทศและต่างประเทศเข้าร่วมเสวนาในงานอย่างคับคั่ง
ปัจจุบัน มีจำนวนบริษัทเอกชนที่ร่วมประกาศเจตนารมณ์ต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน ไม่รับ ไม่จ่าย ไม่ให้สินบน ในการทำธุรกิจตามโครงการ CAC รวมทั้งสิ้น 732 บริษัท เป็นบริษัทจดทะเบียนถึง 361 บริษัท ซึ่งมีมูลค่าตลาด (Market Cap) คิดเป็นสัดส่วนถึงเกือบ 80% ของมูลค่าตลาดรวมของหุ้นทั้งตลาด แสดงให้เห็นถึงความแข็งขันของธุรกิจขนาดใหญ่ในการเข้ามามีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันของประเทศ
“การที่มีบริษัทเอกชนเข้ามาร่วมประกาศเจตนารมณ์ และยื่นขอรับรองจาก CAC เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แสดงให้เห็นถึงความกระตือรือร้นของภาคเอกชนที่อยากเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหาสำคัญของประเทศ นอกจากนี้ การที่หน่วยงานกำกับดูแล อย่างเช่น สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) มีนโยบายสนับสนุนให้บริษัทจดทะเบียนรายงานความคืบหน้าเกี่ยวกับการดำเนินการในด้านของการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชัน ในขณะที่สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทยก็ส่งตัวแทนเข้าไปสอบถามถึงนโยบายและแนวทางดำเนินการด้านการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชัน จากผู้บริหารบริษัทต่างๆ ในการประชุมประจำปีผู้ถือหุ้นอย่างต่อเนื่องเป็นประจำ ก็มีส่วนช่วยกระตุ้นให้บริษัทจดทะเบียนเข้ามาร่วมโครงการ CAC มากขึ้นด้วย” ดร. บัณฑิต กล่าว
ด้าน คณะกรรมการ CAC ได้กำหนดกรอบเวลาให้บริษัทที่ยื่นประกาศเจตนารมณ์ต้องมีการดำเนินการให้ผ่านการรับรองภายใน 18 เดือน และเมื่อผ่านการรับรองครบสามปีแล้วต้องยื่นขอรับรองใหม่ (Re-certification) โดยในคราวนี้มี 4 บริษัทที่ได้ผ่านการรับรองเป็นรอบที่สอง
ทั้งนี้ CAC จะจัดงานสัมมนาประจำปี ในวันที่ 18 ตุลาคม 2559 เวลา 10.00-16.00 น. ที่ห้องนภาลัย บอลรูม โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ ซึ่งจัดขึ้นเป็นปีที่เจ็ด โดยในงานจะมีผู้ทรงคุณวุฒิและนักธุรกิจชั้นแนวหน้าจากต่างประเทศ และในประเทศเข้าร่วมงานอย่างคับคั่งเพื่อแบ่งปันประสบการณ์ตรงที่เกี่ยวกับการต่อต้านทุจริตในภาคเอกชน นอกจากนี้ ยังได้รับเกียรติจากพลตำรวจเอก วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และคุณประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ซึ่งให้เกียรติมาร่วมกล่าวปาฐกถาพิเศษในช่วงท้ายของงานด้วย
อย่างไรก็ตาม CAC เป็นโครงการที่บริษัทเอกชนเข้าร่วมตามความสมัครใจ การประกาศเจตนารมณ์เข้าร่วมโครงการ CAC เป็นการแสดงเจตนารมณ์ร่วมต่อต้านคอร์รัปชันและการจ่ายสินบนของบริษัท ส่วนบริษัทที่ผ่านการรับรองจากคณะกรรมการ CAC หมายถึงบริษัทที่เข้าร่วมประกาศเจตนารมณ์กับโครงการ CAC และได้ผ่านกระบวนการประเมินตนเอง ที่มีการสอบทานและลงนามรับรองโดยประธานคณะกรรมการตรวจสอบของบริษัท หรือผู้ตรวจสอบบัญชีภายนอก ว่าบริษัทมีการกำหนดนโยบายและแนวปฏิบัติเพื่อป้องกันการทุจริตครบถ้วนตามเกณฑ์ที่คณะกรรมการ CAC กำหนด ดังนั้น การรับรองโดยโครงการ CAC เป็นการรับรองว่าบริษัทมีนโยบาย และระบบป้องกันคอร์รัปชันและการให้สินบน ทั้งนี้ ไม่ได้รับรองพฤติกรรมของตัวบุคคลในบริษัท
รายชื่อ 23 บริษัทที่ผ่านการรับรองในไตรมาสที่ 3/59
1) บริษัท ควอลิตี้ คอนสตรัคชั่นโปรดักส์ จำกัด (มหาชน)
2) บริษัท ไทย-เยอรมัน เซรามิค อินดัสทรี่ จำกัด (มหาชน)
3) บริษัท ไทยพลาสติค และเคมีภัณฑ์ จำกัด (มหาชน)
4) บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน)
5) บริษัท ไทยวาโก้ จำกัด (มหาชน)
6) บริษัท ธนูลักษณ์ จำกัด (มหาชน)
7) บริษัท สหโคเจน (ชลบุรี) จำกัด (มหาชน)
8) บริษัท เท็กซ์ไทล์เพรสทีจ จำกัด (มหาชน)
9) บริษัท เอส แอนด์ เจ อินเตอร์เนชั่นแนล เอนเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน)
10) บริษัท สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน)
11) บริษัท ฟาร์อีสท์ ดีดีบี จำกัด (มหาชน)
12) บริษัท ประชาอาภรณ์ จำกัด (มหาชน)
13) บริษัท ไอ.ซี.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน)
14) บริษัท ประกันภัยไทยวิวัฒน์ จำกัด (มหาชน)
15) บริษัท ผลธัญญะ จำกัด (มหาชน)
16) บริษัท ทิปโก้ฟูดส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)
17) บริษัท ชุมพรอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม จำกัด (มหาชน)
18) บริษัท ทีทีซีแอล จำกัด (มหาชน)
19) บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน)
20) บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน)
21) บริษัท อุตสาหกรรมพรมไทย จำกัด (มหาชน)
22) บริษัท โมโน เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน)
23) บริษัท มุ่งพัฒนา อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน)
รายชื่อ 4 บริษัทซึ่งยื่นขอรับรองใหม่ (Re-certification) และคณะกรรมการ CAC ให้การรับรองในไตรมาสที่ 3/59
1) ธนาคารกสิกรไทย (จำกัด ) มหาชน
2) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด (มหาชน)
3) บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนกสิกรไทย จำกัด
4) บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน)
อนึ่ง CAC ก่อตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี 2553 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการนำนโยบายและมาตรฐานการกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันการคอร์รัปชันในระดับบริษัทธุรกิจไปปฏิบัติ บทบาทของ CAC จะเน้นในส่วนของบริษัทเอกชน ด้วยการพยายามให้มีการนำนโยบายต่อต้านคอร์รัปชันไปปฏิบัติให้เกิดผลจริง โดย CAC ทำงานอย่างใกล้ชิดและคู่ขนานไปกับ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) (ACT)
โดยโครงการ CAC จัดตั้งขึ้นมาโดยองค์กรธุรกิจชั้นนำของประเทศซึ่งได้แก่ สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) หอการค้าไทย หอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย (JFCCT) สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย สมาคมธนาคารไทย สภาธุรกิจตลาดทุนไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย โครงการ CAC ได้รับการสนับสนุนการดำเนินการจาก Center for International Private Enterprise หรือ CIPE จากสหรัฐอเมริกา UK Prosperity Fund จากสหราชอาณาจักร และมูลนิธิมั่นพัฒนา โดยมี IOD ทำหน้าที่เป็นเลขานุการและรับบทนำในการสนับสนุนการขับเคลื่อนโครงการ