บาทแข็ง และ แครี่ เทรดพลวัต 2016
นักวิเคราะห์ตลาดเงินในวอลล์สตรีท เพิ่งจะให้ความเห็นกันไปเมื่อวันจันทร์หมาดๆ พร้อมกับฟันธงว่า ช่วงเวลาของการทำ ดอลลาร์ แครี่ เทรด น่าจะได้เวลาจบสิ้นกันเสียที ก็เกิดปรากฏการณ์ที่ทำให้นักวิเคราะห์ดังกล่าวพากันกลายเป็นตัวตลกอย่างช่วยไม่ได้
วิษณุ โชลิตกุล
นักวิเคราะห์ตลาดเงินในวอลล์สตรีท เพิ่งจะให้ความเห็นกันไปเมื่อวันจันทร์หมาดๆ พร้อมกับฟันธงว่า ช่วงเวลาของการทำ ดอลลาร์ แครี่ เทรด น่าจะได้เวลาจบสิ้นกันเสียที ก็เกิดปรากฏการณ์ที่ทำให้นักวิเคราะห์ดังกล่าวพากันกลายเป็นตัวตลกอย่างช่วยไม่ได้
นักวิเคราะห์ใช้ข้อมูลเมื่อสัปดาห์ก่อน มาวิเคราะห์ว่า เงินดอลลาร์ที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นเพราะความกังวลเรื่องเฟดจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนธันวาคมที่จะถึงตามแรงกดดันของสายเหยี่ยว กำลังทำลายเสน่ห์ของ ดอลลาร์ แครี่ เทรด นอกตลาดสหรัฐ โดยเฉพาะตลาดเกิดใหม่ในเอเชียลงอย่างมีนัยสำคัญ
แครี่ เทรด เป็นกระบวนการหากำไรระยะสั้นจากการกู้เงินจากแหล่งเงินดอกเบี้ยต่ำ ออกไปล่าหากำไรจากตลาดที่อัตราดอกเบี้ยสูง เพื่อหากำไร 3 ด้านจาก 1) ตลาดอัตราแลกเปลี่ยน 2) ส่วนต่างดอกเบี้ยระหว่างดอกเบี้ยตราสารหนี้รัฐบาลชาติต้นทางกับชาติปลายทาง และ 3) กำไรจากตลาดหุ้นที่รับอานิสงส์จากฟันด์โฟลว์ไหลเข้าเป็นดีมานด์เทียมระยะไม่เกิน 3 เดือน
ดังที่ทราบกันดี ปฏิบัติการ แครี่ เทรด ของโลก เกิดขึ้นที่ญี่ปุ่นในปี พ.ศ. 2545 (ช่วงหลังจากการถล่มตึกเวิลด์ เทรด เซ็นเตอร์ในนิวยอร์ก) โดยช่วงนั้น ธนาคารกลางญี่ปุ่นเริ่มต้นใช้ดอกเบี้ยนโยบายที่ 0% เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจญี่ปุ่นให้พ้นจากภาวะเงินฝืด ซึ่งมีส่วนต่างจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายในยูโรโซน (3.5%) และเฟด (5.25%)
ช่วงเวลายาวนานประมาณ 6 ปี ที่กองทุนในญี่ปุ่น พากันกู้เงินจากธนาคาร หรือออกหน่วยลงทุนในรูปเงินเยน ที่เป็นเงินต้นทุนต่ำมาก (super-low-cost funds) เพื่อไปหาผลตอบแทนจากส่วนต่างของดอกเบี้ยต่างประเทศ จึงเรียกชื่อปฏิบัติการดังกล่าวว่า เยน แครี่ เทรด
การทำ แครี่ เทรด จึงคล้ายกับการจับเสือมือเปล่า เนื่องจากสามารถแสวงหาผลประโยชน์ได้จาก “อสมมาตรของตลาดเงิน” ข้ามประเทศ ในขณะที่มีความเสี่ยงไม่มากนัก หากสามารถเข้าออกตลาดได้รวดเร็วเพียงพอ
ผลลัพธ์ที่ตามมาคือ แครี่ เทรด กลายเป็นเครื่องมือหากำไร เริ่มมีเหตุผลมากขึ้น และในช่วงหลายปีมานี้ หลังจากวิกฤตซับไพรม์เป็นต้นมา
จากเยน แครี่ เทรด ซึ่งเป็นกระแสที่สร้างความปั่นป่วนไปทั่วโลกในช่วงนั้น กลายมาเป็น แครี่ เทรดทั่วไป ในปัจจุบัน เพราะการกู้ยืมหรือระดมเงินเพื่อมาซื้อสินทรัพย์ที่อยู่ในสกุลเงินที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า เกิดขึ้นโดยเฮดจ์ ฟันด์ โดยเฉพาะในสหรัฐ ที่มองเห็นช่องทางทำกำไรจากส่วนต่างของผลตอบแทนและการแข็งค่าของสกุลเงินเป้าหมาย ผ่านตลาดเก็งกำไร 4 ประเภทคือ ตลาดอัตราแลกเปลี่ยน ตลาดหุ้น ตลาดตราสารนี้ และตลาดโภคภัณฑ์ล่วงหน้า และเมื่อได้รับผลตอบแทนในระดับหนึ่งแล้วก็จะปิดสถานะ (Carry trade Unwinding) ด้วยการขายสินทรัพย์นั้นและซื้อคืนเงินที่อยู่ในสกุลเงินระดมทุนเพื่อชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ย
ปีนี้ ปฏิบัติการ ดอลลาร์ แครี่ เทรด เกิดขึ้นในตลาดเกิดใหม่ในเอเชียมากเป็นพิเศษ เพราะการที่มีทุนล้นเกินจากปริมาณเงินซึ่งชาติหลักของโลก (สหรัฐ ยูโรโซน ญี่ปุ่น และล่าสุดอังกฤษ) ได้พิมพ์ออกมาในช่วง 6 ปีที่ผ่านมาด้วยมาตรการ QE จนท่วมเกินความสามารถที่ภาคการผลิตและบริการที่ย่ำแย่จะดูดซับไหว ได้เปิดช่องให้กับการทำดอลลาร์ แครี่ เทรดครั้งใหม่ ที่แม้จะมีส่วนต่างของดอกเบี้ยต่ำกว่ายุค เยน แครี่ เทรด ก็ยังคุ้มค่าความเสี่ยง
ประเทศไทยนั้น มีปัจจัยเหมาะกับการนำเงินไหลเข้ามาเพื่อทำแครี่ เทรดในยามนี้ เพราะ 1) มีทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศระดับหัวแถวของโลก 2) มีเศรษฐกิจเติบโตแม้จะอยู่ในระดับต่ำลง และเงินเฟ้อต่ำ 3) ตลาดทุนเปิดกว้าง ไม่มีมาตรการควบคุมการไหลเวียนของเงินทุนเข้มงวด 4) ธนาคารแห่งประเทศไทย เลือกการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้สูงกว่าชาติอื่น เพื่อควบคุมเงินเฟ้อในประเทศ
การไหลเข้าเพื่อทำแครี่ เทรดของเฮดจ์ ฟันด์ ในตลาดทุนไทย อาศัยส่วนต่างดอกเบี้ยนโยบายประมาณ 1.25% ในช่วง 2 เดือนเศษ นับตั้งแต่เดือนสิงหาคมเป็นต้นมา ยังผลให้ ดอลลาร์ แครี่ เทรด เป็นปัจจัยสำคัญขับเคลื่อนตลาดหุ้นเอเชียไทยให้เป็นขาขึ้นยาวนานในปีนี้
ความเปราะบางของ ดอลลาร์ แครี่ เทรด อยู่ที่ว่า เมื่อใดที่เฟดคิดหรือส่งสัญญาณขาขึ้นของดอกเบี้ยนโยบาย จะทำให้ส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยในตลาดตราสารหนี้ของไทยและสหรัฐแคบลงไปจนไม่คุ้มค่าเสี่ยง เท่ากับดอลลาร์ แครี่ เทรด จะเริ่มนับถอยหลังสู่จุดจบในเวลาอันรวดเร็ว เพราะฟันด์โฟลว์ที่เคยไหลเข้า จะกลับทิศเป็นไหลออก
วันจันทร์ที่ผ่านมา การตีความคำปราศรัยของนางเจเน็ต เยลเลน ที่แถลงต่อรัฐสภารอบใหม่ ทำให้ค่าดอลลาร์ที่ทำท่าแข็งรุนแรง พลันกลับอ่อนยวบลงในตลาดเงินที่นิวยอร์ก หลังจากที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรในตลาดตราสารหนี้พุ่งขึ้น เพราะทำให้แรงขายดันราคาพันธบัตรร่วงลง ท่ามกลางข้อเท็จจริงว่า ตัวเลขการเติบโตของดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมของนิวยอร์ก และดัชนีเศรษฐกิจชาติต่างๆ ทั่วโลก (ยกเว้นจีน) ถดถอยลงอย่างมีนัยสำคัญ
การอ่อนค่าของดอลลาร์ (ในทางกลับกัน ก็ทำให้ค่าบาทแข็งมากกว่า 0.20 บาทต่อดอลลาร์ในวันเดียวเมื่อบ่ายวานนี้) ทำให้ฟันด์โฟลว์ที่คาดว่าจะไหลออกจากเอเชียกลับไปยังสหรัฐระลอกใหม่ สะดุดลงชั่วคราว เป็นข่าวดีสำหรับตลาดหุ้นไทยอีกครั้ง
แม้ว่าตัวเลขการขายสุทธิของต่างชาติวานนี้ อาจจะทำให้นักลงทุนจำนวนไม่น้อยเป็นกังวล แต่นี่ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ เพราะอาจจะเป็นปฏิบัติการ “ลับ ลวง พราง” ที่ยัง “ซื้อของไม่ครบ” อันคุ้นเคย เท่านั้นเอง
ก่อนหน้านี้ ก็เคยเกิดเรื่องทำนองนี้เป็นบทเรียนมาแล้วในปลายเดือนกรกฎาคมที่นักลงทุนควรต้องเข้าใจ