พาราสาวะถี อรชุน

"ปัจเจกชนที่เสื่อมทราม น่าหวาดกลัว เพราะขาดสติ ขาดความยั้งคิด ไม่รู้ผิด ไม่รู้ชอบ อาจพอพบเห็นได้ในสังคมที่ยังดี แต่สังคมจะเสื่อมทราม และน่าสะพรึงกลัวทันที ถ้ากฎหมายไม่ทำงาน และปัจเจกชนน้อยนิดที่เสื่อมทรามนั้นมีอภิสิทธิ์ได้ลอยนวล" เป็นประโยคของ สาวตรี สุขศรี นักวิชาการด้านนิติศาสตร์ ที่โพสต์ผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัวเมื่อวันที่ 18 ตุลาคมที่ผ่านมา


“ปัจเจกชนที่เสื่อมทราม น่าหวาดกลัว เพราะขาดสติ ขาดความยั้งคิด ไม่รู้ผิด ไม่รู้ชอบ อาจพอพบเห็นได้ในสังคมที่ยังดี แต่สังคมจะเสื่อมทราม และน่าสะพรึงกลัวทันที ถ้ากฎหมายไม่ทำงาน และปัจเจกชนน้อยนิดที่เสื่อมทรามนั้นมีอภิสิทธิ์ได้ลอยนวล” เป็นประโยคของ สาวตรี สุขศรี นักวิชาการด้านนิติศาสตร์ ที่โพสต์ผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัวเมื่อวันที่ 18 ตุลาคมที่ผ่านมา

คงไม่ได้จำเพาะเจาะจงถึงใครเป็นพิเศษ แต่แฝงนัยถึงการสะกิดเตือนให้มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเป็นธรรมต่อทุกคนทุกฝ่าย ฟัง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ปฏิเสธพูดถึงเรื่องการบังคับให้ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จ่ายค่าเสียหายจำนำข้าว 35,000 ล้านบาท บอกได้นำเข้าสู่กระบวนการไปแล้ว ขอให้ไปพูดในชั้นศาลอย่าพูดในชั้นสื่อ นี่คือวาทกรรมของท่านผู้นำที่มาจากการรัฐประหารที่เคลื่อนเกมทางการเมืองอย่างน่าสนใจ

สิ่งที่ท่านบอกว่าทุกอย่างนำเข้ากระบวนการไปแล้วนั้น มีคำถามที่น่าสนใจจากนักกฎหมายหลายสำนัก หากจะให้สง่างามกว่านี้ ทั้งคดีที่เรียกค่าเสียหายจากยิ่งลักษณ์ และ บุญทรง เตริยาภิรมย์ พร้อมพวก ลงนามโดยนายกรัฐมนตรีที่มีหัวโขนหัวหน้าคสช.ด้วยจะเป็นเรื่องที่ทำให้ดูมีน้ำหนักกว่านี้ เพราะการโยนภาระไปที่รัฐมนตรีว่าการหรือปลัดกระทรวงที่เกี่ยวข้อง มันเหมือนปัดสวะให้พ้นตัวกลัวความผิดที่จะถูกฟ้องกลับยังไงชอบกล

คงไม่ผิดที่ท่านจะอ้างเรื่องกระบวนการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหตุผลที่ว่าถ้าลงนามเองเกรงจะถูกครหาหรืออีกฝ่ายนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการต่อสู้คดี เพราะที่มาแห่งอำนาจเกิดจากการรัฐประหารและไปยึดมาจากอดีตนายกฯหญิง จริงอยู่ที่อาจดูว่าเป็นการกลั่นแกล้งหรือทำลายความน่าเชื่อถือของฝ่ายตรงข้าม แต่เมื่อยืนยันในความถูกต้องแล้วไม่มีความจำเป็นใดที่จะต้องบ่ายเบี่ยงหรือเลี่ยงบาลีที่จะเซ็นคำสั่งเรียกค่าเสียหายด้วยตัวเอง

ในฐานะหัวหน้าคสช.ไม่เห็นจะต้องกลัวอะไร เพราะในร่างรัฐธรรมนูญก็ระบุไว้ชัด บรรดาการกระทำใดๆ ที่คณะรัฐประหารได้ดำเนินการไป ไม่ถือว่าเป็นความผิด เท่ากับว่ามีผ้ายันต์กันเหนียวไว้เรียบร้อยแล้ว จะไปกลัวอะไร ผิดกับบรรดาข้าราชการหรือรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องไม่รู้ว่าในอนาคต หากผู้เสียหายชนะคดีขึ้นมาจะต้องเจอกับอะไรบ้าง

ตรงนี้ถือเป็นเรื่องที่น่าห่วง แต่เมื่อกล้าลงนามกันไปแล้วก็ต้องพร้อมที่จะยอมรับกับชะตากรรมที่จะเกิดขึ้น ส่วนยิ่งลักษณ์ก็น่าเห็นใจกับคำกล่าวที่ว่า ถูกกระทำและไม่ได้รับความเป็นธรรมมาตั้งแต่ต้น เห็นได้จากการเร่งรัดดำเนินคดีในชั้นของป.ป.ช. ใช้เวลา 21 วันดำเนินการชี้มูลความผิดและนำไปสู่การถอดถอนพร้อมทั้งฟ้องร้องเอาผิดเสร็จสรรพ

ผิดกับคดีประกันราคาข้าวในยุคของรัฐบาลเทพประทาน ที่พบว่ามีความเสียหายไม่น้อยและข้าวไม่มีอยู่จริง ปรากฏว่าเมื่ออ้างเอกสารหายในช่วงน้ำท่วมและไม่มีเหตุที่จะให้เอาผิดได้ ทุกอย่างก็มีอันจบไปมันสั้นๆ ง่ายๆ ได้อย่างนั้นเชียวหรือ แต่นั่นคงปล่อยให้เป็นเรื่องของเวรกรรม ใครทำอะไรย่อมได้อย่างนั้น แต่สำหรับคนที่ไม่ได้ไปถวายสัตย์ปฏิญาณตนก่อนเข้ารับหน้าที่ บางทีถามหาสำเหนียกหรือความเกรงกลัวต่อเรื่องนี้อาจไม่มี

ส่วนเรื่องการคิดค่าเสียหายมีหลายสูตรสุดแท้แต่ว่าใครจะเป็นผู้นำคำนวณ แม้จะมีเสียงท้วงติงมาจากฝ่ายเพื่อไทยในฐานะผู้คิดและดำเนินนโยบายก็ตาม ที่น่าสนใจมีสูตรคำนวณต้นทุนของเกษตรกรจาก มัจฉา พรอินทร์ นักศึกษาปริญญาโทสตรีศึกษา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นักรณรงค์หญิงรักหญิง ที่เคลื่อนไหวประเด็นสิทธิความหลากหลายทางเพศ ซึ่งพูดถึงจำนำข้าวในฐานะลูกชาวนา

ราคาที่ชาวนาไม่สามารถควบคุมเองได้และเป็นไปตามกลไกของตลาดที่มีการเมืองคอยแทรกแซงตลอดเวลา เป็นเหมือนผีที่คอยตามหลอกหลอนชาวนา เพราะราคาต้นทุนที่แท้จริงคือ ค่าความเชี่ยวชาญที่สั่งสมมาตลอดชีวิต ค่าแรงตลอดทั้งปี ที่ชาวนาต้องขลุกอยู่ที่นา ราคาเมล็ดพันธุ์ ค่าปุ๋ย และแม้บางรายไม่ได้ใช้ยาฆ่าแมลง แต่คนอื่นๆ ใช้ ก็ต้องนับค่ายาด้วย ค่าเกวียน ค่าแรงวัวควายที่ช่วยชาวนาทำนา

ต้นทุนเหล่านี้หายไปจากการคำนวณราคาข้าว กลไกตลาดที่ไม่เป็นธรรม และการบริหารงานของรัฐบาลที่ล้มเหลวในทุกยุคทุกสมัย เพราะไม่สามารถสร้างความเป็นธรรมให้กับอาชีพที่คนส่วนใหญ่ในประเทศนี้ทำ โดยนับจากภูมิภาคที่ยังทำนาอยู่คือ อีสาน เหนือ ตะวันตก กลางและใต้บางส่วน

ในมุมมองของชาวนาการคำนวณราคาข้าวที่แท้จริงต้องคำนวณจาก ราคาที่ดิน ค่าความชำนาญ  ค่าแรง ค่าเมล็ดพันธุ์ ค่าเทคโนโลยีการผลิต ซึ่งรวมทั้งเครื่องมือและค่าปุ๋ย ค่ายาฆ่าแมลง และที่ต้องมีคือ กำไร เพื่อเป็นทุนในการดำรงชีวิตของคนในอาชีพนี้ด้วย ในมุมของมัจฉา ราคาข้าวที่แท้จริงที่เราต้องซื้อจากชาวนาคือ กิโลกรัมไม่ต่ำกว่า 100 บาท เพราะนี่คือ ราคาที่เป็นธรรม ที่จะทำให้อาชีพนี้อยู่ได้และมีที่หยัดยืนในสังคม

นั่นสะท้อนข้อเท็จจริงว่าข้าวทุกเม็ดในแต่ละจานที่เรากินอยู่อย่างเอร็ดอร่อยในบ้านเมืองนี้คือ การเชือดเฉือนกินเลือดกินเนื้อของชาวนาด้วยความเลือดเย็น ข้าวเปลือกกิโลกรัมละ 5 บาท 16 บาท ห่างไกลเป็นสิบเท่าจากราคาต้นทุนการผลิต แปลว่า ชาวนา ทำนาติดลบ เพื่อให้คนในบ้านนี้เมืองนี้ กินข้าวถูก ราคาค่าแรงจะได้ไม่แพง กำไรที่เกิดจากการเอารัดเอาเปรียบแบบนี้ไปตกอยู่ในกระเป๋าของใคร

ถึงตอนนี้อย่าถามว่าทำไมชาวนาอยากได้นโยบายประกันราคาข้าว ทำไมชาวนาเป็นหนี้ ทำไมลูกชาวนาถึงไม่ทำนา ทำไมชาวนาถึงยอมขายนาที่เขารัก ทำไมแม่สอนว่าให้ไปเป็นเจ้าคนนายคน เพราะความเป็นธรรมต่อคนที่ทำอาชีพนี้ไม่เคยมีในประวัติศาสตร์ประเทศนี้ นี่คือเสียงสะท้อนของคนที่เป็นลูกชาวนา แน่นอนว่าการเสนอบทความในลักษณะเช่นนี้และดูที่มาของผู้เขียนบทความ คงหนีไม่พ้นจะถูกตั้งข้อกังขาจากบางพวกบางฝ่ายว่ารับงานใครมาหรือไม่

แต่หากไร้ซึ่งอคติและมองด้วยความเป็นธรรมแล้ว การตั้งค่าความเสียหายต่อโครงการรับจำนำข้าวนั้น ไม่มีหลักการใดทางบัญชีที่สามารถยืนยันว่าใช้สูตรใดมาคำนวณ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหตุผลที่ว่าไม่ผิดแต่ละเลยนั้น มันเป็นภาพสะท้อนอยู่ในตัวของมันเองแล้วว่าการกระทำต่อโครงการรับจำนำข้าวนั้นมันเป็นเรื่องของการปราบคอร์รัปชันที่ต้องกำจัดให้ได้หรือมีนัยอะไรซ่อนเร้นแอบแฝงหรือไม่

 

Back to top button